เมื่อวันที่ 23 พ.ย.ดร.เกศทิพย์ ศุภวานิช รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆนี้ตนได้นำทีมบุคลากรสวก. สทร. สทศ. และ ศนฐ. สพฐ. ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมโรงเรียนในโครงการจัดการศึกษาทางไกลแบบสื่อสารสองทาง สำหรับระดับมัธยมศึกษาตอนต้น ระยะที่ 2 ณ โรงเรียนพรหมานุสรณ์ จังหวัดเพชรบุรี สำหรับโครงการจัดการศึกษาทางไกลแบบสื่อสารสองทางนั้น เพื่อยกระดับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนโรงเรียนปลายทางในโครงการ พร้อมทั้งพัฒนาศักยภาพการจัดการเรียนการสอนของครูในโครงการ และพัฒนารูปแบบการจัดการศึกษาทางไกลแบบสื่อสารสองทางระดับมัธยมศึกษาตอนต้นให้มีประสิทธิผลดียิ่งขึ้น โดยจุดเด่นของโครงการ เป็นการดำเนินงานที่มุ่งลดความเหลื่อมล้ำ และเพิ่มโอกาสในการพัฒนาตนเองของผู้เรียน ด้วยความร่วมมือของครู ทั้งในโรงเรียนต้นทางและโรงเรียนปลายทาง ซึ่งโรงเรียนต้นทางที่ รองเลขาธิการ กพฐ. และคณะฯ เข้าตรวจเยี่ยมในครั้งนี้ คือ โรงเรียนพรหมานุสรณ์ สังกัด สพม.เพชรบุรี ซึ่งจัดการเรียนรู้แบบสื่อสารสองทางไปยังโรงเรียนปลายทาง 3 โรง ได้แก่ โรงเรียนอนุบาลวัดบางนางบุญ สพป.ปทุมธานี เขต 1 โรงเรียนบ้านหนองปืนแตก สพป.เพชรบุรี เขต 2 และโรงเรียนทีปังกรณ์วิทยาพัฒน์ (วัดสุนทรสถิตย์) ในพระบรมราชูปถัมภ์ สพป.สมุทรสาคร โดยรองเลขาธิการ กพฐ. นำบุคลากรจาก สพฐ. เข้าตรวจเยี่ยม ให้กำลังใจ และให้ข้อเสนอแนะในการพัฒนาคุณภาพการดำเนินงาน ร่วมกับมูลนิธิการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียมในพระบรมราชูปถัมภ์ ซึ่งทั้ง 4 โรงเรียนร่วมมือกันเป็นอย่างดี และแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในการพัฒนาการจัดการศึกษาแบบสื่อสารสองทาง มุ่งเน้นยกระดับคุณภาพต่อไป

รองเลขาธิการกพฐ.กล่าวต่อไปว่า ทั้งนี้สิ่งสำคัญในการขับเคลื่อนการจัดการศึกษา คือ การพัฒนาคุณภาพของผู้เรียน จากที่ได้มาเยี่ยมโรงเรียนพรหมานุสรณ์ ซึ่งเป็นโรงเรียนต้นทาง ได้เห็นความพร้อมในการถ่ายทอดพร้อมเป็นพี่ใหญ่ที่ดีที่ช่วยสนับสนุนโรงเรียนปลายทางในทุกเรื่อง นอกจากนี้ยังเป็นโรงเรียนมาตรฐานสากล ซึ่งสอน IS และระบบการคิด TOK และขับเคลื่อนทักษะการอ่านด้วยบันได 6 ขั้น อีกทั้งยังสนับสนุนนักเรียนในด้านภาษา การแข่งขันวิทยาศาสตร์ และการแข่งขันต่างๆ จนทำให้โรงเรียนได้รับรางวัล OBEC Award ซึ่งการสนับสนุนกิจกรรมให้นักเรียนมีเวทีในการดึงศักยภาพของตนเองได้รางวัลเชิงประจักษ์ สอดคล้องกับผลประเมินจากแบบวัดแววของ สวก. ที่ตรงกับความถนัดของนักเรียน ซึ่งแสดงถึงต้นแบบที่จัดการเรียนการสอนตรงตามความถนัดและสนใจของนักเรียนทำให้นักเรียนได้รางวัลอย่างหลากหลาย
.
อีกข้อที่น่าชื่นชม คือ ความร่วมมือกัน ช่วยเหลือกันของโรงเรียนต้นทาง โรงเรียนปลายทาง ดูได้จากแผนการดำเนินงานของโรงเรียนพรหมานุสรณ์ ได้มีการจัดประชุมทำแผนร่วมกันระหว่างโรงเรียนต้นทางและโรงเรียนปลายทาง โดยนำครูผู้สอนทั้ง 5 กลุ่มสาระการเรียนรู้มาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน พร้อมทั้งมีการสร้างสื่อการเรียนการสอนร่วมกัน มีการประชุมชี้แจงทำความเข้าใจเรื่องการวัดและประเมินผลให้กับครูทุกคนของทั้งโรงเรียนต้นทางและปลายทาง มีการจัดค่ายสัมพันธ์ครู-นักเรียนต้นทางและปลายทาง ร่วมกันทำกิจกรรมที่โรงเรียนต้นทาง พร้อมทั้งจัดการนิเทศไปเยี่ยมการเรียนการสอนที่โรงเรียนปลายทางทุกแห่ง และทดสอบระบบการถ่ายทอด สำรวจตรวจเช็กอุปกรณ์ เพื่อซ่อมแซมอุปกรณ์ที่ชำรุดให้ใช้ได้เป็นปกติ ให้สามารถถ่ายทอดได้อย่างราบรื่น จะเห็นได้ว่าเมื่อโรงเรียนต้นทางมีความใส่ใจ เอาใจใส่ช่วยเหลือโรงเรียนปลายทาง ก็จะทำให้ก้าวข้ามอุปสรรคและนำไปสู่การบรรลุเป้าหมายไปด้วยกันในที่สุด
.
นอกจากนี้ การสนับสนุนอย่างดีของทั้งส่วนกลาง สำนักที่เกี่ยวข้อง และเขตพื้นที่ ยังช่วยให้การพัฒนาการศึกษาเกิดขึ้นได้อย่างเป็นรูปธรรม รวมถึงได้รับความอนุเคราะห์จากมูลนิธิทางไกลผ่านดาวเทียมในพระบรมราชูปถัมภ์ได้ช่วยขับเคลื่อนให้เกิดคุณภาพทางการศึกษา ทั้งหมดนี้มาร่วมขับเคลื่อนให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน มาเติมเต็มการศึกษาให้เกิดประสิทธิภาพ ได้ติดตามมาวิเคราะห์สภาพปัญหาด้วยกัน ซึ่งวันนี้เราต้องอาศัยผู้อำนวยการเขตพื้นที่และศึกษานิเทศก์เป็นกลไกในการขับเคลื่อนตามบริบทของพื้นที่ โดยเฉพาะศึกษานิเทศก์ที่เห็นความสำเร็จทำให้เกิดแรงกระเพื่อมไปทั้งประเทศจากตัวอย่าง การจัดการเรียนการสอนแบบ Active Learning วันนี้ทุกฝ่ายจะต้องคุยกันเพื่อให้การพัฒนาเป็นไปในทิศทางเดียวกัน ซึ่งรูปแบบวิธีการอาจแตกต่างกันได้แต่มีเป้าหมายเดียวกันคือ คุณภาพของผู้เรียน
.
“ทั้งนี้ สิ่งที่จะดำเนินการต่อไป คือ ร่วมกันหาแนวทางในการวางระบบการถ่ายทอดส่งสัญญาณจากโรงเรียนต้นทาง และการรับสัญญาณของโรงเรียนปลายทาง โดยปรับเปลี่ยนรูปแบบให้เหมาะสม ทันสมัย และมีประสิทธิภาพสำหรับการเรียนการสอน ซึ่ง สทร. จะเป็นเจ้าภาพในการออกแบบโครงการกิจกรรมและจะประชุมขับเคลื่อนไปด้วยกัน โดยจะมีทั้งผู้บริหารโรงเรียน และมีทีม ICT ฝ่ายเทคนิค เข้าร่วมประชุมวางแผนการพัฒนาระบบเพื่อการเรียนการสอนที่มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นไป สุดท้ายนี้ ขอชื่นชมและขอบคุณมูลนิธิการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม ในพระบรมราชูปถัมภ์ ที่ทำให้เกิดโครงการดีๆ เช่นนี้ขึ้น รวมถึงทีมจาก สทร. สทศ. สวก. และ ศนฐ. สพฐ. และทีมเขตพื้นที่ ที่ได้ร่วมมือกันอย่างเต็มความสามารถ ด้วยจุดมุ่งหมายที่ไม่ว่านักเรียนจะอยู่ที่ใด เราจะพัฒนาผู้เรียนให้มีคุณภาพไปพร้อมๆ กัน ไม่ว่าจะอยู่ต้นทางหรือปลายทาง เราจะทำเป้าหมายเดียวกันให้สำเร็จ คือการทำให้ผลสัมฤทธิ์ของผู้เรียนสูงขึ้น และสูงกว่ามาตรฐานยิ่งๆ ขึ้นไป” รองเลขาธิการ กพฐ. กล่าว
.
ทางด้านนายเสริมฤทธิ์ หวายฤทธิ์ธนกุล ผอ.สทร. กล่าวว่า ได้มาชี้แจงแนวทางบริหารจัดการและการขับเคลื่อนการจัดการเรียนการสอนให้ทุกส่วนร่วมกันวางแผนและพร้อมขับเคลื่อน โดยจะเป็นส่วนกลางในการเขียนแผนโครงการให้มีความครอบคลุม รวมทั้งติดตามหาแนวทางประเด็นปัญหา และวิธีแก้ไขร่วมกัน เพื่อสนับสนุนในส่วนของอุปกรณ์ห้องเรียนสื่อสารสองทาง
.
นายชนาธิป ทุ้ยแป รักษาการ ผอ.สทศ. กล่าวว่า จากการสัมภาษณ์ครูที่โรงเรียน พบว่าครูมีความพร้อมในการประสานงาน ติดต่อสื่อสารกัน โรงเรียนต้นทางมีการออกแบบการสอนร่วมกันกับโรงเรียนปลายทาง มีใบงานเดียวกัน แบบฝึกหัด ข้อสอบเดียวกัน ขอชื่นชมนักเรียนว่ามีความกล้าคิด กล้าตอบ นักเรียนอาจมีความแตกต่างกันแต่ก็มีการพัฒนาตนเองอยู่ตลอด แต่ละโรงเรียนอาจมีข้อจำกัดแต่ก็พยายามขับเคลื่อนไปได้ และพร้อมจะอบรมครูในเรื่องการวัดและประเมินผลการเรียนรู้
.
นางรวิภัทร เหล่าคุ้ม รักษาการ หัวหน้าหน่วย ศนฐ. กล่าวว่า ศึกษานิเทศก์แต่ละเขตพื้นที่ มีการวางแผนการพัฒนางานในหลายด้าน และจะมีการวางแผนในการนิเทศติดตามอย่างต่อเนื่อง โดยจะให้โรงเรียนในกลุ่มภูมิภาค ในภาคกลางเป็นโรงเรียนต้นแบบ
.
นายเอกสิทธิ์ ปิยะแสงทอง ผอ.กลุ่มพัฒนาและส่งเสริมการวัดและประเมินผลการเรียนรู้ สวก. กล่าวว่า จากการตรวจเยี่ยมการจัดการเรียนการสอนของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1/4 ของโรงเรียนพรหมานุสรณ์ ทำให้นักเรียนได้เรียนรู้ร่วมกัน ต้องชื่นชมครูต้นทางที่สามารถจัดการสอนได้อย่างดีเยี่ยม ทำให้นักเรียนมีส่วนร่วมในการตอบคำถาม เสริมสร้างกระบวนการคิดของเด็กได้เป็นอย่างดี