โดยขุนพลที่ถูกเสริมเข้ามาใหม่ ประกอบด้วย นายธนกร วังบุญคงชนะ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี นายสุนทร ปานแสงทอง รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และ นายนริศ ขำนุรักษ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย  แม้ “นริศ” จะติดโควิดจนตกขบวนเข้าเฝ้าฯ ถวายสัตย์ ทำให้สตาร์ตนั่งเก้าอี้ มท.3 ช้ากว่าพวก ทั้งที่พร้อมกว่าเพื่อน แต่เจ้าตัวก็บอก ขอเวลาอีกไม่นาน จะโชว์ฟิตเกินร้อยลุยปั่นผลงาน ในช่วงโค้งสุดท้ายของรัฐบาล “ลุงตู่”

ทั้งนี้ หากมุ่งเป้าสู่วันยุบสภา ก็มีแนวโน้มว่า “รัฐบาลเรือเหล็ก” ภายใต้การนำของ “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม วางเกมลากยาวไปถึงเดือน มี.ค. 2566 โดยการยุบสภา มีความเป็นไปได้สูงที่จะเกิดขึ้นก่อนวันที่ 23 มี.ค. 2566 ซึ่งเป็นวันครบวาระของสภา ซึ่งอาจจะเกิดขึ้นได้ตั้งแต่ช่วงต้นเดือน มี.ค. เป็นต้นไป แต่ถึงแม้จะมีแนวโน้มลากยาว แต่ก็ยังมีจุดสุ่มเสียงให้ “รัฐบาลเรือเหล็ก” ไปไม่ถึงฝั่งฝันด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะภาวะสภาล่มซ้ำซาก ที่อาจจะเกิดถี่ขึ้นในช่วงหลังจากนี้ จนอาจจะกลายเป็นตัวบีบเร่งให้ยุบสภาเร็วขึ้น!

โดยช่วงเวลาที่เหลืออยู่นี้ อาจจะทำให้ “บิ๊กตู่” พอได้หายใจหายคอ และเพียงพอที่จะตัดสินใจสร้างความชัดเจนทางการเมือง ซึ่งอาจจะเป็นช่วงเวลาเดียวกันที่ใช้เตรียมการจัดทัพพรรครวมไทยสร้างชาติ ให้พร้อมเข้าสู่สนามเลือกตั้ง ก่อนรับช่วงต่อในหน้าที่ “นั่งร้านอำนาจแห่งใหม่” แทน พรรคพลังประชารัฐ เพื่อสานฝันดัน “บิ๊กตู่” สู่ดาวดวงใหม่ ส่วนจะสำเร็จตามที่วาดหวังไว้หรือไม่…ก็เป็นโจทย์ยาก!

เพราะยังมีความท้าทายอีกหลายด้านที่ “บิ๊กตู่” และพรรครวมไทยสร้างชาติ จะต้องฝ่าก่อนจะไปถึงเส้นชัย อย่างกรณีล่าสุด ที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยว่า ร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ฉบับที่ …) พ.ศ. … ไม่มีข้อความขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ และตราขึ้นโดยถูกต้องตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ ซึ่งก็เท่ากับว่า ส่งสัญญาณไฟเขียวให้กับสูตรคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อแบบหาร 100 ซึ่งเป็นสูตรที่หลายฝ่ายเห็นตรงกันว่า เป็นสูตรเอื้อพรรคใหญ่

จนงานนี้ นพ.ระวี มาศฉมาดล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังธรรมใหม่ ที่เป็นตัวตั้งตัวตี ยื่นตีความร่างกฎหมายดังกล่าว ออกมาฟันธงเลยว่า ด้วยสูตรหาร 100 ดังกล่าว จะทำให้พรรคใหญ่อย่างพรรคเพื่อไทย ทำแลนด์สไลด์ทั้งแผ่นดินแน่นอน ซึ่งอาจจะกวาด ส.ส. ไปได้มากถึง 200 ที่นั่ง และทิ้งห่างพรรคอันดับ 2 แบบไม่เห็นฝุ่น ซึ่งมีโอกาสที่จะได้เป็นรัฐบาลก็สูงกว่าพรรคอื่น ขณะที่บรรดาพรรคขนาดเล็กเอง ก็จะต้องหนีตายด้วยการควบรวมกันจ้าละหวั่น เพราะภายใต้กติกาใหม่ ไม่มีช่องว่างที่พรรคเล็กจะได้ ส.ส. ปัดเศษเหมือนการเลือกตั้งปี 2562

ส่วนฟากฝั่ง “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ และพรรคพลังประชารัฐ ที่กำลังเดินเกมภายใต้ยุทธศาสตร์แยกกันเดินกับ “บิ๊กตู่” ส่วนในท้ายที่สุด จะลงเอยด้วยการ “รวมกันตี” หรือจะ “ตีกันเอง” ก็ต้องอยู่ที่บริบทการก้าวเดินแต่ละย่างก้าว!

แม้ตอนนี้จะดูเหมือนว่า “พี่ป้อม-น้องตู่” จะออกอาการยิ้มแย้มแจ่มใส แต่จริงๆ แล้ว สถานการณ์ภายในใจของทั้ง 2 ฝ่ายกลับขุ่นมั่ว เพราะยังตกลงแบ่งเค้กผลประโยชน์กันไม่ลงตัว จนทำให้ความสัมพันธ์พี่น้องยังคงปริแตกและร้าวลึกเพิ่มมากขึ้นทุกขณะ ซึ่งท้ายที่สุดแล้ว เวลาจะช่วยรักษาแผลใจของ “พี่ป้อม-น้องตู่” ให้กลับมากลมเกลียวดังเดิม หรือยิ่งทอดเวลายิ่งถ่างรอยร้าว จนต้องแยกทางการจริงๆ ก็คงจะต้องรอดูกันต่อไป

โดยแรงเคลื่อนของพรรคพลังประชารัฐล่าสุด มีการชูยุทธศาสตร์ “รักตู่อยู่กับป้อม” เพื่อกระชับกำลังคนในพรรค ไม่ให้กระฉอกไปที่อื่น ขณะเดียวกันก็ลดโอกาสที่จะเกิดศึกภายในพรรคขึ้นอีกระลอก โดยมีเงื่อนไขสำคัญคือ จะไม่มี ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รวมอยู่ใน ส.ส.พรรคเศรษฐกิจไทย ที่กลับเข้ามาอยู่ในพรรค ซึ่งจากการปรับกระบวนทัพดังกล่าว ก็ส่งผลให้ ท่าทีของบรรดาแกนนำกลุ่มต่างๆ เลือกที่จะยังอยู่พรรคพลังประชารัฐ ทั้ง กลุ่มสามมิตร กลุ่มปากน้ำ กลุ่มโคราช กลุ่มมะขามหวาน กลุ่มกำแพงเพชร ส่วนกลุ่ม ส.ส. ที่กระฉอกตาม “บิ๊กตู่” ออกไปพรรครวมไทยสร้างชาติ ก็ยังเป็นจำนวนน้อย เมื่อเทียบกับกลุ่มที่ยังอยู่กับพรรค

โดยใน ส.ส. กลุ่มนี้ คนที่น่าจับตามองที่สุด หนีไม่พ้น “เสี่ยเฮ้ง” สุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน ที่ยื่นหนังสือลาออกจากกรรมการบริหารพรรคพลังประชารัฐ และออกตัวย้ายสำมะโนครัวตาม “บิ๊กตู่” ไปอยู่ฐานที่มั่นใหม่ ซึ่งดูจากสถานการณ์แล้ว น่าจะเล็ง “ชิ้นปลามัน” เก้าอี้เลขาธิการพรรครวมไทยสร้างชาติ เอาไว้แล้ว แต่งานนี้ก็คงจะต้องรอดูปฏิกิริยาจากกลุ่มอำนาจของพรรครวมไทยสร้างชาติ จะยอมเออ-ออ ไปด้วยหรือไม่ เพราะหากงานนี้เกลี่ยอำนาจกันไม่ลงตัว ก็คงกลายเป็นจุดเริ่มต้นความขัดแย้งในพรรครวมไทยสร้างชาติ อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

อย่างไรก็ตาม ดูแนวโน้มในเชิงยุทธศาสตร์ ร่อนตะแกรงดูแล้ว ก็จะเห็นว่าขุมกำลังส่วนใหญ่ของพรรคพลังประชารัฐเดิม ไม่ได้กระฉอกไปไหน แต่อยู่ในกลุ่มพรรคนั่งร้านอำนาจ “พี่ป้อม-น้องตู่” ดังเดิม

หากจะว่าไปแล้ว การแยกกันของ “พี่ป้อม-น้องตู่” นอกจากจะรักษาฐานเดิมไว้ได้แล้ว แต่ละฝ่ายยังมีโอกาสดึงแนวร่วมได้เพิ่มขึ้น โดยฝ่าย “บิ๊กป้อม” และพรรคพลังประชารัฐ จะมีความยืดหยุ่นเพิ่มขึ้น และมีสถานะเป็นพรรคการเมืองที่จะไปร่วมกับใครก็ได้ ไม่เว้นแม้กระทั่งพรรคเพื่อไทย โดยจะไม่ถูกมองว่าเป็นนั่งร้านอำนาจ “บิ๊กตู่” เหมือนที่ผ่านมา ขณะที่ฝ่าย “บิ๊กตู่” และ พรรครวมไทยสร้างชาติ ก็จะมีโอกาสดึงแนวร่วมเพิ่มจากกลุ่มคนที่ไม่พร้อมร่วมรัฐบาลกับพรรคเพื่อไทยและพรรคก้าวไกล ก็จะเลือกเข้ามาเป็นแนวร่วมในจุดนี้ ดังนั้นการแยกกันเดินในครั้งนี้ จึงเป็นการรักษาฐานเดิมเพิ่มขุมกำลังใหม่ ซึ่งก็ทำให้ภาพรวมขั้วอำนาจ “พี่น้อง 2 ป.” แข็งแกร่งยิ่งขึ้น

อย่างไรก็ตาม ตอนนี้มีสูตรจัดตั้งรัฐบาลของพรรคพลังประชารัฐ ที่ถูกพูดถึง 2 สูตรด้วยกัน โดยสูตรแรก หากพรรคเพื่อไทยแลนด์สไลด์อันดับหนึ่ง แต่รวมเสียงพรรคอื่นๆ ได้ไม่ถึง 375 เสียง ก็จะกลายเป็นการแพ้ทาง “พี่น้อง 2 ป.” ที่มี ส.ว. ตุนในมือ 250 เสียงอยู่แล้ว ซึ่งหากรวมเสียงพรรคพลังประชารัฐและพรรครวมไทยสร้างชาติและพรรคอื่นๆ ได้เกินกว่า 125 เสียง ก็จะกลายเป็นการดับฝันการจัดตั้งรัฐบาลของพรรคเพื่อไทยไปในที่สุด และจะเกิดปรากฏการณ์พลิกขั้วตั้งรัฐบาล ซ้ำรอยการเลือกตั้งปี 2562 อีกครั้งหนึ่ง โดยอาจจะมีชื่อ “พี่ป้อม-น้องตู่” เป็นแคนดิเดตนายกฯ

ส่วนสูตรที่สอง ที่ถูกพูดถึงไม่แพ้กันคือ “พี่น้อง 2 ป.” แตกกัน หรือรวมเสียงกันได้ไม่ถึง 125 เสียง หรือพรรครวมไทยสร้างชาติได้ ส.ส. ไม่ถึงเกณฑ์ 25 เสียง ที่จะมีสิทธิเสนอชื่อแคนดิเดตนายกฯ เข้าโหวตในสภา ก็จะเกิดการพลิกเกมอีกรูปแบบหนึ่ง โดยพรรคพลังประชารัฐ จะหันมาจับมือกับพรรคเพื่อไทยและพรรคอื่นๆ เพื่อจัดตั้งรัฐบาล โดยสวิงเข้ามาเป็นขั้วผสมระหว่าง พรรคเพื่อไทย-พรรคพลังประชารัฐ-พรรคภูมิใจไทย และจัดตั้งรัฐบาล โดยจะมี กลุ่ม ส.ว. ที่อยู่กับ “บิ๊กป้อม” 100-150 เสียง รอสนับสนุน

ขณะที่ “บิ๊กตู่” และพรรครวมไทยสร้างชาติ จะถูกเทไปเป็นฝ่ายค้าน ร่วมกับพรรคประชาธิปัตย์ และพรรคก้าวไกล แต่คงจะเป็นฝ่ายค้าน 2 ขั้ว เพราะพรรครวมไทยสร้างชาติและพรรคประชาธิปัตย์ คงจะต้องแยกกันเดินกับพรรคก้าวไกล เพราะอุดมการณ์ไปคนละทางกันตั้งแต่ต้น ท้ายที่สุดแล้ว แม้การเลือกตั้งใกล้เข้ามาทุกขณะ แต่สงครามยังไม่เริ่ม-สมรภูมิเลือกตั้งยังไม่มีผู้แพ้ชนะ ต้องรอดูกันในตอนสุดท้ายว่า คณิตศาสตร์การเมืองจะลงตัวกันอย่างไร เพราะการเมืองไทย…อะไรก็เกิดขึ้นได้.