เมื่อวันที่ 6 ธ.ค. พล.ต.ท.อำนวย นิ่มมะโน อดีตผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 1 ได้โพสต์ข้อความระบุว่า สละสิทธิการเป็นสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) เพราะเหตุใด?

ก่อนอื่นต้องขอขอบพระคุณบรรดาเพื่อนพ้องน้องพี่ ที่ได้แสดงความยินดีต่อการที่กระผมจะได้เข้ารับตำแหน่งสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) แทนตำแหน่งที่ว่าง ทันทีที่ได้รับหนังสือแจ้งจากเลขาธิการวุฒิสภา กำหนดให้ตอบรับตำแหน่งภายในวันที่ 6 ธันวาคม 2565 ทำให้กระผมต้องกลับมาคิดว่า ระหว่างการเป็นสมาชิกวุฒิสภาซึ่งถือเป็นตำแหน่งอันทรงเกียรติกับการที่จะเข้าไปเป็นคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) หรือคณะกรรมการอิสระคณะใดคณะหนึ่งตามพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติฉบับใหม่ เพื่อจะได้ช่วยผลักดันให้การปฏิรูปตำรวจเป็นไปตามเจตนารมณ์ของกฎหมายได้อย่างแท้จริง เพราะกระผมเป็นทั้งกรรมการยกร่างและเป็นกรรมาธิการวิสามัญของรัฐสภา

เรียกได้ว่าเกี่ยวข้องกับพระราชบัญญัติฉบับนี้มาตั้งแต่เริ่มยกร่างจนกระทั่งผ่านความเห็นชอบของรัฐสภา ซึ่งตามพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาตินอกจากจะมีคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) แล้ว ยังกำหนดให้มีคณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรมข้าราชการตำรวจ (ก.พ.ค.ตร.) และคณะกรรมการพิจารณาเรื่องร้องเรียนตำรวจ (ก.ร.ตร.) ซึ่งองค์กรหนึ่งจะมาทำหน้าที่บำบัดทุกข์ให้กับประชาชนในการที่จะพิจารณาเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับความเดือดร้อนหรือไม่ได้รับความเป็นธรรมของประชาชน จากการกระทำหรือไม่กระทำการของตำรวจอันมิชอบ หรือการประพฤติปฏิบัติไม่เหมาะสมและเสื่อมเสียแก่เกียรติศักดิ์ของตำรวจ กระทำผิดวินัยหรือละเมิดประมวลจริยธรรมและจรรยาบรรณของตำรวจ (ก.ร.ตร.) กับอีกองค์กรหนึ่งทำหน้าที่บำบัดทุกข์ให้กับข้าราชการตำรวจโดยเฉพาะความเป็นธรรมในการแต่งตั้งและโยกย้าย ให้เป็นไปตามระบบคุณธรรมอย่างแท้จริง (ก.พ.ค.ตร.) เรียกได้ว่ามาตรวจสอบ กำกับดูแล ก.ตร. อีกชั้นหนึ่ง  สำหรับองค์ประกอบของ ก.ตร.

แม้ว่าจะไม่สามารถสกัดกั้นอำนาจทางการเมืองได้อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด แต่ก็ได้พยายามสร้างองค์ประกอบให้มีการถ่วงดุลให้ได้มากที่สุด โดยกำหนดให้ที่มาของคณะกรรมการตำรวจผู้ทรงคุณวุฒิใน ก.ตร. ซึ่งมาจากการเลือกตั้งก็ได้มีการบัญญัติให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) มาจัดการเลือกตั้งแทนสำนักงานตำรวจแห่งชาติที่จะจัดกันเองเพื่อให้เกิดความบริสุทธิ์ยุติธรรม ผู้ที่ได้รับเลือกจะได้เป็นตัวแทนของข้าราชการตำรวจอย่างแท้จริง ไม่ใช่เป็นการสืบทอดอำนาจไม่ว่าจะภายในหรือภายนอกสำนักงานตำรวจแห่งชาติอย่างเช่นที่เคยเป็นมา

กระผมจึงตัดสินใจโดยไม่ลังเลใจแม้แต่น้อย ลงสมัครรับการเลือกตั้งเป็นคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) ผู้ทรงคุณวุฒิโดยทันที และได้มีหนังสือฉบับลงวันที่ 6 ธันวาคม 2565 ถึงเลขาธิการวุฒิสภา ขอสละสิทธิไม่ขอรับตำแหน่งสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) แทนตำแหน่งที่ว่าง  ด้วยเห็นว่าหากกระผมได้รับการเลือกตั้งเป็นคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) หรือคณะกรรมการอิสระคณะอื่นที่สร้างขึ้นใหม่ กระผมจะสามารถช่วยผลักดันให้พระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติฉบับนี้  เป็นไปในทิศทางที่ถูกต้องตามเจตนารมณ์เพื่อการปฏิรูปองค์กรตำรวจได้อย่างแท้จริง ตัวอย่างเช่น การปฏิรูปงานอำนวยความยุติธรรมในทางอาญา ให้มีความเป็นอิสระปราศจากการแทรกแซง โดยให้งานสืบสวนสอบสวนเป็นกลุ่มงานเดียวกันและเป็นตำแหน่งเลื่อนไหลจนถึง รองผู้บังคับการ ดังปรากฏรายละเอียดตามคำอภิปรายชี้แจงต่อสมาชิกรัฐสภาตามลิงก์ ต่อไปนี้ “https://www.facebook.com/100035392371733/videos/718083846128054/

 อันจะเป็นการทำให้กระผมได้มีโอกาสทำงานตอบแทนองค์กรตำรวจซึ่งเป็นองค์กรที่รักยิ่งของกระผมโดยตรง และผลจากการที่องค์กรตำรวจได้รับการปฏิรูป ไปในทิศทางที่ถูกต้องจะเกิดผลดีต่อประชาชน สังคม และประเทศชาติดังที่ได้ตั้งความหวังไว้กับการ “ปฏิรูปตำรวจ” จึงขอขอบคุณเพื่อนพ้องน้องพี่ที่แสดงความยินดีและขออภัยที่กระผมสละตำแหน่ง ส.ว. และใคร่ขอให้กลับมาให้กำลังใจกันใหม่ โดยช่วยสนับสนุนให้ได้รับเลือกตั้งเป็น ก.ตร. แทนนะครับผม

พล.ต.ท.อำนวย นิ่มมะโน

กรรมการปฏิรูปประเทศด้านกระบวนการยุติธรรม

6 ธันวาคม 2565