สำนักข่าวต่างประเทศรายงานจากกรุงมอสโก ประเทศรัสเซีย เมื่อวันที่ 14 ธ.ค. ว่า นายดมิทรี เปสคอฟ โฆษกทำเนียบเครมลิน กล่าวถึงการที่ประธานาธิบดีโวโลดิเมียร์ เซเลนสกี ผู้นำยูเครน ขอความสนับสนุนเพิ่มเติมจากที่ประชุมกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำ 7 แห่ง หรือ “จี 7” ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มความสนับสนุนทางทหาร ทางเศรษฐกิจและพลังงาน ตลอดจนแผนสันติภาพ ซึ่งต้องเริ่มจากการที่รัสเซียถอนทหารออกจากยูเครน นับตั้งแต่ช่วงคริสต์มาสนี้ ว่า รัฐบาลเคียฟ “ต้องยอมรับความเป็นจริงเรื่องอธิปไตย”


ขณะเดียวกัน โฆษกทำเนียบเครมลิน กล่าวว่า การที่ยูเครนยังคงเดินหน้าขอความสนับสนุนลักษณะนี้จากจี7 สะท้อนความต้องการให้สถานการณ์รุนแรงดำเนินต่อไป และย้ำว่า การลงประชามติที่เกิดขึ้นไม่นานนั้น เป็นการดำเนินการในดินแดน “ซึ่งอยู่ภายใต้อธิปไตยของรัฐบาลมอสโก” ส่วนการให้กองทัพรัสเซียถอนกำลังพลและเคลื่อนย้ายสรรพาวุธทั้งหมดออกไปนั้น “เป็นไปไม่ได้อย่างสิ้นเชิง”


ทั้งนี้ รัสเซียจัดการลงประชามติในพื้นที่พิพาท 4 แห่งของยูเครน เมื่อปลายเดือน ก.ย. ที่ผ่านมา ได้แก่ โดเนตสก์ ลูฮันสก์ เคียร์ซอน และซาโปริชเชีย โดยปรากฏว่า “คะแนนเสียงสนับสนุนเป็นไปอย่างท่วมท้น” โดยการลงประชามติดังกล่าว เป็นไปในรูปแบบเดียวกับการลงประชามติ ของประชาชนบนคาบสมุทรไครเมีย เมื่อปี 2557 ซึ่ง 97% ของผู้ออกมาใช้สิทธิสนับสนุนการผนวกรวมกับรัสเซีย


นอกจากนี้ การควบรวมพื้นที่ทั้ง 4 แห่งในทางทฤษฎี เท่ากับว่า ยูเครนสูญเสียอาณาเขตเพิ่มอีก 15% อย่างไรก็ตาม นายอันโตนิโอ กูเตร์เรส เลขาธิการสหประชาชาติ (ยูเอ็น) กล่าวว่า การดำเนินการดังกล่าวของรัฐบาลมอสโก “ไม่มีผลผูกพันทางกฎหมายระหว่างประเทศ”.

เครดิตภาพ : REUTERS