เมื่อวันที่ 22 ธ.ค. ที่โรงแรมไอบิส สไตล์ กรุงเทพฯ สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (สสส.) สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน (สนส.) มูลนิธิผสานวัฒนธรรม องค์กรเครือข่ายสิทธิมนุษยชนปาตานี (HAP) กลุ่มด้วยใจ มูลนิธิดิจิทัลเพื่อสันติภาพ มูลนิธิพัฒนาภาคเหนือ เครือข่ายผู้ได้รับผลกระทบจากกฎหมายพิเศษ (JASAD) และสมัชชาประชาสังคมเพื่อสันติภาพ (CAP) ได้ร่วมประชุมเชิงปฏิบัติการนักปกป้องสิทธิมนุษยชน พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 เข้าใจและใช้อย่างไรจึงได้ผล

ทั้งนี้ หลังจากที่รอคอยมากว่า 15 ปี พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 จะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 22 ก.พ. 2566 (120 วันหลังประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 25 ต.ค. 2565) พระราชบัญญัตินี้เป็นกฎหมายอนุวัติการที่จะทำให้ประเทศไทยสามารถปฏิบัติตามพันธกรณีตามอนุสัญญา CAT และอนุสัญญา CED โดยได้ผ่านความเห็นชอบของสภาผู้แทนราษฎรด้วยมติเอกฉันท์ไปเมื่อวันที่ 24 ส.ค. 2565

สำหรับพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานฯ มีบทบัญญัติสำคัญที่กำหนดให้การทรมาน การกระทำที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรมและย่ำยีศักดิ์ศรี และการกระทำหรือบังคับให้บุคคลสูญหายเป็นความผิดอาญา ซึ่งนอกจากจะมีผลในการป้องกันและปราบปรามการทรมาน การฆ่านอกกระบวนการยุติธรรม (extra-judicial killing) และบังคับสูญหายโดยเจ้าหน้าที่รัฐแล้ว ยังมีบทบัญญัติที่จะมีผลในการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมในชั้นพนักงานสอบสวนและพนักงานอัยการอย่างมาก เช่น กำหนดให้ในการจับกุมบุคคล ตำรวจหรือเจ้าหน้าที่จะต้องมีกล้องติดตามตัว หรือ Body Cam เพื่อป้องกันไม่ให้มีการทรมานหรือการใช้อำนาจหน้าที่โดยมิชอบ ทั้งเจ้าหน้าที่ที่จับกุมคุมขังบุคคลต้องแจ้งให้หน่วยงานอื่น เช่น ฝ่ายปกครองและอัยการทราบเกี่ยวกับการควบคุมตัวทันที พร้อมทำบันทึกรายละเอียดของการจับกุมและควบคุมตัว เพื่อให้ครอบครัวของผู้ถูกจับและทนายความตรวจสอบได้

ซึ่งจะไม่เพียงเป็นประโยชน์ในการคุ้มครองผู้ถูกจับกุมคุมขังเท่านั้น แต่ยังรวมถึงเจ้าหน้าที่รัฐที่สุจริต ในกรณีที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดด้วย กฎหมายยังให้ศาลคดีอาญาทุจริตและประพฤติมิชอบเป็นศาลที่มีอำนาจพิจารณาคดีความผิดตามพระราชบัญญัตินี้ รวมทั้งพิจารณาคดีที่เจ้าหน้าที่ที่อยู่ในอำนาจของศาลทหารตกเป็นจำเลยด้วย นอกจากนี้กฎหมายยังกำหนดให้รัฐมีมาตรการต่างๆ ในการช่วยเหลือ ฟื้นฟู เยียวยาผู้เสียหาย ทั้งในด้านชีวิตความเป็นอยู่ ร่างกาย และจิตใจด้วย

การที่รัฐสภาได้ตราพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 ได้รับความชื่นชมจากประชาชน องค์กรสิทธิมนุษยชนทั้งในประเทศและต่างประเทศและนานาประเทศอย่างยิ่ง ทั้งนี้ เมื่อเดือน พ.ย. 2565 นายกรัฐมนตรีได้แสดงความยินดีที่สำนักงานเพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (UNOHCHR) ชื่นชมประเทศไทยที่ได้ประกาศใช้พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานฯ นี้ เพื่อเตรียมความพร้อมในการใช้พระราชบัญญัติป้องกันและปราบรามการทรมานและการบังคับบุคคลให้สูญหาย พ.ศ. 2565

อย่างไรก็ตาม องค์กรภาคประชาสังคมได้แก่ สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (สสส.) สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน (สนส.) มูลนิธิผสานวัฒนธรรม องค์กรเครือข่ายสิทธิมนุษยชนปาตานี (HAP) กลุ่มด้วยใจ มูลนิธิดิจิทัลเพื่อสันติภาพ มูลนิธิพัฒนาภาคเหนือ เครือข่ายผู้ได้รับผลกระทบจากกฎหมายพิเศษ (JASAD) สมัชชาประชาสังคมเพื่อสันติภาพ (CAP) และเครือข่ายผู้เสียหายจากทรมานอุ้มฆ่าและอุ้มหาย จึงขอเรียกร้องต่อรัฐบาลเร่งรัดให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเตรียมความพร้อมในการบังคับใช้ให้กฎหมายดังกล่าวเป็นไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ สนับสนุนงบประมาณที่เพียงพอ รวมถึงฝึกอบรมกฎหมายแก่เจ้าหน้าที่และเผยแพร่ต่อประชาชน เพื่อการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน และเพื่อให้เกิดความมั่นใจต่อประชาชนและนานาชาติ ว่า พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 จะมีผลบังคับใช้อย่างมีประสิทธิภาพตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย ในวันที่ 22 ก.พ. 2566 อย่างแน่นอน.