เมื่อวันที่ 29 ธ.ค. นายโกศลวัฒน์ อินทุจันทร์ยง รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด และฐานะรองอธิบดีอัยการสำนักงานคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ประชาชน (สคช.) เปิดเผยว่า จากกรณีเมื่อวันที่ 23 ธ.ค. ที่ผ่านมา ตนได้พบข่าวทางสื่อออนไลน์ เผยแพร่ข่าวผู้ได้รับผลกระทบจากปัญหาหนี้นอกระบบ คิดสั้นทำร้ายตัวเองราย น.ส.เอมมิกา (สงวนนามสกุล) ซึ่งเหตุเกิดในพื้นที่อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี จึงได้โทรฯ ประสานการให้ความช่วยเหลือไปยัง นายเกรียงไกร อิสระสร้างสรรค์ อัยการจังหวัดคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมาย จังหวัดอุบลราชธานี เพื่อดำเนินการติดตามให้ความช่วยเหลือ

ซึ่งทางนายเกรียงไกร พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ นางสาวศิริภรณ์ ศรีพันธ์ นิติกรชำนาญการ สำนักงานอัยการคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมายจังหวัดอุบลราชธานี จึงได้เดินทางไปพบ น.ส.เอมมิกา ผู้ได้รับความเดือดร้อนที่ห้องเช่า เพื่อสอบถามข้อเท็จจริงทันที และเร่งให้ความช่วยเหลือโดยทันทีในวันเสาร์ที่ 24 ธ.ค. จากการรับฟังปัญหาพบว่า น.ส.เอมมิกา ประกอบอาชีพ ขายผลไม้รถเข็น มีรายได้วันละประมาณ 700-1,200 บาท ประสบปัญหาหนี้นอกระบบ เนื่องจากไปค้ำประกันหนี้นอกระบบให้กับเพื่อนจำนวน 3 คน แต่เพื่อนหนีการติดตามทวงถามของเจ้าหนี้ไป และทิ้งภาระหนี้ให้รับผิดชอบ น.ส.เอมมิกา จึงต้องรับภาระผ่อนส่งใช้หนี้ให้กับเจ้าหนี้จำนวนทั้งสิ้น 6 ราย เป็นเงินวันละ 2,000 บาท รวมภาระหนี้ทั้งสิ้นจำนวน 48,000 บาท น.ส.เอมมิกา พยายามผ่อนส่งหนี้รายวันนี้ทุกวัน โดยนำเงินเก็บและทรัพย์สินของตนที่มีไปจำนำเพื่อนำเงินมาใช้หนี้ บัตร ATM ก็ถูกยึดไป แต่ก็ยังไม่เพียงพอ ทำให้ขาดเงินทุนและรายได้ในที่สุด น.ส.เอมมิกา รับภาระและแรงกดดันจากการติดตามทวงถามหนี้ จากเจ้าหนี้ทั้ง 6 ราย ไม่ไหว ทั้งตนเองมีภาระต้องเลี้ยงดูบุตรสาวอายุ 10 ขวบ ด้วยอีกหนึ่งคน จึงเกิดความเครียดอย่างหนักจนคิดจะฆ่าตัวตายและลงมือจะทำร้ายตนเองถึงสองครั้ง แต่เจ้าหน้าที่ตำรวจสายตรวจแสนสุขและเจ้าหน้าที่ตำรวจสายตรวจชุดพายุ 1 ได้เข้าระงับเหตุไว้ได้ทัน

นายเกรียงไกร อัยการจังหวัดคุ้มครองสิทธิฯ และเจ้าหน้าที่จึงได้ดำเนินการเจรจาไกล่เกลี่ยประนอมหนี้กับฝ่ายเจ้าหนี้ทั้ง 6 ราย ให้แก่ น.ส.เอมมิกา ทันทีในวันดังกล่าว จนสามารถไกล่เกลี่ยประนอมหนี้ได้สำเร็จ จากยอดหนี้ 48,000 บาท ลดลงเหลือยอดหนี้ที่จะต้องชำระจำนวน 30,350 บาท

พร้อมกันนี้ ยังได้ประสานขอความช่วยเหลือไปยัง สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดอุบลราชธานี เพื่อเข้าร่วมการให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ร้อง โดยสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดอุบลราชธานี ได้มอบเงินช่วยเหลือฉุกเฉินให้แก่ผู้ร้องทันทีจำนวน 3,000 บาท เมื่อวันที่ 26 ธ.ค. ที่ผ่านมา และรับเรื่องเข้าสู่การพิจารณาให้ความช่วยเหลือแก่บุตรสาวของผู้ร้องในการสนับสนุนทุนเพื่อการศึกษาเล่าเรียนแก่บุตรสาวผู้ร้องจากเงินของกองทุนคุ้มครองเด็ก และได้ประสานความร่วมมือไปยังธนาคารออมสินและธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตรจังหวัดอุบลราชธานี ในฐานะคณะอนุกรรมการไกล่เกลี่ยประนอมหนี้นอกระบบประจำจังหวัดอุบลราชธานี และประสานความร่วมมือตามนโยบายของรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ เพื่อเข้าร่วมการพิจารณาแนวทางในการยื่นคำขอกู้เงินของผู้ร้อง

โดยมี น.ส.พิลาสลักษณ์ ทิพย์คงคา อัยการจังหวัดประจำสำนักงานอัยการสูงสุด เข้าร่วมรับฟังและร่วมหาแนวทางในการแก้ไขปัญหาของ น.ส.เอมมิกาด้วย ซึ่งธนาคารออมสินเสนอช่องทางการขอกู้เงินตามโครงการธนาคารประชาชนเพื่อแก้ไขหนี้นอกระบบ ซึ่งเป็นโครงการให้ความช่วยเหลือตามนโยบายรัฐบาลให้กู้ตามมูลหนี้นอกระบบจริงและตามความสามาถในการชำระหนี้ไม่เกินรายละ 50,000 บาท อัตราดอกเบี้ยคงที่ร้อยละ 1 ต่อเดือน ระยะเวลาสูงสุดในการชำระหนี้คืนไม่เกิน 5 ปี โดยธนาคารออมสินให้ความช่วยเหลือผ่อนคลายหลักเกณฑ์การขอกู้ยินยอมให้ใช้บุคคลค้ำประกันหนี้รายนี้ได้ และเร่งรัดที่จะอนุมัติเงินกู้ให้ทันภายใน 3 สัปดาห์ ซึ่งช่วยผ่อนคลายความเดือดร้อนจากปัญหาหนี้นอกระบบของประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนในครั้งนี้ไปได้เป็นอย่างมาก

นายโกศลวัฒน์ กล่าวเพิ่มเติมว่า หนี้นอกระบบไม่ใช่ทางตันของชีวิต ใครมีปัญหาขอให้ไปปรึกษาอัยการ มีทางออกหาทางสว่างให้ได้ หรือ โทรฯ สายด่วน 1157 จันทร์ถึงเสาร์

“นับว่าน่าตกใจหนี้นอกระบบ 48,000 บาท คิดสั้นทำร้ายตัวเองถึงสองครั้ง แต่เงินดังกล่าวบางคนก็กล่าวว่า แค่นี้ บางคนก็กล่าวว่า ตั้งเท่านี้ แปลว่า ความรู้สึกถึงจำนวนเงินแต่ละคนไม่เท่ากัน ที่อัยการลงพื้นที่ช่วยเหลือคนจนที่เป็นหนี้นอกระบบแล้วพบว่า ยอดหนี้ไม่ได้ทำให้คิดสั้นแต่เพียงอย่างเดียว แต่มีเจ้าหนี้ 6 ราย รุมทวงวันละหลายครั้ง บีบคั้นหัวใจจนหมดกำลังใจที่จะมีชีวิตต่อไป เป็นเหตุให้ทำร้ายตัวเอง”