สำนักข่าวต่างประเทศรายงานจากกรุงนิวเดลี ประเทศอินเดีย เมื่อวันที่ 23 ส.ค.ว่าสืบเนื่องจากการที่กระทรวงสาธารณสุขของอินเดียประกาศเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา ขึ้นทะเบียนเป็นฉุกเฉิน ให้กับวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ชื่อ "ไซคอฟ-ดี" ( ZyCoV-D ) ถือเป็นวัคซีนต้านเชื้อไวรัสโคโรนาที่พัฒนาโดยใช้พลาสมิด ดีเอ็นเอ ( Plasmid DNA ) ตัวแรกของโลก 
นายมันสุข มัณฑวิยา รมว.สาธารณสุขของอินเดีย กล่าวเมื่อวันอาทิตย์ ว่าบุคคลที่มีอายุตั้งแต่ 12 ปี สามารถเข้ารับการฉีดวัคซีนไซคอฟ-ดี ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเริ่มการผลิตอย่างเป็นทางการแล้ว เบื้องต้นผู้ผลิตคาดว่า น่าจะออกสู่ตลาดได้ ภายในเดือน ก.ย.นี้  

ขณะเดียวกัน กระทรวงสาธารณสุขกำลังร่วมมือกับกระทรวงศึกษาธิการ ในการจัดทำแนวทางปฏิบัติสำหรับการฉีดวัคซีนในเด็ก และการกลับมาจัดการเรียนการสอนแบบปกติในโรงเรียน ท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19
ทั้งนี้ วัคซีนไซคอฟ-ดี เป็นแบบฉีด 3 เข็ม ห่างกันประมาณ 28 วัน มีหลักการทำงานคือ เป็นการใช้สารพันธุกรรมอย่างจำเพาะเจาะจงจากเชื้อไวรัสโคโรนา ไปกระตุ้นให้ดีเอ็นเอ หรืออาร์เอ็นเอในร่างกายมนุษย์สังเคราะห์รหัสคำสั่ง ให้ร่างกายผลิตโปรตีนส่วนที่เป็นปุ่มหนามของเชื้อไวรัส และโปรตีนส่วนนี้จะเป็นตัวกระตุ้นภูมิคุ้มกันให้ร่างกายรู้จักเชื้อโรค และสร้างภูมิคุ้มกันใหักับตัวเองจากโรคโควิด-19
นอกจากเป็นวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 จากพลาสมิด ดีเอ็นเอ ตัวแรกของโลกแล้ว วัคซีนไซคอฟ-ดี ยังเป็นวัคซีน "ไร้เข็ม" ตัวแรกของโลก โดยเข้าสู่ร่างกายผ่านเครื่องมือเฉพาะ เพื่อส่งวัคซีนให้ซึมเข้าทางผิวหนังด้วยความเร็วสูง ซึ่งจะช่วยลดความวิตกกังวลให้กับผู้ที่มีความกลัวต่อเข็มฉีดยาได้ และเป็นวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ที่อินเดียพัฒนาเองเป็นรายการที่สอง ซึ่งผ่านการยอมรับจากรัฐบาลนิวเดลี ต่อจากวัคซีน "โควาซิน" ( Covaxin ) ซึ่งเป็นวัคซีนเชื้อตาย ผลิตโดยบริษัทภารัต ไบโอเทค
ขณะที่บริษัทไซดัส คาดิลลา ซึ่งเป็นผู้พัฒนาวัคซีนไซคอฟ-ดี ยื่นเรื่องขอรับการพิจารณาจากรัฐบาลอินเดีย เมื่อวันที่ 1 ก.ค.ที่ผ่านมา พร้อมข้อมูลสำคัญคือ ประสิทธิผลในการป้องกันการติดเชื้อ อยู่ที่ 66.6% จากการทดสอบทางคลินิกระยะที่สาม กับกลุ่มตัวอย่างมากกว่า 28,000 คนทั่วประเทศ ในจำนวนดังกล่าวประมาณ 1,000 คน มีอายุ 12-18 ปี ส่วนการเก็บรักษาให้อยู่ในอุณหภูมิ 2-8 องศาเซลเซียส.

เครดิตภาพ : GETTY IMAGES