เมื่อเวลา 13.30 น. วันที่ 17 ม.ค. ที่กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บช.สอท.) นายเอกภพ เหลืองประเสริฐ ผู้ก่อตั้งเพจสายไหมต้องรอด พาผู้เสียหาย กว่า 10 คน ที่ถูกมิจฉาชีพแฮกบัญชีธนาคารในโทรศัพท์มือถือ แล้วโอนเงินออกไป มาร้องขอความช่วยเหลือ ให้ช่วยดำเนินการติดตามมิจฉาชีพที่ก่อเหตุ

นายเอกภพ กล่าวว่า กลุ่มผู้เสียหายที่มาร้องเรียนกับทางเพจสายไหมมีมากกว่า 100 คน ที่ถูกแฮกบัญชีธนาคารในโทรศัพท์มือถือ เบื้องต้นทุกคน ยืนยันว่า ไม่มีการโหลดแอพพลิเคชั่นอะไรแปลกๆ มา หรือเข้าไปกดลิงก์แปลกปลอมที่ส่งเข้ามา และยืนยันว่าหลายคนไม่มีการเปลี่ยนสายชาร์จ หรือ ไปใช้ไวไฟที่อื่นที่อาจจะเป็นช่องโหว่ของมิจฉาชีพ รวมถึงยี่ห้อของโทรศัพท์มือถือหรือระบบปฏิบัติการของมือถือ อย่างไรก็ตาม ฝากไปยังธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ กระทรวงการคลัง และธนาคารเจ้าของบัญชี ควรจะออกมารับผิดชอบ หรือเยียวยาผู้เสียหาย และเร่งหาทางแก้ไขเบื้องต้น เพื่อป้องกันความเสียหายที่เกิดขึ้น เพราะประชาชนหลายคนกังวล

น.ส.ณภัทรศนัส รังสิมาหริวงศ์ อายุ 37 ปี ผู้เสียหาย เปิดเผยว่า อยู่ดีๆ ก็มีข้อความจากแอพพลิเคชั่นขายของออนไลน์ยี่ห้อหนึ่ง ส่งข้อความ SMS มาหาตนเอง ซึ่งตนเข้าใจว่าเป็นไลน์ทางการของแอพพลิเคชั่นขายของออนไลน์ดังกล่าว ส่งมาบอกให้ตนเองกดลิงก์เข้าไปเพื่อรับโค้ดส่วนลด ตนเองจึงกดลิงก์เข้าไป ยอมรับว่าประมาทกดลิงก์ไป แต่ที่ตั้งข้อสังเกตคือ การโอนเงินออกจากธนาคารที่ผิดปกติวิสัย ปกติจะโอนในหลักหมื่น แต่ครั้งนี้มีการโอนในหลักแสน ทำไมธนาคารถึงไม่ตั้งข้อสังเกตและสอบถามมายังเจ้าของบัญชี ซึ่งเงินที่ถูกโอนไปเป็นเงินเก็บของลูก เพื่อเป็นทุนการศึกษา หลังจากที่ตนเองกดลิงก์ไปแล้ว ก็กดไม่ได้ ตนจึงตอบกลับไปว่าไม่ได้ จึงทำให้มีเจ้าหน้าที่โทรฯ เข้ามา ตนเองจึงคุย จากนั้นเจ้าหน้าที่ก็ให้ตนเองถือสายรอ 19 นาที จากนั้นก็วางไป และก็พบว่าเงินในบัญชี กว่า 4 แสนกว่านั้น หายไปหมดแล้ว

ด้านผู้เสียหายรายหนึ่ง เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 4 ม.ค. ที่ผ่านมา มีข้อความมือถือส่งเข้ามาขณะที่ตนเองอยู่บ้าน เป็นรหัส OTP ซึ่งตอนนั้นตนเองไม่ได้เข้าไปกดลิงก์ จากนั้นตนเองก็มารู้ตัวว่าเงินหายไป วันที่ 9 มกราคม ก็พบว่าเงินในบัญชีธนาคารหายไป จึงไปตรวจสอบรายละเอียดก็พบว่า มีการโอนเงินออกจากบัญชีตนเองไป หลังจากที่มีการส่งข้อความ OTP มาเพียง 5 นาที ซึ่งตนเองโดนโอนเงินออกไป จำนวน 2 บัญชี มูลค่ากว่า 2 แสนบาท ซึ่งตนเองยืนยันว่า ไม่เคยไปกดลิงก์อะไรเลย และเคยมี callcenter โทรฯ มาแต่ก็กดทิ้งไป ไม่ได้รับสาย แต่ที่ผิดสังเกตคือ ก่อนหน้านั้นมือถือตนเองมีอาการค้างๆ ดูผิดปกติ แต่ก็ไม่ได้เอะใจอะไร

พล.ต.ต.กานตพงศ์ ชัยรุ่งเรือง ผู้บังคับการตรวจสอบและวิเคราะห์อาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ผบก.ตอท.) กล่าวว่า จากนี้จะนำข้อมูลของผู้เสียไปตรวจสอบ และจะทำการสอบปากคำผู้เสียหายทั้งหมด เพื่อตรวจสอบพฤติการณ์ของมิจฉาชีพว่า มีรูปแบบใดบ้าง เพราะกรณีในลักษณะแบบนี้ ไม่เคยเจอมาก่อน ส่วนสาเหตุหรือพฤติการณ์ของมิจฉาชีพตอนนี้ ยังไม่สามารถบอกได้ ต้องไปตรวจสอบอย่างละเอียด ยืนยันจะสามารถหาต้นตอของขบวนการดังกล่าวให้ได้ ส่วนที่ว่าจะเป็นการเข้ารหัสจากการเล่นโซเชียลมีเดียหรือไม่นั้น ยังไม่สามารถบอกได้ และได้ฝากเตือนประชาชนให้แบ่งเงิน ในส่วนเงินเก็บก็ไม่ควรจะผูกกับแอพบัญชีธนาคาร.