เมื่อวันที่ 18 ม.ค. ที่ศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก ศาลนัดฟังคำสั่งในคดี ขอส่งผู้ร้ายข้ามเเดนหมายเลขดำที่ ผด 9/2565 ที่พนักงานอัยการยื่นคำร้องขอส่งผู้ร้ายข้ามแดน นายเตียว ฮุยฮวด หรือ โทนี่ เตียว เจ้าของอาณาจักร เอ็มบีไอ กรุ๊ป ซึ่งมีบริษัทในเครือประกอบธุรกิจโรงแรม สถานบันเทิง สวนสนุก ตลาด ก่อสร้าง อสังหาริมทรัพย์ และเฟอร์นิเจอร์ โดยเป็นเจ้าของธุรกิจเอ็นเตอร์เทนเมนต์ มูลค่ามากกว่า 10,000 ล้านบาท

คำร้องระบุสรุปว่า เมื่อวันที่ 16 ก.ย.65 รัฐบาลจีน โดยสถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทยได้มีคำร้องขอให้รัฐบาลไทยส่งตัว นายเตียว ฮุย ฮวด บุคคลสัญชาติมาเลเซีย เป็นผู้ร้ายข้ามแดนไปดำเนินคดีที่สาธารณรัฐประชาชนจีน ในความผิดฐานจัดตั้งองค์กรที่ชักจูงและประกอบการขายตรง โดยแอบอ้างเป็นธุรกิจการให้บริการ โดยให้ผู้เข้าร่วม ชำระเงินค่าบริการหรือซื้อสินค้าเพื่อเข้าเป็นสมาชิก ให้มีการจัดลำดับชั้น ที่มีลักษณะแชร์ลูกโซ่เพื่อขยายฐานผู้เข้าร่วมมากขึ้น เพื่อนำมาคิดคำนวณเป็นค่าตอบแทนมีพฤติกรรมชักชวน ข่มขู่ให้ผู้อื่นมาเข้าร่วม หลอกเอาทรัพย์สิน โดยส่งผลกระทบเศรษฐกิจและสังคม ตามประมวลกฎหมายอาญาสาธารณรัฐประชาชน จีน มาตรา 224 วรรคหนึ่ง มีอัตราโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี และโทษปรับ และหากเป็นกรณีที่มีพฤติการณ์ร้ายแรงมีอัตราโทษจำคุก 5 ปีขึ้นไป และโทษปรับ

จากการสืบสวนสอบสวนของทางการจีนได้ความว่า เมื่อประมาณปี 2552 จำเลยกับพวกอีกหลายคนได้ร่วมกันก่อตั้งบริหารกลุ่มบริษัทบริหารสินทรัพย์ระหว่างประเทศ หรือบริษัท MBI ซึ่งเป็นบริษัทจด ทะเบียนในสหพันธรัฐมาเลเซีย โดยมีจำเลยดำรงตำแหน่งประธานบริษัท จากนั้นได้ก่อตั้งแพลตฟอร์ม ทางการเงินที่เรียกชื่อย่อว่า “MFC” และ “MIT” ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มที่ทำหน้าที่ขยายธุรกิจเครือข่าย ผ่าน แอพพลิเคชั่นในโทรศัพท์มือถือ มีการจัดงานสัมมนาชักชวนให้บุคคลเข้ามาร่วมลงทุน โดยผู้ที่เข้าร่วมลงทุน จะต้องชำระเงินเป็นค่าสมาชิก ซึ่งจำเลยกับพวกดังกล่าวได้ร่วมกันหลอกลวงว่าการลงทุนมีกำไรผลตอบแทนสูง ไม่มีขาดทุนเพื่อจูงใจให้บุคคลเข้าร่วมลงทุน ทำให้ยิ่งสมารถขยายธุรกิจระดับล่างหรือดาวน์ไลน์มากจะยิ่ง ทำกำไรได้มาก และชักชวนให้นักลงทุนชักชวนบุคคลอื่นมาสมัครสมาชิกโดยจะต้องจ่ายค่าสมาชิกและลงทุน ซื้อสกุลเงินดิจิทัลโดยผู้ชักชวนจะได้รับคะแนนเงินรางวัลค่าแนะนำและสิทธิมากมายเป็นการตอบแทน และ หลอกลวงอีกว่าบริษัท MBI ได้ร่วมลงทุนเป็นเงินจำนวน 1.5 พันล้านหยวน ในโครงการด้านการท่องเที่ยว กับรัฐบาลกุ้ยโจวในปี 2559 แต่บริษัท MBI ของจำเลยไม่ได้ร่วมลงทุนด้านการท่องเที่ยวกับรัฐบาลกุ้ยโจวแต่อย่างใด เงินรายได้ของบริษัท MBI จึงมาจากการหลอกลวงให้สมาชิกรายใหม่ร่วมลงทุนในลักษะองค์กร รูปทรงพีระมิดหรือแชร์ลูกโซ่ โดยไม่มีการนำเงินไปลงทุนเพื่อสร้างผลตอบแทนจริง พฤติการณ์ของจำเลยกับ พวกดังกล่าวที่ได้ร่วมกันหลอกลวงได้เงินมาอย่างมิชอบด้วยกฎหมาย เหตุเกิดเมื่อระหว่างปี 52-63 ที่สาธารณรัฐประชาชนจีน และสหพันธรัฐมาเลเซีย เกี่ยวพันกัน กระทรวงการต่างประเทศในฐานะฝ่ายบริหารซึ่งมีอำนาจตามกฎหมายได้

พิจารณาแล้วเห็นว่า คำร้องขอของทางการจีนให้ส่งนายเตียว ฮุย ฮวด จำเลย บุคคลสัญชาติมาเลเซียเป็นผู้ร้ายข้ามแดนกลับไปดำเนินคดีที่สาธารณรัฐประชาชนจีนเป็นไปตามสนธิสัญญา ระหว่างราชอาณาจักรไทยกับสาธารณรัฐประชาชนจีนว่าด้วยการส่งผู้ร้ายข้ามแดน ความผิดตามคำร้องขอดังกล่าว กฎหมายไทยและสาธารณรัฐประชาชนจีนถือเป็นความผิดอาญามีโทษจำคุกตั้งแต่ 1 ปีขึ้นไป และ คดียังไม่ขาดอายุความ ทั้งมิใช่เป็นความผิดที่มีลักษณะทางการเมืองหรือเป็นความผิดทางทหาร และมีการ ออกหมายจับบุคคลดังกล่าวไว้แล้วในประเทศผู้ร้องขอ โดยความผิดที่ร้องขอให้ส่งผู้ร้ายข้ามแดนเป็น ความผิดตามกฎหมายไทยเทียบได้กับความผิดฐานกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน ฉ้อโกงประชาชน และชักชวนบุคคลเข้าร่วมเครือข่ายในการประกอบธุรกิจขายตรง หรือในการประกอบธุรกิจตลาดแบบตรง โดยตกลงว่าจะให้ผลประโยชน์ตอบแทนจากการหาผู้เข้าร่วมเครือข่ายดังกล่าว ตามพระราชกำหนดการกู้ยืม เงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ. 2527 มาตรา 4, 5 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 343 พ.ร.บ.ขายตรงและการตลาดแบบตรง พ.ศ. 2555 มาตรา 19 ซึ่งมีโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีขึ้นไป และผู้ถูกร้องขอยังไม่เคยได้รับการพิจารณาหรือพิพากษาลงโทษหรือปล่อยตัวสำหรับข้อหาดังกล่าวใน ราชอาณาจักรไทยหรือสาธารณรัฐประชาชนจีนมาก่อน ทั้งทางการสาธารณรัฐประชาชนจีนยืนยันว่าคดียัง ไม่ขาดอายุความ โดยผู้ร้องขอขอให้ศาลอาญาออกหมายจับผู้ถูกร้องขอแล้ว ต่อมาวันที่ 22 ส.ค.55 ตำรวจจับผู้ถูกร้องขอได้ ขอให้มีคำสั่งขังผู้ถูกร้องขอไว้เพื่อส่งข้ามแดนไปยังสาธารณรัฐ ประชาชนจีน ตามพระราชบัญญัติส่งผู้ร้ายข้ามแดน

ผู้ถูกร้องขอยื่นคำคัดค้านว่า ผู้ถูกร้องขอ ถูกกลั่นแกล้งโดยพรรคการเมืองพรรคหนึ่งในประเทศไทยร่วมมือกับนักการเมืองในจีนบางส่วน ทั้งที่ทราบดีว่าผู้ถูกร้องขอไม่ได้ กระทำความผิดตามคำร้องขอให้ส่งผู้ร้ายข้ามแดนของจีน และเหตุในคดีนี้เกิดเมื่อวันที่ 31 มี.ค.55 จนถึงวันฟ้องเป็นเวลาเกิน 10 ปีแล้วไม่ว่าจะเป็นกฎหมายของประเทศใดคดีที่โจทก์ กล่าวอ้างขาดอายุความแล้ว ขอให้ยกฟ้อง

พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังยุติได้ว่า สาธารณรัฐประชาชนจีนมีสนธิสัญญาส่ง ผู้ร้ายข้ามแดนกับราชอาณาจักรไทย มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 7 มี.ค.52 รัฐบาลจีนโดยสถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทยมีคำร้องขอให้รัฐบาลไทยส่งตัวนายเตียว ฮุย ฮวด ไปดำเนินคดีในจีน ในความผิดฐานจัดตั้งองค์กรที่ชักจูงและประกอบการขายตรง โดยแอบอ้างเป็นธุรกิจการให้บริการ โดยให้ผู้เข้าร่วมชำระเงินค่าบริการหรือซื้อสินค้าเพื่อเข้าเป็นสมาชิก ให้มีการจัดลำดับชั้น ที่มีลักษณะแชร์ลูกโซ่เพื่อขยายฐานผู้เข้าร่วมมากขึ้น เพื่อนำมาคิดคำนวณเป็นค่าตอบแทน มีพฤติกรรมชักชวน ข่มขู่ให้ผู้อื่นมาเข้าร่วม หลอกเอาทรัพย์สิน โดยส่งผลกระทบเศรษฐกิจและสังคมฯ

ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยประการแรกมีว่าคดีของผู้ถูกร้องขอ ขาดอายุความแล้วหรือไม่ ผู้ร้องขอมี น.ส.สะลินน์ พุทธพิทักษ์ เจ้าหน้าที่กรมสนธิสัญญาและกฎหมาย กระทรวงการต่างประเทศ เป็นพยานเบิกความว่า ตามคำร้องขอส่งผู้ร้ายข้ามแดนสาธารณรัฐประชาชนจีนยืนยันว่าผู้ถูกร้องขอได้กระทำการมิชอบด้วย กฎหมายตั้งแต่ปี 55-63 ซึ่งสำนักงานตำรวจความมั่นคงสาธารณะแห่งนครฉงชิ่ง เขตอวี่เป่ย ได้ยื่นคำร้องเพื่อสอบสวนผู้ถูกร้องขอแล้ว ตั้งแต่วันที่ 9 พ.ย.63 การกระทำความผิดของผู้ถูกร้อง ขอจึงไม่จํากัดเวลาในการดำเนินคดี ตามมาตรา 88 แห่งประมวลกฎหมายอาญาของสาธารณรัฐประชาชนจีน

โดยผู้ถูกร้องขอ นำสืบเพียงว่าหลังจากเดือน มี.ค.55 ผู้ถูกร้องขอไม่ได้เดินทางเข้าไปในสาธารณรัฐประชาชนจีนอีก แต่ผู้ถูกร้องขอ นำสืบว่าบริษัทของผู้ถูกร้องขอดำเนินธุรกิจที่สหพันธรัฐมาเลเซีย โดยมีการออนไลน์ผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ตไปยังสาธารณรัฐประชาชนจีนผ่านแพลตฟอร์ม MFC เห็นว่า การดำเนินธุรกิจของผู้ถูกร้องขอเป็นแบบออนไลน์ผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ตผู้ถูกร้องขอเป็นผู้บริหาร องค์กรจึงไม่จำเป็นต้องเดินทางไปสาธารณรัฐประชาชนจีนเพื่อดำเนินธุรกิจของตนด้วยตนเอง ข้ออ้างของผู้ถูกร้องขอไม่ทำให้ข้อเท็จจริงที่ผู้ร้องขอนำสืบเปลี่ยนแปลงไป ข้อเท็จจริงพอรับฟังได้ว่าผู้ถูกร้องขอกระทำผิดตั้งแต่ปี 55-63 เมื่อทางการจีนยืนยันว่ามีการสอบสวนผู้ถูกร้องขอตั้งแต่วันที่ 9 พ.ย.63 และคดียังไม่ขาดอายุความตามกฎหมายอาญาของจีน และความผิดของผู้ถูกร้องขอเทียบได้กับความผิดความผิดฐานกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน ฉ้อโกง ประชาชน และชักชวนบุคคลเข้าร่วมเครือข่ายในการประกอบธุรกิจขายตรง หรือในการประกอบธุรกิจตลาด แบบตรง โดยตกลงว่าจะให้ผลประโยชน์ตอบแทนจากการหาผู้เข้าร่วมเครือข่ายดังกล่าวฯ ซึ่งมีโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีขึ้นไป และมิใช่ความผิดที่มีลักษณะทางการเมืองหรือเป็นความผิดทางทหาร และผู้ถูกร้องขอไม่เคย ได้รับการพิจารณาหรือพิพากษาลงโทษหรือปล่อยตัวสําหรับการกระทำดังกล่าวจากศาลไทยหรือศาลของ สาธารณรัฐประชาชนจีนมาก่อนและผู้ร้องขอยื่นฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่19 ต.ค.65 ยังไม่เกิน 10ปี นับ แต่วันที่ผู้ถูกร้องขอกระทำความผิด จึงยังไม่ขาดอายุความ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 55

ปัญหาว่าพยานหลักฐานในคดีมีเหตุให้ศาลมีคำสั่งขังผู้ถูกร้องขอไว้เพื่อส่งข้ามแดนต่อไป หรือไม่ น.ส.สะลินน์ เบิกความว่า กระทรวงการต่างประเทศตรวจสอบคำร้องขอส่งผู้ร้ายข้ามแดนที่ได้รับ จากสถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทย แล้วพบว่า เอกสารถูกต้องครบถ้วนตามสนธิสัญญาและกฎหมายภายในประเทศ ทั้งมีการประทับตรารับรองจากผู้มี อำนาจแล้วทำให้สามารถเชื่อได้ว่าข้อความที่ระบุในคำร้องขอส่งผู้ร้ายข้ามแดนเป็นความจริง ทั้งนี้ เมื่อ พิจารณาในหนังสือยินยอมความผูกพันของเจ้าหน้าที่ตำรวจแห่งสำนักงานความมั่นคงสาธารณะนครฉงชิ่ง ผู้รับผิดชอบคดีอาญาของผู้ถูกร้องขอในสาธารณรัฐประชาชนจีนตามซึ่งสาธารณรัฐ ประชาชนจีนส่งมาประกอบคำร้องขอส่งผู้ร้ายข้ามแดนยืนยันว่ามีการสืบสวน สอบสวนอย่างถูกต้องตามกฎหมาย

ประกอบกับเอกสารที่เป็นรายละเอียดเกี่ยวกับธุรกรรมทางการเงินระหว่างชาวมาเลเซียและผู้แชร์ลูกโซ่ บริษัท MBI ในหนังสือยินยอมความผูกพันปรากฏรายการทำธุรกรรมทางการเงินเข้า บัญชีต่าง ๆ ทั้งในสหพันธรัฐมาเลเซียและสาธารณรัฐประชาชนจีน นอกจากนี้ผู้ร้องขอมีคำฟ้องของสำนักงานอัยการ ประชาชนเขตอเป่ย นครฉงชิ่ง ซึ่งยื่นฟ้องผู้ร่วมกระทำความผิดกับผู้ถูกร้องขอเป็น จำเลยในสาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งเมื่อพิจารณาหมายจับดังกล่าวและหนังสือร้องขอแล้วเป็นกรณีที่ผู้ถูกร้องขอถูก หมายจับในข้อหาฉ้อโกง ที่ผู้ถูกร้องขอต่อสู้ว่าผู้ถูกร้องขอดำเนินธุรกิจในราชอาณาจักรไทยและในสหพันธรัฐ มาเลเซียอย่างถูกต้องตามกฎหมายแต่ผู้ถูกร้องถูกเจ้าพนักงานตำรวจ พรรคการเมืองในประเทศไทย และ นักการเมืองในสาธารณรัฐประชาชนจีนร่วมมือกันกลั่นแกล้งผู้ถูกร้องแต่ผู้ถูกร้องขอเบิกความยืนยันว่าไม่ เคยถูกเรียกรับเงินจากนักการเมืองในจีนและไม่ทราบสาเหตุที่แท้จริงในการกลั่นแกล้ง ของสาธารณรัฐประชาชนจีนโดยผู้ถูกร้องขอเข้าใจว่าอาจมีสาเหตุมาจากโครงการที่ผู้ถูกร้องขอทำร่วมกับคนชาติจีนในมณฑลกุ้ยโจว ข้ออ้างดังกล่าวล้วนแต่เป็นความเข้าใจของผู้ถูกร้องขอไม่มีน้ำหนักให้รับฟัง

พยานหลักฐานที่ผู้ร้องขอนำสืบมาดังกล่าวบ่งชี้ว่าผู้ถูกร้องขอกับพวกโดยทุจริตร่วมกันหลอกลวงประชาชน นั้นได้ไปซึ่งทรัพย์สินจากผู้ถูกหลอกลวงหรือบุคคลที่สาม หรือทำให้ผู้ถูกหลอกลวงหรือบุคคลที่สาม โฆษณา หรือประกาศให้ปรากฏต่อประชาชน หรือกระทำด้วยประการใด ๆ ให้ปรากฏแก่บุคคลตั้งแต่สิบคนขึ้นไปว่า ด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จ หรือปกปิดข้อความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้ง และโดยการหลอกลวงดังว่า ในการกู้ยืมเงิน ตนหรือบุคคลใดจะจ่ายผลประโยชน์ตอบแทนให้ตามพฤติการณ์แห่งการกู้ยืมเงิน ในอัตราที่สูงกว่าอัตราดอกเบี้ยสูงสุดที่สถาบันการเงินตามกฎหมายว่าด้วยดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมของสถาบันการเงินจะ พึงจ่ายได้โดยที่ตนรู้หรือควรรู้อยู่แล้วว่าตนหรือบุคคลนั้นจะนำเงินจากผู้ให้กู้ยืมเงินรายนั้นหรือรายอื่นมา จ่ายหมุนเวียนให้แก่ผู้ให้กู้ยืมเงิน หรือโดยที่ตนรู้หรือควรรู้อยู่แล้วว่าตนหรือบุคคลนั้นไม่สามารถประกอบ กิจการใด ๆ โดยชอบด้วยกฎหมายที่จะให้ผลประโยชน์ตอบแทนพอเพียงที่จะนำมาจ่ายในอัตรานั้นได้ และ ในการนั้นเป็นเหตุให้ตนหรือบุคคลใดได้กู้ยืมเงินไป และชักชวนบุคคลเข้าร่วมเครือข่ายในการประกอบธุรกิจ ขายตรง หรือในการประกอบธุรกิจตลาดแบบตรง โดยตกลงว่าจะให้ผลประโยชน์ตอบแทนจากการหาผู้เข้าร่วมเครือข่ายดังกล่าว

ซึ่งหากในชั้นพิจารณาของศาล ข้อเท็จจริงรับฟังได้ตามคำร้องขอดังกล่าว การกระทำของผู้ถูกร้องขอย่อมครบองค์ประกอบความผิดฐานกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน ฉ้อโกง ประชาชน และชักชวนบุคคลเข้าร่วมเครือข่ายในการประกอบธุรกิจขายตรง ฯ

คดีของผู้ร้องขอมีมูล เมื่อ นายเตียว ฮุย ฮวด ผู้ถูกร้องขอมีสัญชาติมาเลเซีย ที่รัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีนร้องขอให้รัฐบาล ไทยส่งตัวผู้ถูกร้องขอไปดำเนินคดีที่สาธารณรัฐประชาชนจีน โดยสาธารณรัฐประชาชนจีนและ ราชอาณาจักรไทยมีสนธิสัญญาส่งผู้ร้ายข้ามแดนระหว่างกันและคำฟ้องของผู้ร้องขอมีมูลที่จะประทับฟ้องไว้ พิจารณา หากความผิดนั้นได้กระทำลงในราชอาณาจักรและความผิดดังกล่าวกฎหมายสาธารณรัฐประชาชน จีนและกฎหมายแห่งราชอาณาจักรไทยกำหนดให้เป็นความผิดอาญาที่มีโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีขึ้นไป และ มิใช่ความผิดที่มีลักษณะทางการเมืองหรือเป็นความผิดทางทหาร ตามความแห่ง พรบ.ส่งผู้ร้ายข้าม แดน พ.ศ. 2551มาตรา 19จึงมีเหตุให้ขังผู้ถูกร้องขอไว้เพื่อส่งข้ามแดนต่อไป อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 19วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 20แห่ง พรบ. ส่งผู้ร้ายข้ามแดน พ.ศ.2551

จึงมีคำสั่งขังผู้ถูกร้องขอไว้เพื่อส่งตัวข้ามแดนไปยังสาธารณรัฐประชาชนจีน ต่อไปแต่มิให้ส่งตัวผู้ถูกร้องขอข้ามแดนก่อนครบระยะเวลา30วันนับแต่วันที่ศาลมีคำสั่งขังเพื่อส่งข้ามแดนและถ้ามิได้ส่งผู้ถูกร้องขอข้ามแดนภายใน90วันนับแต่วันที่ศาลมีคำสั่งถึงที่สุดหรือภายใน กำหนดเวลาที่ศาลได้อนุญาตให้ขยายออกไป ให้ปล่อยตัวผู้ถูกร้องขอไป

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 3 ม.ค.ที่ผ่านมา ทางสถานเอกอัครราชทูตมาเลเซียประจำประเทศไทย ได้มีหนังสือถึง อธิบดีอัยการสำนักงานต่างประเทศในฐานะผู้ประสานงานกลาง เกี่ยวกับคำร้องขอจับกุมชั่วคราวของรัฐบาล มาเลเซียต่อรัฐบาลไทยถึง นายเตียว ฉุยฮวดผู้หลบหนีดังกล่าวเป็นที่ต้องการตัวสำหรับการดำเนินคดีในความผิดฐานฉ้อโกงและส่งมอบทรัพย์สินโดยไม่สุจริต ซึ่งเป็นความผิดภายใต้บทบัญญัติมาตรา 420 ของประมวลกฎหมายอาญามาเลเซีย (พระราชบัญญัติ 574) มีโทษจำคุกไม่ต่ำกว่าหนึ่งปีและไม่เกินสิบปี และมีการเฆี่ยนตีและต้องระวางโทษปรับด้วย โดยสถานเอกอัครราชทูตขอเน้นย้ำว่าคำขอจับกุมชั่วคราวเป็นไปตาม พรบ.ส่งผู้ร้าย ข้ามแดน พ.ศ. 2535 (พระราชบัญญัติ 479) และสนธิสัญญาส่งผู้ร้ายข้ามแดนระหว่างประเทศ ไทยและสหราชอาณาจักร พ.ศ. 2454 ซึ่งลงนามเมื่อวันที่ 4 มี.ค.54 และบังคับใช้กับ มาลายา (และต่อมาภายหลังคือ ประเทศมาเลเซีย) และราชอาณาจักรไทยโดยการแลกเปลี่ยน ทางการทูตลงวันที่ 27 ต.ค. 2502

ขอบคุณภาพ “สำนักข่าวอิศรา”