โดยมีกระแสข่าวว่า “บิ๊กตู่” ยังไม่มีการส่งสัญญาณให้ ส.ส.ที่ยังไม่ได้ย้ายพรรค ให้ลาออกจากพรรคเดิมเพื่อไปสังกัดพรรคใหม่ เพราะยังต้องการให้ ส.ส.ทำหน้าที่จนปิดสมัยประชุมสภา ในวันที่ 28 ก.พ.นี้ จากนั้นเป็นสิทธิของ ส.ส.ที่จะลาออกจากพรรคเดิม โดยจะตัดสินใจยุบสภาในช่วงต้นเดือน มี.ค. ก่อนที่จะครบวาระสภาในวันที่ 23 มี.ค. เพื่อให้ ส.ส.ย้ายไปสังกัดพรรคใหม่ได้ทัน ตามเงื่อนไขการยุบสภา ที่จะลดระยะเวลาการเป็นสมาชิกพรรคการเมืองของผู้สมัคร จากไม่น้อยกว่า 90 วันเหลือเพียง 30 วันนับถึงวันเลือกตั้ง

รวมทั้งรีเซ็ตค่าใช้จ่ายในการหาเสียงของพรรคการเมือง และผู้สมัครในห้วงเวลา 180 วันก่อนหน้านี้ เนื่องจากหากมีการยุบสภา การนับค่าใช้จ่ายในการหาเสียงจะเริ่มนับตั้งแต่มีกฤษฎีกาให้ยุบสภาแทน

ทั้งนี้หลังจากยุบสภาแล้ว “บิ๊กตู่” จึงจะได้ฤกษ์ลงพื้นที่นำหาเสียงด้วยตัวเองแบบเต็มตัว โดยใช้เวลานอกราชการเนื่องจากยังต้องทำหน้าที่นายกฯ รักษาการจนกว่าจะมีรัฐบาลใหม่

สิ่งที่จะต้องจับตาดูหลังจากนี้ หนีไม่พ้นความสัมพันธ์ “พี่น้อง 2 ป.” แม้ก่อนหน้านี้ทั้งสองคนต่างยืนยันว่าความสัมพันธ์ยังเหมือนเดิม ไม่มีวันแตกแยก แต่อากัปกิริยาของทั้งคู่กลับสวนทางกันอย่างเห็นได้ชัด โดยเฉพาะ “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ที่เริ่มส่งสัญญาณเดินหน้าสู้ ภายหลัง “บิ๊กตู่” แยกตัวออกไป

เริ่มตั้งแต่การชิงจังหวะคิกออฟสนามเลือกตั้ง ของ “บิ๊กป้อม” ที่เริมด้วยการประกาศความชัดเจนยืนยันความพร้อมที่จะเป็นนายกรัฐมนตรี คนที่ 30 อย่างเต็มปากเต็มคำว่า “ถ้าประชาชนเลือกได้ให้ผมเป็นผมก็เป็น” รวมทั้งการทอดไมตรีทางการเมืองว่า พรรคพลังประชารัฐพร้อมสานสัมพันธ์กับทุกฝ่าย เพื่อก้าวข้ามความขัดแย้ง เดินหน้าสร้างพลังแห่งความปรองดองและสามัคคี โดยพร้อมร่วมมือกับทุกฝ่ายหาทางออกร่วมกัน เพื่อนำพาประเทศไทยไปสู่เป้าหมายที่ดีที่สุดสำหรับคนไทยทุกคน

พร้อมด้วยการเดินเกมเร็วปาดหน้า “บิ๊กตู่” ด้วยการลาประชุม ครม. เพื่อเดินทางไปยังบ้านของ “กำนันตุ้ย” วิวัฒน์ นิติกาญจนา นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดราชบุรี และรับประทานอาหารกลางวัน ร่วมกับ ส.ส.ราชบุรี พรรคพลังประชารัฐ พรรคประชาธิปัตย์ รวมถึงว่าที่ผู้สมัคร ส.ส. ราชบุรี ด้วยภาพบรรยากาศการต้อนรับอย่างอบอุ่น

โดยเกมปาดหน้าที่เกิดขึ้น ก็จะเห็นได้ชัดถึงความพยายามรักษาฐานอำนาจ “บ้านใหญ่” ในแต่ละพื้นที่เอาไว้ให้เหนียวแน่นที่สุด เพราะเป็นส่วนสำคัญในกลุ่มก๊วนการเมืองต่างๆ นอกจากนั้นกลุ่ม “บ้านใหญ่” เหล่านี้ ยังถือเป็นผู้เล่นที่ขึ้นชื่อได้ว่าเป็น “เกรด A ที่สามารถปักหมุด หวังผลกวาดแต้มในพื้นที่ได้ ดังนั้นจึงเกิดการล็อกเป้ารักษาฐานอำนาจในบ้านใหญ่เป็นพิเศษ

ส่วน “บิ๊กตู่” แม้จะลงพื้นที่ราชบุรีทีหลัง แต่ก็เรียกได้ว่ายังเนื้อหอม เพราะยังมีบรรดา ส.ส. รุมล้อม ทั้ง น.ส.ปารีณา ไกรคุปต์ อดีต ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ และ นายสีหเดช ไกรคุปต์ พี่ชาย, น.ส.กุลวลี นพอมรบดี ส.ส.ราชบุรี เขต 1 พรรคพลังประชารัฐ, นายอัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์ ส.ส.ราชบุรี เขต 4 ประชาธิปัตย์ ซึ่งก็เรียกได้ว่าโชว์พลังดูดแข่งกับพี่ใหญ่ จนกระทบสัมพันธ์พรรคร่วม โดยเฉพาะพรรคประชาธิปัตย์ที่โดนดูดตัว ส.ส.และผู้สมัครในแถบภาคกลางไปเกือบหมดหน้าตัก

นอกจากนั้นยังมีการเตรียมปะเดิมลงพื้นที่จังหวัดชุมพร ในวันที่ 28 ม.ค.นี้ เป็นที่แรกในฐานะสมาชิกพรรครวมไทยสร้างชาติ ซึ่งถือเป็นภารกิจกระชับฐานเสียงในพื้นที่ฐานเสียงที่เข้มแข็งของ ชุมพล จุลใส อดีต ส.ส.ชุมพร หลายสมัย โดยถือเป็นหนึ่งในพื้นที่ความหวังที่พรรครวมไทยสร้างชาติที่ต้องการชนะยกจังหวัดทั้ง 3 เขตเลือกตั้ง

ด้วยสภาพบังคับที่ “พี่ใหญ่-น้องเล็ก” ต่างจำเป็นที่จะต้องช่วงชิงความได้เปรียบในการเลือกตั้งที่กำลังจะเกิดขึ้น ก็หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะเกิดเหตุการณ์ “หักเหลี่ยมโหด” ในช่วงหลังจากนี้มากยิ่งขึ้น!

ขณะที่การเตรียมสู้ศึกเลือกตั้งของพรรคพลังประชารัฐ ก็เรียกเสียงฮือฮาไม่น้อย หลังจาก “บิ๊กป้อม” ควงแกนนำคนสำคัญของพรรค ประเดิมเปิดนโยบาย “บัตรประชารัฐ” 700 บาทต่อเดือน ให้กับประชาชนผู้มีรายได้น้อย และพร้อมเริ่มมีผลทันทีหลังจากที่พรรคพลังประชารัฐเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล ซึ่งก็กลายเป็นการเกทับ นโยบายค่าแรงขั้นต่ำ 600 ของพรรคเพื่อไทยที่ประกาศนโยบายไว้ก่อนหน้านี้

พร้อมกันนั้นก็กลายเป็นการ “แย่งซีน” ผลงานบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ระหว่างพรรคพลังประชารัฐ และพรรครวมไทยสร้างชาติ โดยงานนี้ พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค หัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) ก็ออกมาตอบกลับว่านโยบายดังกล่าวเริ่มต้นมาจาก “บิ๊กตู่” แต่ทำในนามของรัฐบาล ก็ต้องถือเป็นของรัฐบาล เพราะฉะนั้นทุกพรรคร่วมรัฐบาลก็สามารถใช้ได้

นอกจากการเตรียมนโยบายสู้ศึกเลือกตั้งแล้ว สิ่งที่น่าจับตามองไม่แพ้กันก็คือความเคลื่อนไหวของ “ก๊วนธรรมนัส” ที่เตรียมย้ายสำมะโนครัวกลับเข้าพรรคพลังประชารัฐ ภายหลังเกิดดราม่าซีนใหญ่ โดย ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ส.ส.พะเยา พรรคเศรษฐกิจไทย พร้อมด้วย ส.ส.ในกลุ่ม คุกเข่ามอบพวงมาลัยและยกมือไหว้ “บิ๊กป้อม” ขอกลับเข้าพรรค ระหว่างการลงพื้นที่ตรวจราชการ จ.ลำปาง และจ.พะเยา ซึ่งก็กลายเป็นการ “คัมแบ๊ก” ที่สร้างความเข้มแข็งให้พรรคพลังประชารัฐมากขึ้น

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ก็ต้องดูท่าทีของ “กลุ่มสามมิตร” หลังจากนี้ให้ดี เพราะในขณะนี้ยังออกอาการ “พูดไม่เต็มปาก” แม้แกนนำกลุ่มอย่าง สมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.ยุติธรรม จะบอกว่ายังอยู่กับพรรคพลังประชารัฐ ไม่ทิ้งพรรคพลังประชารัฐ พร้อมยังบอกว่า ทำงานร่วมกับ “ผู้กองธรรมนัส” ได้ไม่มีปัญหา แต่หากจับอากัปกิริยาจะเห็นถึง ความหนักแน่นที่เหมือนจะยังไม่เต็มร้อย

ดังนั้นหลังจากนี้คงจะต้องจับตาดูกันให้ดี เพราะ “กลุ่มสามมิตร” ถือเป็นตัวแปรสำคัญ ในเกมการเมืองและการเลือกตั้งของพรรคพลังประชารัฐ การเลือกที่จะอยู่หรือไป ล้วนส่งผลต่อความได้เปรียบเสียเปรียบของพรรคในการเลือกตั้งที่กำลังจะเกิดขึ้น

ขณะที่ พรรครวมไทยสร้างชาติ ในฐานะ “นั่งร้านอำนาจใหม่” ก็ถูกลองของเป็นที่เรียบร้อย จากงานอีเวนต์เปิดตัว “บิ๊กตู่” เมื่อวันที่ 9 ม.ค. ที่ผ่านมา ซึ่งก็ทำให้ตกเป็นเป้าถูกร้องเรียนให้ กกต.ตรวจสอบรวม 5 ประเด็น 1.เรื่องการใช้รถหรือยานพาหนะ รถบัส หรือรถตู้ ขนคนข้ามจังหวัดมาฟังการปราศรัย 2.การแจกเสื้อ หมวก และธง เพื่อใช้ในการปราศรัย ประมาณ 4 พันชุด สามารถทำได้หรือไม่ 3.การจัดมหรสพการนำศิลปินระดับชาติ มาขึ้นเวทีปราศรัยมาช่วยในการหาเสียงร้องเพลงของพรรค สามารถทำได้หรือไม่ 4.การปราศรัยของแกนนำพรรคมีการกล่าวถ้อยคำหยาบคาย รุนแรง และพาดพิงถึงสถาบันพระมหากษัตริย์ ถือว่าเป็นการกระทำที่ผิดต่อระเบียบการหาเสียงของ กกต.หรือไม่ และ 5.เกี่ยวกับการจัดประชุมใหญ่วิสามัญของพรรค ที่ไม่มีการลงชื่อของผู้เข้าร่วมประชุม ไม่มีการประชุมตามวาระ หรือไม่มีการลงมติที่จะเลือกกรรมการสรรหา ถือเป็นการจัดประชุมเพื่อหาเสียงหรือไม่

ซึ่งงานนี้ เอกนัฏ พร้อมพันธุ์ เลขาธิการพรรครวมไทยสร้างชาติ ก็มีการออกมายืนยันว่าทุกอย่างทำตามขั้นตอนของกฎหมายทุกประการ และยินดีที่จะให้ความร่วมมือกับ กกต. ในการชี้แจงเรื่องดังกล่าว ทั้งนี้ก็คงจะต้องรอดูกันต่อไปว่าพรรครวมไทยสร้างชาติ จะสามารถผ่านด่านทดสอบนี้ไปได้หรือไม่ หรือท้ายที่สุดแล้วจะต้องสะดุดก่อนเข้าสู่สังเวียนเลือกตั้ง

ปรับโฟกัสมาที่ ความเคลื่อนไหวของพรรคเพื่อไทยที่น่าสนใจไม่แพ้กัน โดยเฉพาะ “อุ๊งอิ๊ง” แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย ซึ่งได้ฤกษ์ประกาศความพร้อมเป็นแคนดิเดตนายกฯ ของพรรคเพื่อไทย ระหว่างการลงพื้นที่หาเสียงในจังหวัดอุดรธานี พร้อมกันนั้นยังขึ้นโชว์ลีลาไฮด์ปาร์คบนเวทีปราศรัย ย้ำนโยบายค่าแรงขั้นต่ำ 600 บาท พร้อมแก้ปัญหาทั้งน้ำท่วมและน้ำแล้ง ทำให้การเกษตรอยู่ดีกินดี ก่อนจะทิ้งท้ายแบบแสบๆ คันๆ ว่า “เอาลุงกลับไป เพื่อไทยมาแล้ว เอาลุงกลับไปเลี้ยงหลาน ลุงโทนี่จะได้กลับมาเลี้ยงหลานบ้าง”

ขณะเดียวกันก็ยังไม่ตอบรับไมตรีจาก “บิ๊กป้อม” พร้อมกันนั้นยังย้ำเป้าหมายหลักของพรรคเพื่อไทยตอนนี้โฟกัสไปที่แผนแลนด์สไลด์ ซึ่งก็สอดคล้องกับแถลงการณ์พรรคเพื่อไทยที่ออกมาก่อนหน้านี้ ที่ย้ำจุดยืนไม่ได้จับมือพรรคการเมืองใดตั้งรัฐบาล เน้นเดินหน้าแลนด์สไลด์ ซึ่งงานนี้ก็คงจะต้องรอดูกันต่อไปว่า ความฝันแลนด์ไสลด์ของพรรคเพื่อไทยจะเป็นจริงได้หรือไม่ หรือสุดท้ายแล้วความฝันทอดไมตรีของ “บิ๊กป้อม” จะกลายเป็นความจริงแทน

ปิดท้ายกันด้วย ปัญหาสภาล่ม ที่สะท้อนภาพความอัปยศซ้ำซาก! โดยสภาล่มครั้งล่าสุด เกิดขึ้นระหว่างการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.กัญชา กัญชง พ.ศ. … วาระ 2 มาตรา 11 ต่อจากการประชุมเมื่อคราวที่แล้วที่เกิดปัญหาสภาล่มเช่นเดียวกัน และกลายเป็นประวัติศาสตร์ซ้ำรอย เมื่อเปิดประชุมได้ไม่ถึง 2 ชั่วโมง ก็เกิดปัญหาเรื่ององค์ประชุมไม่ครบ โดยเหตุการณ์สภาล่มในครั้งนี้ นับเป็นครั้งที่ 4 ติดต่อกัน ท้ายที่สุด ก็ได้แต่หวังว่า ส.ส.ที่ยังที่ปฏิบัติหน้าที่ได้ จำนวน 432 คน จะให้ความสำคัญกับการทำหน้าที่ในสภาเพื่อยังประโยชน์ให้กับประชาชน ในช่วงโค้งสุดท้ายของวาระสภาที่เหลืออีกไม่กี่อึดใจนี้ อย่างที่ควรจะเป็น!.