กรณี นายกิตธิสิทธิ์ ทุมมาส นายกเทศมนตรีตำบลเอราวัณ อ.ศรีสวัสดิ์ จ.กาญจนบุรี โพสต์คลิปวงจรปิด เป็นคลิปและภาพเสือโคร่งตัวใหญ่ บริเวณสันเขื่อนศรีนครินทร์ จ.กาญจนบุรี ทางลงสันเขื่อนฝั่งซ้ายแล้ววิ่งหนีลงฝั่งโรงไฟฟ้า พร้อมแจ้งเตือนลูกบ้านและประชาชนทุกๆคนให้ระวังลูกๆหลานๆด้วย งดเว้นการเข้าป่าหาของป่า ตามที่ได้เสนอข่าวไปแล้วนั้น

นึกภาพถ้าเดินไปจ๊ะเอ๋! ผวาเสือโคร่งโผล่ ‘นายกเอราวัณ’ แจ้งเตือนให้ระวังตัว

ความคืบหน้า เมื่อช่วงบ่ายวันที่ 22 ม.ค. ผู้สื่อข่าวรายงานว่านายไพฑูรย์ อินทรบุตร หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระ ได้รายงานผู้บังคับบัญชากรณีดังกล่าวว่า คณะเจ้าหน้าที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระ เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติเอราวัณ เจ้าหน้าฝ่ายปกครองอำเภอศรีสวัสดิ์ นายกเทศบาลตำบลเอราวัณ และ ผู้นำชุมชน พื้นที่หมู่ 4 ต.ท่ากระดาน ร่วมกันลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริง เบื้องต้นจากการตรวจสอบวงจรปิดบริเวณเขื่อนศรีนครินทร์ พบว่า เวลาประมาณ 01:39 น. วันที่ 22 ม.ค. พบเสือโคร่งเดินผ่านกล้องวงปิดรวม 4 จุด คือ

จุดที่ 1 พบเสือโคร่ง จากกล้องวงจรปิด เวลาประมาณ 01:39 น. วันที่ 22 ม.ค. พิกัดที่ 47P 0513907 E 1593017 N จุดที่ 2 พบเสือโคร่งจากกล้องวงจรปิด เวลาประมาณ 01:51 น. วันที่ 22 ม.ค. 2566 พิกัดที่ 47P 0514064 E 1593129 N จุดที่ 3 เจ้าหน้าที่เขื่อนศรีนครินทร์แจ้งว่าพบตัวเสือโคร่ง เวลาประมาณ 01:55 น. วันที่ 22 ม.ค. 2566 พิกัดที่ 47P 0514234 E 1593051 N และ จุดที่ 4 เวลาประมาณ 14:30 น. วันที่ 22 ม.ค. 2566 เจ้าหน้าที่ร่วมกันตรวจสอบพื้นที่ พบรอยตีนเสือโคร่ง ขนาดอุ้งตีนกว้างประมาณ 7 ซม. (ดินแข็ง) ทิศทางมุ่งหน้าไปที่เขื่อนสันเขื่อน คาดว่าจะเป็นขณะที่เดินออกมาจากป่าพิกัดที่ 47P 0514557 E 1592797 N

คณะเจ้าหน้าที่ยังได้ตรวจสอบรอบพื้นที่บริเวณด้านหน้าสันเขื่อนศรีนครินทร์ เบื้องต้นไม่พบร่องรอยเสือโคร่งในจุดอื่นแต่อย่างใด จึงมีความเห็นร่วมกันว่ามีแนวโน้มประมาณ 80 เปอร์เซ็นต์ ที่เสือโคร่งตัวดังกล่าวจะกลับคืนสู่ป่าธรรมชาติ และแนวโน้มประมาณ 20% ที่เสือโคร่งจะยังอยู่ในพื้นที่บริเวณหน้าสันเขื่อนศรีนครินทร์

ทั้งนี้คณะเจ้าหน้าที่ได้ขอให้ฝ่ายรักษาความปลอดภัยเขื่อนศรีนครินทร์ ได้ติดตามตรวจสอบภาพจากกล้องวงจรปิดอย่างต่อเนื่องและได้ประชาสัมพันธ์ให้กับชุมชนในแต่ละพื้นที่ให้ระมัดระวังอันตราย และอย่าตื่นตระหนก หากผู้ใดพบเห็นเสือในบริเวณใกล้เคียงให้แจ้งหน่วยที่เกี่ยวข้องทราบทันที

ต่อมา เจ้าหน้าที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระ ได้รับแจ้งจาก องค์กรแพนเทอร่า (PANTHERA THAILAND) ว่า เสือตัวดังกล่าวนี้เป็นเสือโคร่งที่เคยติดกล้องดักถ่ายสัตว์ป่าของคณะวิจัยฯ ในพื้นที่ป่าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระ โดยถ่ายติดเมื่อเดือนพฤศจิกายนพ.ศ. 2565 ที่ผ่านมา เป็นเสือโคร่งเพศผู้ ซึ่งจากการตรวจสอบ ลายของเสือแล้วไม่พบว่ามีข้อมูลจากฐานข้อมูลของเสือตัวนี้จากแหล่งอื่นแต่อย่างใด จึงตั้งชื่อให้เป็น SLT002M

อนึ่งเขตฯ ขอเรียนเบื้องต้นว่า การตรวจพบเสือโคร่งของคณะนักวิจัยฯนั้น จะมีการจำแนกลายของเสือจากข้อมูลของฐานข้อมูลที่มีอยู่ของสถานีวิจัยสัตว์ป่าเขานางรำ เป็นพื้นฐาน และบางครั้งพบว่าการเคลื่อนตัวของเสือที่เข้ามาในพื้นที่เขตฯสลักพระ บางตัวพบว่าเคลื่อนย้ายมาจากเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันตก เป็นต้น และถ้าหากตัวที่พบในกล้องไม่พบว่าเคยมีข้อมูลที่อื่นก็จะตั้งชื่อตามพื้นที่ที่ตรวจพบครั้งแรก