เมื่อวันที่ 26 ม.ค. ที่กระทรวงสาธารณสุข พญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวถึงกรณีการเดินหน้าผลิตจิตแพทย์เพิ่มเติมขึ้นเนื่องจากปัจจุบันมีจำนวนน้อยมาก ทั้งประเทศประมาณ 800 คน สัดส่วนจิตแพทย์ 1 คน ดูแลประชากรเกิน 1 แสนคน อย่างไรก็ตาม ในจำนวนนี้จิตแพทย์ส่วนหนึ่งปฏิบัติงานในภาคเอกชน ส่วนหนึ่งไม่ได้ทำหน้าที่จิตแพทย์แล้ว ดังนั้นเหลืออยู่ในภาครัฐที่ช่วยกันแบกจริงๆ ในอัตราที่น่าเป็นห่วงมาก บางจังหวัดไม่มีเลย โดยเฉพาะจิตแพทย์เด็กน้อยมาก อย่างเด็กถูกบูลลี่ 1 คน กว่าจะได้พบจิตแพทย์ต้องรอนานถึง 6 เดือน จนมีคำล้อเลียนว่า “ลงทะเบียนชาตินี้ ได้ตรวจชาติหน้า” ทั้งๆ ที่ปัญหาตอนนี้คูณสิบ คูณร้อย ทั้งนี้องค์การอนามัยโลกมีคำแนะนำสัดส่วนที่เหมาะสม แต่เราคงไม่มีทางไปถึง จึงมองว่าทำอย่างไรจึงจะมีเยอะที่สุดเท่าที่จะมากได้ แต่ต่อให้เรามีจิตแพทย์เพิ่มขึ้นอีก 5 เท่า จากปัจจุบันที่ผลิตได้ปีละ 50 คน เรายังต้องผลิตเช่นนี้อีกกว่า 10 ปี ถึงจะเพียงพอในการดูแลประชาชน

สาเหตุที่มีจิตแพทย์น้อยนั้น ในการขับเคลื่อนเรื่องสุขภาพกาย และสุขภาพจิต ยังไม่สมดุลเท่าไหร่ แพทย์ฝ่ายกายมีคนสนใจเยอะ สามารถผลิตได้เยอะ แต่ในด้านจิตใจภาพรวมการผลิตเป็นแบบต้วมเตี้ยมๆ มาโดยตลอด ความสนใจเข้ามาฝึก มาเรียนรู้ไม่มาก และระบบการผลิต การอุดหนุน การผลักดันเชิงนโยบายยังมีไม่เพียงพอ เลยกลายเป็นปัญหาที่ถูกสะสมมาเรื่อยๆ

อย่างไรก็ตาม ปัญหาด้านสุขภาพจิตมีการคาดการณ์ว่าจะเพิ่มอีกหลายเท่า ในขณะที่การเพิ่มจิตแพทย์ต้องใช้เวลา แต่ระบบการดูแลสุขภาพจิตอื่นๆ ไม่ได้สร้างความราบรื่นของการดูแลนัก เช่น การดูแลเชิงรุกในชุมชน การดูแลเชิงรุกต่อเนื่อง ยังมีข้อจำกัดในสังคม สวัสดิการ อย่างการให้ค่าตอบแทน 1323 ซึ่งเป็นงานเชิงลึก ที่ใช้เวลานาน แต่ สปสช.ยังจ่ายเหมือนคนโทรฯมา “ฮัลโหล ยาตัวนี้กินก่อนหรือหลังอาหาร” เทียบกับการโทรฯมาปรึกษาปัญหาสุขภาพจิต ปัญหาการฆ่าตัวตายได้ค่าตอบแทนเท่ากัน ดังนั้นปัญหาจิตเวช ณ เวลานี้ จึงเป็นไปในรูปแบบที่ยิ่งทำ ยิ่งเข้าเนื้อ ทำให้หน่วยงานมีข้อจำกัดเรื่งงบฯ โอกาสการพัฒนามีจำกัด ทางเลือกในการใช้ยาก็น้อย โดยสรุปก็เป็นไปในทิศทาง “หมอมีน้อย ทำงานก็ยาก แถมจนอีกต่างหาก”

ล่าสุดคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 24 ม.ค. ที่ผ่านมา ได้อนุมัติงบ 686 ล้านบาท สำหรับโครงการพัฒนาเครือข่ายระบบด้านการดูแลสุขภาพจิต ระยะเวลา 5 ปี ปีงบประมาณ 2566-2570 แต่ยังต้องพิจารณางบประมาณภายในกระทรวงสาธารณสุขก่อน โดยปีแรกได้ประมาณร้อยกว่าล้านบาท ซึ่งได้หารือร่วมกับปลัด สธ.แล้วว่า อาจจะมีการเสนอ ครม.ของบกลางเพิ่มอีกราวๆ ร้อยล้านบาท สำหรับแผนการผลิตจะเป็นแบบรวมสหวิชาชีพรวม 590 คนต่อปี ได้แก่ 1.จิตแพทย์ 30 คนต่อปี 2.พยาบาลเฉพาะทางสุขภาพจิต 300 คนต่อปี 3.พยาบาลเชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิตและจิตเวช (ป.โท) 20 คนต่อปี 4.นักจิตวิทยาคลินิก 80 คนต่อปี 5.นักสังคมสงเคราะห์เฉพาะทางจิตเวช 80 คนต่อปี 6.นักกิจกรรมบำบัดเฉพาะทาง 50 คนต่อปี และ 7.เภสัชกรจิตเวช 30 คนต่อปี.