สิ่งที่น่าจับตามมองหลังจากนี้คือ “ไทม์ไลน์ยุบสภา” ที่ถูกคาดการณ์ถึงความเป็นไปได้มากที่สุดในช่วงต้นเดือน มี.ค. ก่อนที่จะครบวาระสภาในวันที่ 23 มี.ค. ซึ่งสอดคล้องกับเงื่อนไขที่ กกต. ขอเวลา 45 วัน ในการเตรียมการเลือกตั้ง หลังกฎหมายเกี่ยวกับการเลือกตั้งมีผลบังคับใช้ แต่ในส่วนนี้จะเป็นเวลาสำหรับการเตรียมการเลือกตั้ง โดยเป็นการแบ่งเขตเลือกตั้งจนถึงช่วงปลายเดือน ก.พ. หลังจากนั้นจะเป็นเวลาสำหรับพรรคการเมืองทำไพรมารีโหวต

ดังนั้นหากนับนิ้วคำนวณตามเงื่อนไขระยะเวลา 45 วัน ก็จะเท่ากับว่าการยุบสภา มีโอกาสที่จะเกิดขึ้นได้สูง ตั้งแต่วันที่ 15-22 มี.ค. 2566 แต่หากพิจารณาภายใต้เงื่อนไขการชิงยุบสภาเพื่อความได้เปรียบทางการเมือง ก็มีความเป็นไปได้ที่จะมีการยุบสภา ได้ตั้งแต่ช่วงต้นเดือน มี.ค. เป็นต้นไป

แต่ท่ามกลางอาการ “ร่อแร่” ของสภาผู้แทนราษฎรในขณะนี้ จากการทยอยลาออกของ ส.ส. ที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยล่าสุดมีจำนวน ส.ส. เหลือปฏิบัติหน้าที่ในสภาเพียง 423 คน และยังมีปัญหาสภาล่มซ้ำซาก รวมทั้งการเล่นเกมการเมืองในสภา ก็อาจจะกลายเป็นอีกปัจจัยที่ส่งผลให้เกิดการเร่งปฏิกิริยา “ยุบสภา” อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

โดยปัญหาใหญ่ในสภา ยังคงเป็นการรักษาองค์ประชุมของพรรคร่วมรัฐบาล ที่วิปรัฐบาลไม่สามารถควบคุมองค์ประชุมได้ จนกฎหมายหลายฉบับต้องค้างกลางสภา โดยเฉพาะการพิจารณา ร่างพระราชบัญญัติ กัญชา กัญชง ที่พรรคภูมิใจไทยมองว่า เป็นผลมาจาก ส.ส.พรรครัฐบาลไม่อยู่เป็นองค์ประชุม หรืออยู่แล้วไม่แสดงตน เป็นผลให้การพิจารณา พ.ร.บ.กัญชา กัญชง พ.ศ. …. ไม่สามารถดำเนินต่อไปได้ จนบานปลายเป็นการเล่นเกม “เอาคืน” พรรคร่วมรัฐบาล ด้วยการไม่แสดงตนรักษาองค์ประชุมให้กับรัฐบาล ในการประชุมพิจารณาวาระเรื่องด่วนร่าง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร ฉบับที่… พ.ศ. …. ที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) เป็นผู้เสนอ

จนทำให้ นายครูมานิตย์ สังข์พุ่ม ส.ส.สุรินทร์ พรรคเพื่อไทย ถึงขั้นออกมาท้าทายให้รัฐบาลยุบสภา จากปัญหาการเล่นเกมการเมืองในสภาที่เกิดขึ้น เช่นเดียวกับ “ครูแก้ว” ศุภชัย โพธิ์สุ รองประธานสภาผู้แทนราษฎร ที่ปฏิบัติหน้าที่ประธานที่ประชุม ที่พูดกลางห้องประชุมสภาว่า “ผมเห็นบรรยากาศอย่างนี้ อย่าว่าแต่พวกท่านเหนื่อยหน่าย ผมก็เบื่อหน่ายเช่นกัน ถ้าเป็นไปได้ อยากเรียกร้องเหมือนนายครูมานิตย์ว่า ท่าน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ถ้าได้ยินก็รีบยุบสภาเสีย เพราะ ส.ส. ไม่อยากประชุมแล้ว รัฐมนตรีก็ไม่ยอมมาตอบกระทู้ในที่ประชุม ท่านจะอยู่ไปทำไม ผมก็มีอารมณ์อยากระบายเหมือนกัน”

ทั้งนี้ทั้งนั้น ด้วยบริบทการเมืองที่ร้อนระอุ แรงบีบของเกมเลือกตั้งที่มากขึ้นเรื่อยๆ อาจจะพูดได้ว่า การยุบสภาสามารถเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อ!

ปรับโฟกัสมาที่ความเคลื่อนไหวของ “พี่น้อง 2 ป.” ทั้ง “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ในฐานะว่าที่แคนดิเดตนายกฯ พรรครวมไทยสร้างชาติ และ “พี่ป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ซึ่งต่างก็เร่งเครื่องขับเคี่ยวในสนามการเมืองกันอย่างไม่มีใครยอมใคร

เริ่มกันที่ “บิ๊กตู่” หลังจากประเดิมเวทีปราศรัยใหญ่ที่ชุมพรเป็นที่เรียบร้อย ก็เรียกเรตติ้งพุ่งกระฉูด จากการสำรวจของ LINE TODAY อยากได้ใครมาบริหารประเทศคนต่อไป พบว่าชื่อของ “บิ๊กตู่” มาเป็นอันดับหนึ่ง จนทำเอาแกนนำพรรครวมไทยสร้างชาติ ออกมาตีปี๊บกันยกใหญ่ว่า คะแนนนิยมส่วนตัวของ “บิ๊กตู่” ไม่ได้ลดลงจากเมื่อการเลือกตั้งปี 2562 เพียงแต่ในช่วงการทำงานของรัฐบาล อาจมีปัจจัยแวดล้อมอื่นๆ ที่ทำให้คนรู้สึกว่าคะแนนนิยมตกต่ำ

ทั้งนี้นำมาสู่การเดินเกมรุกกระโดดลงสู้ศึกเลือกตั้งเต็มตัว ของ “บิ๊กตู่” โดยมีชื่อเป็นปาร์ตี้ลิสต์อันดับหนึ่งของพรรครวมไทยสร้างชาติ ซึ่งถือว่าเป็นการพลิกเกมครั้งสำคัญ จากที่ก่อนหน้านี้มีการพูดถึง “บิ๊กตู่” เพียงตำแหน่งแคนดิเดตนายกฯ แต่เมื่อมีการจัดชื่อลงปาร์ตี้ลิสต์เบอร์ต้นแบบนี้แล้ว ก็เป็นการส่งสัญญาณลงการเมืองเต็มตัว

งานนี้พรรครวมไทยสร้างชาติคงสแกนแล้วว่า การที่ “บิ๊กตู่” จะนั่งในตำแหน่งแคนดิเดตนายกฯ ของพรรคเพียงอย่างเดียวนั้น อาจจะยังไม่ปังพอ ที่จะเรียกเรตติ้งได้อย่างที่คาดหวัง และดูจากคนที่เข้ามาร่วมงานกับพรรครวมไทยสร้างชาติส่วนใหญ่ ยังคงถือเป็น “ดาวเคราะห์” ที่ไร้แสงสว่างในตัวเอง จึงต้องอาศัย “ดาวฤกษ์” อย่าง “บิ๊กตู่” ช่วยเติมเต็มจุดอ่อน โดยภาพรวมแล้วมองได้ว่า เป็นการใช้ชื่อของ “บิ๊กตู่” ในการสร้างแรงดึงดูดทางการเมือง และสร้างคะแนนนิยมให้พรรค และบรรดาผู้สมัครของพรรคมากยิ่งขึ้น

อย่างไรก็ตาม หากประเมินภายใต้บริบทการเมืองปัจจุบัน ส.ส.บัญชีรายชื่อ อันดับที่ 1 ของพรรครวมไทยสร้างชาติ คงเป็น “เซฟโซน” ที่ตีตั๋วให้ “บิ๊กตู่” เข้าสู่สภาได้ไม่ยาก แต่จะเป็น “ตั๋วพิเศษ” ที่ส่งถึงเก้าอี้นายกฯ อีกสมัยหรือไม่…ก็คงจะต้องรอดูกัน

ตัดภาพมาที่ “พี่ใหญ่บูรพาพยัคฆ์” มีการออกแอ๊คชั่นนำพาไพร่พลพรรคพลังประชารัฐ เดินหน้าเตรียมสู่ศึกเลือกตั้งอย่างคึกคัก ล่าสุดมีการจัดกิจกรรมระดมทุน ภายใต้ชื่องาน “พลังประชารัฐ ใจบันดาลแรง” ที่โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ บางกอกแอนด์คอนเวนชันเซ็นทรัลเวิลด์ ไปอย่างยิ่งใหญ่ ระดมทุนกว่า 510 ล้านบาท โดยงานนี้ “บิ๊กป้อม” ย้ำจุดยืนว่า พรรคพลังประชารัฐพร้อมสานสัมพันธ์กับทุกฝ่าย เพื่อก้าวข้ามความขัดแย้ง

ขณะเดียวกัน “บิ๊กป้อม” ก็มีการลงพื้นที่เรียกเรตติ้งแบบฟิตจัด ทั้งการลงพื้นที่ราชบุรีโชว์ลีลาฟ้อนรำ หรือการลงพื้นที่นครปฐม ที่มีประชาชนเข้ามาหอมแก้มฟอดใหญ่ พร้อมเชียร์ให้เป็นนายกฯ รวมไปถึงการแต่งตัววัยรุนชุดแจ๊กเกตลายเสือ เดินตลาด อ.ต.ก.  ยิ้มแย้มทักทายพ่อค้าแม่ค้า โดยมีแฟนคลับรุมขอถ่ายเซลฟี่เพียบ

แต่ผลจากการลงพื้นที่ก็กลายเป็นประเด็นสุ่มเสี่ยง เมื่อ นายสมชัย ศรีสุทธิยากร ประธานยุทธศาสตร์ขับเคลื่อนนโยบายพรรคเสรีรวมไทย ออกมาชี้เป้าให้ กกต. ตรวจสอบ กรณีการลงพื้นที่ตรวจราชการเกี่ยวกับเรื่องน้ำของ “บิ๊กป้อม” ที่ราชบุรีในช่วงเช้า และในช่วงบ่ายมีการขึ้นเวทีแนะนำผู้สมัคร และขอให้ประชาชนเลือกพรรคพลังประชารัฐ อาจเข้าข่ายเป็นการหาเสียงในเวลาราชการอาจไม่เหมาะสม แม้จะมีการลากิจหรือลาป่วย รวมทั้งมีการใช้รถยนต์ใช้ทรัพยากรของรัฐในการเดินทางไปราชการที่ราชบุรี อาจจะเข้าข่ายการใช้ตำแหน่งหน้าที่ทางราชการ ในการเอื้อประโยชน์หาเสียงทางการเมืองให้พรรคการเมือง และผู้สมัครบางคน

ซึ่งงานนี้ ก็คงจะต้องรอกระบวนการการทำงานของ กกต. กันต่อไปว่า ท้ายที่สุดแล้วเรื่องนี้จะมีข้อสรุปอย่างไร นอกจากนี้จะมีรัฐมนตรี ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองรายอื่นโดนตรวจสอบในลักษณะเดียวกันนี้เพิ่มเติมหรือไม่

ปิดท้ายกันด้วยความเคลื่อนไหว “อุ๊งอิ๊ง” แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย ซึ่งเรียกได้ว่าหอบคณะลงเรียกเรตติ้งกระชับฐานเสียงกันอย่างต่อเนื่อง พุ่งเป้าตามแผนแลนด์สไลด์ ภายใต้คอนเซปต์เดินหน้าอุ้มท้องหาเสียง ถึงขั้นว่ามีสมาชิกพรรคเพื่อไทยบางคน ปราศรัยบนเวทีว่าน่าจะตั้งชื่อลูกของ “อุ๊งอิ๊ง” ว่า ด.ช.แลนด์สไลด์กันไปเลย

โดย “อุ๊งอิ๊ง” ยังคงยืนยันว่า ยังไม่เคยคุยกันเลย เกี่ยวกับโมเดลการจับมือทางการเมืองหลังเลือกตั้งระหว่างพรรคเพื่อไทยกับพรรคพลังประชารัฐ เพื่อนำ นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีกลับบ้าน พร้อมย้ำว่า จะไม่เอาพรรคการเมืองมาเกี่ยวข้อง ตนและพรรคเพื่อไทยขอมุ่งหน้าหาเสียงแก้ปัญหาให้พี่น้องประชาชน ไม่ใช่การนำ นายทักษิณ กลับประเทศไทย ซึ่งก็สอดรับกับคำพูดของ นายทักษิณ ที่ออกมาประกาศว่า จะกลับบ้านโดยไม่อาศัยพรรคการเมืองใดรวมถึงเพื่อไทย อาศัยแค่หัวใจตัวเอง จะไม่มีการออกกฎหมายให้ ไม่มีการเกี๊ยะเซียะกับพลังประชารัฐเพื่อออกกฎหมายแน่นอน

อย่างไรก็ตาม การโยนโจทย์ “พาทักษิณกลับบ้าน” ในครั้งนี้ คงจะต้องจับตาดูกันต่อไปว่าจะกลับมาในลักษณะไหนกันแน่ แต่ที่น่าสนใจไม่แพ้กันคือ การโยนโจทย์ดังกล่าวก่อนการเลือกตั้ง อาจจะส่งผลต่อแผนแลนด์สไลด์ของพรรคเพื่อไทยในทิศทางใด เพราะเสียงที่ยังไม่ได้ยิน ซึ่งเป็นส่วนใหญ่ของประเทศ โดยเฉพาะพื้นที่ภาคอีสานนั้น ก็ยังไม่รู้ว่าจะตอบรับการกลับมาของ นายทักษิณ อย่างไร

แต่หากจับสัญญาณจากการเลือกตั้งที่ผ่านมา เมื่อปี 2562 ก็พิสูจน์ได้ชัดว่าการชูโจทย์ “พาทักษิณกลับบ้าน” ยังคงได้รับการตอบรับผ่านการเลือกตั้งแบบถล่มทลาย ดังนั้นจึงต้องรอดูว่าในการเลือกตั้งครั้งนี้ โจทย์เดิมจะยังขายได้หรือไม่?

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้เริ่มมีการมองไกลไปถึงขั้นการจับขั้วตั้งรัฐบาลกันแล้ว โดยมองว่าหากศึกเลือกตั้งครั้งนี้ “บิ๊กตู่-บิ๊กป้อม” จับมือกันหลังเลือกตั้ง แต่คะแนนรวมของ 2 พรรคนั่งร้านอำนาจ ไม่สามารถสู้เกมแลนด์สไลด์ของพรรคเพื่อไทยได้ “บิ๊กป้อม” ก็จะพลิกขั้วไปร่วมจัดตั้งรัฐบาลกับพรรคเพื่อไทยแทน โดยมีตัวแปรสำคัญในสมการนี้คือ พรรคเพื่อไทย พรรคพลังประชารัฐ พรรคชาติไทยพัฒนา และพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งตามโมเดลนี้ จะส่งผลให้ “บิ๊กตู่” ตกไปเป็น “ฝ่ายค้านต่างขั้ว” ร่วมกับพรรคก้าวไกล และพรรคภูมิใจไทย

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น เมื่อการเลือกตั้งยังไม่เกิดขึ้น การติเรือทั้งโกลนคงจะไม่เหมาะ แต่ทันใดที่สังเวียนเลือกตั้งเปิดฉากขึ้น เมื่อนั้นอะไรก็เป็นไปได้!.