แม้การแพร่ระบาดโควิดได้บรรเทาเบาบางมานานแล้ว หลายคนโชคดีกลับมาใช้ชีวิตได้เป็นปกติ มีงาน มีเงิน มีรายได้เหมือนเดิม แต่มีคนอีกไม่น้อยที่โชคร้าย ต้องเผชิญวิบากกรรมจากโควิดไม่สิ้นสุด เป็นบาดแผลกัดกินชีวิตมาจนถึงทุกวันนี้ โดยเฉพาะปัญหาหนี้สิน เศรษฐกิจ ที่นับวันยิ่งมีแต่พอกพูน!!

ระเบิดเวลาเริ่มนับ

ต้องยอมรับว่าในช่วงปิดเมืองจากโควิด ประชาชนส่วนใหญ่ ยังไม่ต้องเผชิญปัญหาภาระหนี้ เนื่องจากรัฐบาลและแบงก์พาณิชย์ มีมาตรการออกมาช่วยเหลือ ทั้งให้เงินกู้ซอฟต์โลนดอกเบี้ยต่ำ การพักหนี้แบบชั่วคราว ทำให้ยังประคองตัวไปได้ แต่ ณ วันนี้ เมื่อมาตรการพักหนี้สิ้นสุด หนี้ที่เคยถูกแช่แข็งไว้ หรือเงินกู้ที่เคยขอมาใช้ช่วงโควิดก็ครบกำหนดเวลาชำระ กลายเป็นระเบิดเวลาให้หลายคน ต้องรับกรรมอย่างเลี่ยงไม่ได้ โดยเฉพาะคนหาเช้ากินค่ำ หรือธุรกิจรายเล็ก ๆ ที่ไม่สามารถกลับมาทำมาหากินได้ตามปกติ หรือทำแล้วยอดขายรายได้ก็ไม่ได้เท่าเดิม นั่งรอวันระเบิดตูมตามเท่านั้น

สถานการณ์เช่นนี้…เป็นที่มาให้รัฐบาลของ พล.อ.ประยุทธ์จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ต้องประกาศให้การแก้ไขหนี้เป็น “วาระแห่งชาติ” มาตั้งแต่ปีที่แล้ว โดยเน้นแก้ไขไปที่หนี้ของกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา หรือ กยศ. การไกล่เกลี่ยหนี้และการปรับโครงสร้างหนี้ การแก้หนี้เช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์ การแก้หนี้ข้าราชการ โดยเฉพาะข้าราชการครู การปรับลดและทบทวน โครงสร้างเพดานดอกเบี้ย ค่าธรรมเนียม การแก้หนี้บัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล การสนับสนุนให้ประชาชนรายย่อยและเอสเอ็มอี เข้าถึงแหล่งเงินทุน เป็นต้น

ทั้งหมด!! จะมี กระทรวงการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทย เป็นแม่งาน ผนึกกำลังร่วมกับมวลมิตรแบงก์รัฐ แบงก์พาณิชย์เข้ามาช่วยประคอง คนที่ยังเมาหมัดลุกขึ้นจากเตียงไม่ไหวให้มีลมหายใจต่อไป หากทิ้งไว้ตามยถากรรม อาจเสียหายใหญ่หลวงต่อระบบการเงิน เป็นวิกฤติเศรษฐกิจลูกใหม่มากกว่า จึงเป็นที่มาของการจัดงาน “มหกรรมร่วมใจแก้หนี้” เพื่อแก้ไขหรือปรับปรุงโครงสร้างหนี้ รวมถึงช่วยเหลือทางการเงินในหลายรูปแบบ ผ่านทั้งระบบออนไลน์ และสัญจรไปตามภูมิภาคหัวเมืองใหญ่ ๆ ครบทุกภาค

คิกออฟงานอุ้มลูกหนี้

มหกรรมแก้หนี้ครั้งนี้ ได้เริ่มต้น “คิกออฟ” แก้หนี้แบบออนไลน์ก่อนเมื่อวันที่ 26 ก.ย. 65 มีแบงก์ชาติและแบงก์พาณิชย์ เป็นแม่งานใหญ่ มีผู้ลงทะเบียนขอแก้ไขหรือปรับปรุงโครงสร้างหนี้ผ่านระบบออนไลน์กว่า 188,000 ราย คิดเป็นจำนวนรายการสะสมมากกว่า 413,000 รายการ ส่วนใหญ่เป็นลูกหนี้ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล 35% ภาคตะวันออกและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 31% และภาคอื่น ๆ 34% ของลูกหนี้ที่ลงทะเบียนทั้งหมด ประเภทสินเชื่อที่มีการลงทะเบียนสูงสุด คือ บัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล 75% สินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ 6% สินเชื่อรายย่อยอื่น 5% สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย 4% และสินเชื่ออื่น 10%

Free photo front view arrangement of economy elements

ไม่เพียงแค่ระบบออนไลน์เท่านั้น เพื่อให้โครงการนี้ถึงลูกหนี้ทั่วประเทศอย่างแท้จริง ก็มีการจัดงานแบบสัญจร 5 ครั้ง ทั้งที่กรุงเทพฯ ขอนแก่น เชียงใหม่ ชลบุรี และสงขลา มีประชาชนผู้ประกอบการ เข้าร่วม 34,000 รายการ คิดเป็นเงินมากกว่า 24,000 ล้านบาท แบ่งเป็นการขอรับคำปรึกษาด้านการเงินและแนวทางในการประกอบอาชีพมากที่สุด 13,000 รายการ การขอแก้ไขปัญหาหนี้สินที่มีอยู่เดิมมากกว่า 10,000 รายการ หรือกว่า 10,000 ล้านบาท การขอสินเชื่อเพิ่มเติมมากกว่า 4,000 รายการ คิดเป็นเงินมากกว่า 8,000 ล้านบาท และการร่วมกิจกรรมอื่น ๆ เช่น ผลิตภัณฑ์เงินฝากเพื่อส่งเสริมการออม การตรวจข้อมูลเครดิต การแนะแนวอาชีพ

วืดเป้าแก้หนี้ได้น้อย

เมื่อรวมยอดการจัดงานแก้หนี้ทั้ง 2 ส่วน มีผู้ที่เข้ามาใช้บริการมากถึง 4.47 แสนรายการ โดยคนหนึ่งอาจเป็นหนี้มากกว่า 1 รายการ ซึ่งถือว่ามีจำนวนไม่น้อยเลยทีเดียว เมื่อดูผลลัพธ์การแก้ปัญหาให้ลูกหนี้ กลับดูน่าผิดหวังไม่น้อย เพราะมีคนเข้าถึงไม่ถึง 20% ล่าสุด…กระทรวงการคลังตั้งโต๊ะแถลงระบุ สามารถแก้ปัญหาหนี้ไปได้เพียง 5 หมื่นรายการ และพบว่ามีถึง 1 แสนรายการ ที่ลงทะเบียนไว้แต่ติดต่อไม่ได้ อีก 1 แสนรายเข้ามาลงทะเบียนไว้ แต่ไม่เป็นไปตามเงื่อนไขที่กำหนด และส่วนที่เหลือ 1.5 แสนรายยังอยู่ระหว่างดำเนินติดตามการแก้ไข 

สาเหตุที่ทำได้ค่อนข้างน้อยและล่าช้า ส่วนหนึ่งเป็นเพราะการอ่อนประชาสัมพันธ์ของการจัดงาน ลูกหนี้จำนวนไม่น้อยไม่รับรู้ข้อมูล หลายคนยังเข้าใจผิดคิดว่ามาลงทะเบียนแล้วจะได้สินเชื่อดอกเบี้ยถูก หรือได้รับการช่วยเหลืออื่นจากรัฐ แต่ไม่ได้มีปัญหาหนี้จริง หรือเข้าข่ายที่ต้องได้รับการช่วยเหลือ รวมถึงแบบสอบถามข้อมูลก็ยังเข้าใจยาก โดยมีการสอบถามรายละเอียดมากเกินไป จนทำให้ลูกหนี้บางคน ลงข้อมูลไปได้ครึ่งทางก็กดออก หรือยกเลิก เป็นต้น

บิ๊กตู่สั่งเดินหน้าต่อ

ปัญหาที่เกิดขึ้นส่งผ่านเข้าไปถึงนายกรัฐมนตรีต้องกำชับในวง ครม. ให้เดินหน้าขับเคลื่อนมาตรการแก้ปัญหาหนี้สินครัวเรือนต่อไป ให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม ทั้งการสนับสนุนสินเชื่อเพิ่มเติม การสร้างรายได้เพิ่ม และการสร้างความรู้ทางการเงินให้กับประชาชนและผู้ประกอบการ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนให้มากที่สุด เพราะเท่าที่ผ่านมาต้องบอกว่า…การกำหนดแต่ละมาตรการออกมา ยังชกไม่ค่อยเข้าเป้าเท่าใดนัก!!

Free photo close-up hands holding wallet

ด้วยเหตุนี้ “ขุนคลัง-อาคม เติมพิทยาไพสิฐ” ประกาศทันทีว่า “สงครามแก้หนี้ยังไม่จบ” พร้อมบัญชาการให้บรรดาสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐทุกแห่ง เข้ามาเป็น “หัวหอก” เดินหน้าแก้หนี้ต่อไปจนถึงสิ้นปี 66 โดยทุกธนาคารทุกสาขา ต้องเปิดรับเรื่องช่วยเหลือประชาชน ขณะที่ลูกหนี้คนไหนที่มีข้อมูลอยู่แล้ว บรรดาเจ้าหน้าที่ธนาคารต้องเดินไป “เคาะประตู” ถึงหน้าบ้านกันทีเดียว ทั้งหลายทั้งปวงก็เพื่อให้สามารถแก้ปัญหาให้ทันที ด้วยเพราะคนเป็นหนี้หลบในมีอยู่ไม่น้อยทีเดียว

แต่ที่สำคัญที่สุดและน่าเป็นห่วงที่สุดคงหนีไม่พ้นเรื่องของ “ดอกเบี้ย” ที่กำลังขึ้นเอาขึ้นเอาตรงนี้กลายเป็นหอกข้างแคร่ที่คอยซ้ำเติมให้ลูกหนี้มีภาระหนักหนาสาหัสเข้าไปอีก เพราะอย่าลืมว่าที่ผ่านมาแบงก์พาณิชย์ ได้ประกาศขึ้นดอกเบี้ยเงินกู้ไปแล้ว 2 รอบ ขณะที่แบงก์รัฐก็อั้นไม่ไหวเพิ่งประกาศขึ้นดอกเบี้ยไป 1 รอบ เมื่อต้นเดือน ก.. ที่ผ่านมา และยังมีทีท่าจะขึ้นดอกเบี้ยได้อีกในอนาคตอันใกล้

เคาะ 3 ทางเร่งแก้ไข

ด้วยเหตุนี้สงครามแก้หนี้จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องเดินหน้าต่อ ก่อนปัญหาจะทับถมจนทำให้เศรษฐกิจต้องสะดุดกึกตามไปด้วย เพราะอย่าลืมว่าล่าสุดจำนวนหนี้ครัวเรือนที่แบงก์ชาติให้ข้อมูลไว้ ณ ไตรมาสสามของปีที่แล้ว พบว่ามีจำนวน 14.90 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็น 86.8% ต่อจีดีพี ทีเดียว ซึ่งมากกว่าสิ้นปี 64 ที่มี 14.58 ล้านล้านบาทด้วยซ้ำ โดยหนทางที่รัฐบาลพยายามเดินหน้าต่อไปจนถึงสิ้นปีนี้มีอยู่ 3 มาตรการ ที่บรรดาลูกหนี้ต้องอย่าหนีหายไปไหน แล้วหันมาพูดคุย มาสอบถามรายละเอียดเพื่อให้ชีวิตเดินหน้าต่อไปให้ได้

เริ่มจากมาตรการแรก คือ…การแก้หนี้อย่างยั่งยืน โดยธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินเฉพาะกิจ ซึ่งสนับสนุนให้สถาบันการเงินแก้ไขปัญหาหนี้สินและปรับปรุงโครงสร้างหนี้โดยช่วยลดภาระการจ่ายชำระหนี้ของลูกหนี้ที่มากกว่าการขยายระยะเวลาการชำระหนี้เพียงอย่างเดียวเพื่อให้สอดคล้องกับความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้อย่างแท้จริงและคำนึงถึงภาระของลูกหนี้ตลอดสัญญา ซึ่งมีระยะเวลาดำเนินมาตรการถึงสิ้นปี 66 นอกจากนี้กระทรวงการคลังได้กำหนดให้การดำเนินการตามแนวทางการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ดังกล่าวเป็นหนึ่งในตัวชี้วัดผลการดำเนินงานของสถาบันการเงินเฉพาะกิจทุกแห่ง

ต่อมา…คือ การที่แบงก์ชาติได้จัดช่องทางเสริมเพื่อให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ที่มีปัญหาการชำระหนี้อย่างต่อเนื่อง ได้แก่  1.ทางด่วนแก้หนี้ ซึ่งเป็นช่องทางเสริมออนไลน์สำหรับประชาชนที่ต้องการปรับโครงสร้างหนี้แต่ติดต่อเจ้าหนี้ไม่ได้หรือติดต่อแล้วแต่ยังไม่สามารถตกลงเงื่อนไขกันได้ 2.หมอหนี้เพื่อประชาชน เพื่อเป็นช่องทางให้คำปรึกษาเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาหนี้อย่างครบวงจรแก่ลูกหนี้รายย่อยและผู้ประกอบธุรกิจเอสเอ็มอี และ 3.คลินิกแก้หนี้ ซึ่งเป็นช่องทางปรับปรุงโครงสร้างหนี้ให้แก่ลูกหนี้รายย่อยที่มีหนี้เสียจากบัตรเครดิต บัตรกดเงินสด และสินเชื่อส่วนบุคคล ที่ไม่มีหลักประกัน ให้เข้ามาปรับหนี้ให้ดีขึ้น

ลุ้นไปต่อได้แค่ไหน?

สุดท้าย!! คือ แบงก์ชาติ จะเผยแพร่เอกสารทิศทาง ในเดือนก.พ. 66 เพื่อสื่อสารแนวทางการแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือนอย่างยั่งยืน รวมทั้งช่วยให้ทุกภาคส่วนเห็นทิศทางการดำเนินงานในระยะต่อไปและแก้ปัญหาได้อย่างตรงจุดมากขึ้น โดยเอกสารนี้ มีทั้ง…แนวทางการแก้ไขปัญหาหนี้ที่มีอยู่เดิม และการปล่อยหนี้ใหม่ให้มีคุณภาพในลักษณะการให้สินเชื่ออย่างมีความรับผิดชอบ รวมถึงการวางรากฐานที่จำเป็นอื่น ๆ เช่น การพัฒนาฐานข้อมูลให้มีข้อมูลหลากหลาย สะท้อนความเสี่ยงที่แท้จริงของลูกหนี้ การปลูกฝังให้ลูกหนี้มีวินัยทางการเงิน เป็นต้น

ณ เวลานี้ คงต้องรอดูชัด ๆ กันอีกครั้ง..ว่ามาตรการแก้หนี้ก๊อกสอง!!! ครั้งนี้ จะเพียงพอต่อการ “หยุด” ชนวนระเบิดเวลาหนี้ ตามเป้าหมายที่รัฐบาลวาดฝันไว้เพียงใด เพราะเอาเข้าจริงแนวทางปฏิบัติ ไม่ได้แตกต่างจากงานประจำ หรือมีอะไรที่แปลกใหม่หรือน่าดึงดูด!! ซึ่งถึงเวลาหรือยังที่ต้องมีมาตรการใหม่ให้เร้าใจท่ามกลางฤดูเลือกตั้งที่กำลังมาถึง!!.

จี้ประชาสัมพันธ์เชิงรุก

ธันวา พลายอุ้ม” พนักงานบริษัทเอกชนแห่งหนึ่ง ระบุว่า ตนเป็นหนี้สถาบันการเงินของรัฐ และสถาบันการเงินของเอกชน 3 แห่ง จากเดิมเคยเป็นหนี้สถาบันการเงินต่าง ๆ เกือบ 10 แห่ง เนื่องจากที่ผ่านมาโดนโกงจากเพื่อนร่วมงาน จึงทำให้มีหนี้สินเป็นจำนวนมาก แต่ก็ได้ผ่อนจ่ายมาเรื่อย ๆ จนตอนนี้เหลืออยู่ 3 แห่ง เรื่องมหกรรมร่วมใจแก้หนี้ เคยได้ยินบ้าง แต่ไม่แน่ใจว่า เริ่มโครงการเมื่อไร จึงอยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประชาสัมพันธ์เชิงรุกมากกว่านี้ เพื่อให้ลูกหนี้ต่าง ๆ ได้ทราบและได้เข้าไปปรึกษากับสถาบันการเงินได้ทันสถานการณ์

“เท่าที่ถามคนรอบข้างก็ไม่ค่อยรู้รายละเอียดเกี่ยวกับมหกรรมนี้ แต่ก็เชื่อว่าเป็นเรื่องที่ดีที่ภาครัฐลงมาทำโครงการลักษณะนี้ เพราะจะได้ให้ลูกหนี้ ที่ต้องทนแบกดอกเบี้ยสูง ๆ ได้รับการช่วยเหลือ เรื่องดอกเบี้ย เรื่องการผ่อนหนี้มากขึ้น โดยเฉพาะดอกเบี้ยจากสถาบันการเงินเอกชน ที่ค่อนข้างสูง เพื่อให้ลูกหนี้ ที่ได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจแย่ ขายของยาก กระทบจากการแพร่ระบาดโควิด–19 ได้ลดภาระลงบ้าง ขณะเดียวกันอยากให้ภาครัฐหาสินเชื่อให้ผู้ประกอบการคนตัวเล็ก ๆ ที่ไม่ค่อยมีหลักค้ำประกัน หรือได้รับผลกระทบจากโควิด ทำให้เป็นหนี้เสียบ้าง ได้เข้าถึงสินเชื่อเงินกู้ต่าง ๆ ได้มากกว่านี้ เพราะหลาย ๆ ที่พอไปกู้จริง ติดเงื่อนไขเยอะมาก เพื่อให้พวกเขานำเงินมาต่อยอดการขายของได้มากขึ้น จะได้ไม่ต้องไปพึ่งพาหนี้นอกระบบที่เสียดอกเบี้ยแพงมาก”

ควรมีมาตรการแก้หนี้ต่อ

ยุทธนา จันทร์อบ” พนักงานขายประกันบริษัทแห่งหนึ่ง บอกว่า จากนโยบายแก้หนี้ของทางรัฐบาลในช่วงโควิดที่ผ่านมา สามารถช่วยผ่อนผันการชำระหนี้ได้ระดับหนึ่ง อาทิ การพักชำระหนี้บ้าน รถ รวมทั้งการลดอัตราการชำระค่าบัตรเครดิตลง เพราะในช่วงโควิดถือเป็นช่วงที่ชีวิตวิกฤติมาก เนื่องจากไม่สามารถเดินทางไปพบปะลูกค้าที่ขายประกันได้ และไม่มีลูกค้าใหม่ ๆ เข้ามาเลย เพราะลูกค้าส่วนใหญ่ประหยัดค่าใช้จ่าย ไม่กล้านำเงินออกจากกระเป๋า และบางส่วน สนใจซื้อประกันแบบเจอจ่ายจบซึ่งถือเป็นแคมเปญของบริษัทอื่น ๆ เท่านั้น ทำให้โดยส่วนตัวซึ่งมีภาระค่าใช้จ่ายแต่ละเดือนที่สูงมาก ทั้งค่าบ้าน 2 หลัง ค่ารถ ค่าบัตรเครดิต ค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน และค่าเลี้ยงดูสมาชิกในครอบครัว แทบจะไม่มีรายได้เข้ามาเลยในช่วงนั้นถึงกับต้องคิดหนัก และเมื่อทางรัฐบาลมีนโยบายดังกล่าวขึ้นมา ถือว่าช่วยให้หมดกังวลในเรื่องภาระหนี้สินได้บ้าง และสามารถเอาเวลามาคิดหาหนทางในการหาอาชีพเสริมเพื่อประคองครอบครัวให้ผ่านอุปสรรคไปได้

นโยบายนี้เป็นเรื่องที่ดีและปีนี้ควรมีต่อเนื่องเพราะมองว่า ปัจจุบันคนไทยยังมีภาระหนี้ครัวเรือนที่สูงมากแม้จะมีนโยบายแก้หนี้ในช่วงที่ผ่านมา อีกทั้งเชื่อว่ายังมีคนไทยอีกหลายคนที่ยังไม่ฟื้นจากวิกฤติที่ผ่านมา เพราะจากค่าครองชีพที่เพิ่มขึ้นโดยเฉพาะในปี 65 ยิ่งทำให้ค่าใช้จ่ายเพิ่มมากขึ้น”

…ทีมเศรษฐกิจ…