เมื่อวันที่ 13 ก.พ. แฟนเพจเฟซบุ๊ก “สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย” ได้โพสต์ข้อความระบุว่า เมื่อวันศุกร์ที่ 10 กุมภาพันธ์ 2566 ที่ผ่านมา โครงการสำรวจพฤติกรรมสุขภาพของนิสิตนักศึกษาในมหาวิทยาลัย โดยสถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และมหาวิทยาลัยภาคีเครือข่าย 15 แห่งทั่วประเทศ จัดทำฐานข้อมูลสถานการณ์ด้านสุขภาพและเผยประเด็นความเสี่ยงด้านสุขภาพจิตของนิสิตนักศึกษาทั่วประเทศ พบนิสิตนักศึกษา ร้อยละ 30 รู้สึกเศร้าบ่อยครั้งถึงตลอดเวลา โดยมีสัดส่วนถึงร้อยละ 4.3 ที่ได้รับการวินิจฉัยแล้วว่ามีอาการทางจิตเวชอย่างโรคซึมเศร้า และโรคอารมณ์สองขั้ว (Bipolar) เกือบร้อยละ 40 มีความเครียดบ่อยครั้งถึงตลอดเวลา โดยกว่าร้อยละ 4 ของนิสิตนักศึกษาทั้งหมด เคยคิดฆ่าตัวตายอยู่บ่อยครั้งถึงตลอดเวลา ร้อยละ 12 ได้เคยลงมือทำร้ายร่างกายตนเองแล้ว โดยในจำนวนนี้มีถึงร้อยละ 1.3 ที่ได้ลงมือทำร้ายร่างกายตนเองบ่อยครั้งถึงตลอดเวลา

ศาสตราจารย์ ดร.นพ.นรินทร์ หิรัญสุทธิกุล รองอธิการบดี ด้านการติดตามและประเมินผลยุทธศาสตร์ แผน การงบประมาณ และสุขภาวะ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ชี้ให้เห็นถึงความสำคัญกับสถานการ์ของประเทศไทย พบข้อมูลสถานการณ์ในประเทศไทยที่สอดคล้องกับผลการวิจัยจากโครงการฯ และควรดึงวาระสถานการณ์สุขภาพจิต ทั้งภาวะเครียด และการฆ่าตัวตายของนิสิตนักศึกษา ขึ้นเป็นวาระแห่งชาติ

ทั้งนี้ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเองมีแนวทางการขับเคลื่อนการส่งเสริมสุขภาพนิสิต รวมถึงได้จัดทำฐานข้อมูลด้านสุขภาพของบุคลากรและนิสิต ซึ่งเป็นรูปแบบการทำงานเชิงรุกและป้องกันเฝ้าระวังสถานการณ์ด้านสุขภาพจิตภายในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย