เมื่อวันที่ 14 ก.พ. นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง และรักษาราชการแทนอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เปิดเผยว่าประเทศไทยได้เข้าสู่ฤดูกาลไฟป่าแล้ว ซึ่งพื้นที่น่าเป็นห่วงยังคงเป็นพื้นที่เดิมคือ 17 จังหวัดในภาคเหนือ ประกอบกับสถานการณ์ภัยแล้งปีนี้ต้องเจอกับปรากฏการณ์เอลนีโญ ซึ่งจะทำให้สถานการณ์ภัยแล้งก่อตัวมากขึ้น ส่งผลให้เชื้อเพลิง อาทิ เศษไม้ และใบไม้ จะเป็นเชื้อเพลิงอย่างดี ดังนั้นเวลาเกิดไฟป่าก็จะลุกลามเร็ว อีกทั้งปรากฏการณ์เอลนีโญ อาจทำให้ฤดูกาลไฟป่าขยายออกไปจนถึงกลางเดือน พ.ค. จากเดิมจะสิ้นสุดแค่ช่วงเดือน มี.ค. หรือ เม.ย. จึงต้องมีการเฝ้าระวังเรื่องไฟป่าปีนี้ เป็นพิเศษ เพราะปัญหาไฟป่าเป็นตัวการของปัญหาฝุ่น PM 2.5 ด้วยเช่นกัน

อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับว่าปัญหาไฟป่าทั้งหมดเกิดจากคน ไม่ว่าจะเป็นจากการจุดไฟในพื้นที่ไร่ จุดไฟในพื้นที่เขตป่า จุดไฟเพื่อล่าสัตว์ หรือเพื่อเก็บของป่า ซึ่งในเรื่องนี้ทางกรมฯ มีแนวทางลงโทษตั้งแต่สถานเบาไปจนถึงหนัก เริ่มตั้งแต่การตักเตือนจนถึงขั้นดำเนินคดีตามกฎหมาย โดยบทลงโทษของบุคคลใดที่เผาป่าในอุทยานแห่งชาติ วนอุทยาน สวนพฤกษศาสตร์ หรือสวนรุกขชาติ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 4-20 ปี หรือปรับตั้งแต่ 4 แสนบาท-2 ล้านบาท หรือทั้งจำ ทั้งปรับตามมาตรา 41 แห่งพ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 ซึ่งในแต่ละปีมีการดำเนินคดีไปกว่า 100 คดี

โดยที่ผ่านมาทางกรมฯ ยังได้ดำเนินมาตรการอื่นๆ ควบคู่กันเพิ่มเติม ทั้งการจัดทำแนวกันไฟในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา เพื่อลดความรุนแรงของไฟป่า หรือการเคลื่อนย้ายกำลังพลไปแก้ไขปัญหาไฟป่าในพื้นที่เกิดเหตุก่อน เพื่อแก้ไขปัญหาเรื่องเจ้าหน้าที่ ที่มีอยู่อย่างจำกัด รวมถึงขอความร่วมมือจากเครือข่ายชุมชน ซึ่งเป็นกลุ่มประชาชนที่อยู่ใกล้พื้นที่ป่า ในการเข้ามาช่วยดูแลป้องกันไฟป่า และดับไฟในกรณีที่เหตุไฟป่ายังอยู่ในช่วงเริ่มต้น กรมฯ จะสนับสนุนงบประมาณช่วยเหลือค่าปฏิบัติการพื้นที่ละ 5 หมื่นบาท ซึ่งวิธีเหล่านี้สามารถควบคุมการเกิดจุดความร้อน (Hot Spot) ได้เป็นอย่างดี

นายอรรถพล กล่าวอีกว่า ที่สำคัญปีนี้ทางกรมฯ ประสบความสำเร็จในการได้รับความร่วมมือจากภาคประชาชนและสังคม ในการจัดตั้งคณะกรรมการแก้ไขปัญหาร่วมกันระดับจังหวัด รวมถึงการจัดทำ War Room ในระดับพื้นที่ และ War Room ใหญ่ใน 17 จังหวัดภาคเหนือ ซึ่ง นายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้ทำพิธีเปิดเพื่อดำเนินการในช่วงที่ผ่านมา นอกจากนี้ยังได้ภาคเอกชนเข้ามาช่วยในเรื่องเสบียง อุปกรณ์จำเป็นสำหรับเจ้าหน้าที่ดับไฟป่า หรือบางรายมาช่วยเหลือในเรื่องของกระบวนการเชื้อเพลิง เช่น เอสซีจี ที่มีรับซื้อวัสดุเชื้อเพลิงต่างๆ ทั้งเศษไม้ ใบไม้ พืชผลทางการเกษตรที่ไม่ใช้แล้ว เพื่อนำไปอัดแท่ง และนำเข้าไปใช้ยังโรงไฟฟ้าชีวมวล เป็นการเสริมรายได้ให้ประชาชน รวมถึง ยังสนับสนุนการปลูกพืชผสมผสาน แทนการปลูกพืชเชิงเดี่ยว เพื่อสร้างรายได้ให้ประชาชนตลอดทั้งปี

“อย่างไรก็ตาม อยากฝากไปถึงประชาชนที่ทำเกษตร หรือทำอาชีพในพื้นที่ป่า ในช่วงนี้เป็นช่วงหน้าแล้ง อยากให้ช่วยกันระวัง ถ้าไม่จำเป็นอย่าจุดไฟ โดยเฉพาะในพื้นที่ป่า เพราะหากเกิดเหตุแล้วความสูญเสียจะประมาณค่าไม่ได้ แต่หากจำเป็นต้องจุดก็อยากให้แจ้งกำนัน หรือผู้ใหญ่บ้านก่อน หากผ่านการพิจารณาแล้ว จะมีการส่งเจ้าหน้าที่ไปชี้แจงถึงวิธีการจุดที่ถูกต้อง เพื่อควบคุมไฟไม่ให้เกิดการลุกลาม และหากพบเห็นเหตุลักลอบเผาป่า จุดไฟล่าสัตว์ สามารถแจ้งผ่านสายด่วนหมายเลข 1362 ได้ทันที” นายอรรถพล กล่าว.