ป่าเปลี่ยนสีของไทยหลายพื้นที่ขณะนี้เป็นจุดหมายเที่ยวชมครั้งนี้จึงนำเรื่องน่ารู้ใบไม้เปลี่ยนสีชวนใกล้ชิดธรรมชาติอีกยิ่งขึ้น โดย รศ.ดร.ฉัตรชัย เงินแสงสรวย อาจารย์ประจำภาควิชาพฤกษศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ให้ความรู้อธิบายการเปลี่ยนสีของใบไม้ว่า ประเทศไทยอยู่ในเขตร้อนซึ่งได้มีการจำแนกสังคมพืชในประเทศไทยหลัก ๆ เป็น ป่าไม่ผลัดใบ (Evergreen forest)และ ป่าผลัดใบ (deciduous forest) ซึ่งในที่นี้เรากำลังมองถึงการเปลี่ยนสีของใบไม้ในผืนป่า

รศ.ดร.ฉัตรชัย เงินแสงสรวย

“ป่าที่เปลี่ยนสีได้คือ ป่าผลัดใบ ได้แก่ ป่าเต็งรัง ป่าผสมผลัดใบหรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า ป่าเบญจพรรณ คำว่า ป่าที่เปลี่ยนสีในที่นี้คือ การเปลี่ยนสีของใบตามฤดูกาล โดยในช่วงฤดูฝนใบเขียวมีคลอโรฟิลล์ซึ่งเป็นสารสี สีเขียวมีสมบัติในการดูดพลังงานแสง (ดวงอาทิตย์) ใช้ในกระบวนการสังเคราะห์ด้วยแสง เกิดขึ้นในคลอโรพลาสต์เพื่อสร้างอาหารนำไปเลี้ยงส่วนต่าง ๆ สำหรับใช้ในการเติบโต ทั่วผืนป่าจึงมีสีเขียวชอุ่ม การเปลี่ยนสีใบไม้ในที่นี้เป็นเรื่องธรรมชาติ เป็นการปรับตัวทางสรีรวิทยาตามสภาพแวดล้อมและพันธุ์ไม้ โดยไม่ได้มองแค่ต้นหนึ่งต้นใดแต่เป็นทั้งผืนป่าที่เปลี่ยนสีในช่วงเวลาหนึ่ง

อาจารย์ประจำภาควิชาพฤกษศาสตร์ รศ.ดร.ฉัตรชัย อธิบายอีกว่า พืชสามารถสังเคราะห์แสงเพื่อสร้างอาหาร เก็บสะสมไว้เพื่อให้ดำรงชีวิตอยู่ได้ เป็นความสวยงามที่พบเห็นในช่วงฤดูฝน ต่อมาเมื่อเข้าสู่ฤดูแล้ง พืชจะมีการปรับตัวด้วยการผลัดใบเพื่อลดการคายนํ้า ส่วนที่เห็นใบมีสีเขียวจากที่กล่าวพืชมีคลอโรฟิลล์แต่ในเซลล์พืชนอกจากสารสีคลอโรฟิลล์ยังมีสารสีแคโรทีนอยด์ โดย สีแดง สีส้ม และ
สีเหลือง
ที่เห็นในใบไม้ แคโรทีนอยด์ แบ่งได้เป็นสองกลุ่มได้แก่ แคโรทีน และแซนโทฟิลล์ ซึ่งแคโรทีนจะให้สีแดงกับสีส้ม ส่วนแซนโทฟิลล์ ให้สีเหลืองหรือเหลืองออกนํ้าตาล ทั้งนี้ แคโรทีนและแซนโทฟิลล์ เป็นสารสีที่สลายตัวช้ากว่าคลอโรฟิลล์ ดังนั้นเมื่อเข้าสู่ฤดูแล้ง ราวเดือนธันวาคมถึงกุมภาพันธ์ ใบจึงเปลี่ยนเป็นสีส้ม สีแดงหรือสีเหลืองก่อนผลัดใบ เพื่อลดการคายนํ้า เป็นการปรับตัวเข้ากับสิ่งแวดล้อมซึ่งเกี่ยวข้องกับกระบวนการทางสรีรวิทยาดังที่กล่าว

ภาพ : กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช

ใบไม้เปลี่ยนสีที่ปรากฏเกิดขึ้นในหลายพื้นที่ อาทิ อุทยานแห่งชาตินํ้าหนาว จังหวัดเพชรบูรณ์ อุทยานแห่งชาติคลองลาน จังหวัดกำแพงเพชร ป่าสนวัดจันทร์ จังหวัดเชียงใหม่ ฯลฯ เป็นจุดหมายให้กับนักท่องเที่ยวใกล้ชิดธรรมชาติ เรียนรู้ธรรมชาติ ซึ่งใบไม้เปลี่ยนสีของไทยมีความสวยงามเป็นเอกลักษณ์ หรือในต่างประเทศในช่วงใบไม้เปลี่ยนสีก็เป็นจุดหมายเที่ยวชมความงามธรรมชาติเช่นกัน

“ป่าเต็งรังและป่าเบญจพรรณ พบมากทางภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยป่าเปลี่ยนสีจะเริ่มเห็นได้นับแต่ช่วงเดือนธันวาคมไล่เรื่อยมาถึงกุมภาพันธ์หรือมีนาคม โดยช่วงเดือนมกราคมบนยอดดอย พื้นที่สูงยังมีอากาศเย็นให้สัมผัส ขณะที่เดือนตุลาคม พฤศจิกายนในช่วงเวลานั้นผืนป่ายังมีความชื้นก็จะมีความสวยงาม ได้ชมพันธุ์ไม้ลานหิน ดอกไม้หลากสีสันในพื้นที่อุทยานฯ”

ภาพ : เฟซบุ๊ก อุทยานแห่งชาติภูหินร่องกล้า

รศ.ดร.ฉัตรชัย อธิบายอีกว่า พืชทุกชนิดจะมีการร่วงหล่นของใบตามอายุ แต่สำหรับพืชในป่าเต็งรังและป่าเบญจพรรณ จะเป็นการผลัดใบทั้งต้น การผลัดใบจะเปลี่ยนจากสีเขียว บางชนิดเปลี่ยนเป็นสีแดงก็มี หรือในบางชนิดเปลี่ยนจากสีเขียวค่อย ๆ กลายเป็นสีเหลือง ส้ม หรือสีเหลืองสด อย่างเช่น เต็ง ใบแก่ก่อนร่วงเป็นสีเหลือง สีส้มสีแดง รัง ใบแก่ก่อนร่วงสีแดงก่อนหล่นร่วงผลัดใบไปทั้งต้น กระโดน ใบแก่ก่อนร่วงสีแดง แต่บางชนิดเป็นสีเหลืองสวยงามก็มีอย่างเช่น มะกอก ใบแก่ก่อนร่วงสีเหลืองสด เป็นต้น

ส่วนการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศภาวะโลกร้อนอาจมีผลต่อการผลัดใบ บางปีหากแล้งมาเร็วการผลัดใบก็จะเลื่อนเร็วขึ้น ผลัดใบเดือนตุลาคม พฤศจิกายนซึ่งเป็นเดือนที่ยังมีความชื้นอยู่ก็ถือเป็นความไม่ปกติ ส่วนหลังจากผลัดใบแล้ว ต้นไม้หลายชนิดจะเริ่มผลิดอกผลิใบใหม่ซึ่งก็เป็นอีกความงาม เป็นมนต์เสน่ห์ของผืนป่า

“สีของใบอ่อนของต้นไม้บางชนิดมีสีเขียวอ่อน ๆ เมื่อมองไปทั้งผืนป่าก็สวยงาม อย่างที่กล่าว ต้นรัง ในช่วงผลิใบใหม่ ๆ ใบเป็นสีแดงและค่อยเปลี่ยนเป็นสีเขียว แต่พอจะผลัดใบก็เปลี่ยนกลับไปเป็นสีแดง สีส้ม ฯลฯ และสักพักจะติดผลเพื่อรอเวลา เมื่อผลแก่ฝนมา ต้นใหม่ก็งอกขึ้นมา ส่วนจะงอกสำเร็จหรือไม่นั้นมีปัจจัยอื่น ๆ เข้ามาเกี่ยวข้อง แต่ทั้งนี้ก็แสดงให้เห็นถึงการปรับตัวตามธรรมชาติ โดยแต่ละช่วงเวลาผืนป่ามีความงาม มีพลวัตมีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นตลอดเวลา ขึ้นอยู่กับปัจจัยสิ่งแวดล้อม

แต่ละฤดูกาลแต่ละช่วงเวลาป่าจึงมีความงามน่าหลงใหล หลังจากผลัดใบบางคนชอบดูดอกไม้ซึ่งบางชนิดจะออกดอกสะพรั่งไปทั้งต้นอย่างช่วงเดือนมกราคมเวลานี้และกุมภาพันธ์จะได้ชมความงามดอกนางพญาเสือโคร่ง หรือที่เรียกว่าชมพูภูพิงค์ โดยจะออกดอกสีชมพูสวยงาม”

ในช่วงเดียวกันยังมี เมเปิล ก่วมแดง ซึ่งสีสันสวยงามพบในหลายพื้นที่ เช่น อุทยานภูหินร่องกล้า อีกหนึ่งจุดชมใบไม้เปลี่ยนสี และ นอกจากความสวยงามที่เป็นจุดหมายด้านการท่องเที่ยวการเรียนรู้ธรรมชาติของพันธุ์พืชแล้ว ยังมีความสำคัญต่อการนำทรัพยากรนำพันธุ์พืชมาใช้ให้เกิดประโยชน์ อย่างเช่น หากต้องการทำอุโมงค์ต้นไม้ เมื่อมีความเข้าใจก็จะคัดเลือกต้นไม้นำมาใช้ได้อย่างเหมาะสม ส่งต่อการอนุรักษ์ สร้างความยั่งยืน

“ทรัพยากรพันธุ์พืชเป็นความสำคัญในระบบนิเวศซึ่งต้องรักษาไว้ การอนุรักษ์จึงไม่ได้หมายถึงการเก็บไว้อย่างเดียว ต้องมีการนำมาใช้ประโยชน์ในช่วงเวลาที่เหมาะสม และเกิดประโยชน์อย่างยั่งยืน ทั้งนี้ใบไม้เปลี่ยนสีในป่าเต็งรัง ป่าเบญจพรรณของไทยนอกจากที่ยกตัวอย่างมายังมีอีกหลายชนิด ยังมีไม้เล็กไม้น้อยที่น่าสนใจ บางชนิดมีเฉพาะในป่าเต็งรัง ขณะที่บางชนิดอาจขึ้นได้ทั้งป่าเต็งรังและป่าเบญจพรรณด้วยที่มีปัจจัยสิ่งแวดล้อมที่คล้ายคลึงกัน”

สำหรับพื้นที่ป่าทางภาคใต้จะไม่มีป่าเบญจพรรณหรือป่าเต็งรังสักทีเดียว แต่อาจมีต้นรังอยู่บ้างแต่จะไม่เป็นป่าใหญ่ ป่าทางภาคใต้จะมีความเขียวเป็นเอเวอร์กรีนฟอเรส ในเรื่องสีสันอาจไม่ใช่การเปลี่ยนสีของใบ แต่จะได้ชมเรือนยอดสวยงามลักษณะของป่าดิบชื้นไม่ผลัดใบ มีความเขียวตลอดปี ซึ่งต่างไปจากป่าทางภาคเหนือและภาคอีสาน

ในความสวยงามของป่าเปลี่ยนสีในไทยหลายพื้นที่เป็นพื้นที่กว้างและมีเอกลักษณ์ อีกทั้งชนิดพืชมีความหลากหลาย ซึ่งก็เป็นอีกสีสันความงามของฤดูกาล เสน่ห์ของธรรมชาติที่น่าหลงใหล.

ภาพโดย รศ.ดร.ฉัตรชัย

พงษ์พรรณ บุญเลิศ