“พี่จะพาน้องล่องใต้ไปเที่ยวทะเล นั่งเรือลงเลดำดูปะการัง …”  ระหว่างจัดกระเป๋าเดินทาง ก็ฮัมเพลงฮิตท่อนฮุกติดหูอย่างครึ้มอกครึ้มใจ เพราะวันรุ่งขึ้นมีแพลนเยือนเมืองลุงอย่างเป็นทางการ ในส่วนของการเดินทาง คนไม่ชอบขึ้นรถลงเรือหลายต่อ “รถไฟ” น่าจะสะดวกที่สุด แต่สำหรับคนเวลาน้อยก็เลือกตีตั๋วได้ตามใจชอบ จะลงที่สนามบินหาดใหญ่ จ.สงขลา หรือลงที่ จ.ตรัง แล้วหารถต่อเข้ามายังตัวเมืองพัทลุงก็สบายเช่นกัน

สำหรับเราแล้วขอนั่งเครื่องบินมาลงหาดใหญ่ พริบตาเดียวก็มาถึง ทันมื้อสายได้แวะกินติ่มซำเจ้าดังอย่าง “โชคดี แต่เตี้ยม” และซื้อขนมที่ตลาดกิมหยง ติดไม้ติดมือไว้กินเล่นระหว่างทาง พัทลุง เมืองเก่าแก่โบราณเมืองหนึ่งในภาคใต้ของประเทศไทย ได้ชื่อว่าเป็นเมืองขุนเขาอกทะลุ เพราะเมื่อขับรถเข้าสู่ตัวเมือง นักท่องเที่ยวทุกคนจะได้เห็นขุนเขาอกทะลุอยู่บริเวณกลางเมือง ซึ่งเป็นจุดเด่นประจำจังหวัดเลยก็ว่าได้

ตามหลักวิถีพุทธแล้ว เอาฤกษ์เอาชัยด้วยการไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมือง ดังนั้นจุดแรกที่แวะก็คือ “วัดคูหาสวรรค์” ศาสนสถานที่สำคัญในฐานะที่เป็นพระอารามหลวงแห่งแรกของจังหวัด ตั้งอยู่เชิงเขาคูหาสวรรค์ ใกล้ ๆ ตัวตลาดพัทลุง สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในราวพุทธศตวรรษที่ 13-15 นอกจากบรรยากาศที่ร่มรื่นและเงียบสงบภายในบริเวณวัดแล้ว ไฮไลต์ที่น่าชมของวัดนี้คือ “ถํ้าคูหาสวรรค์” หรือ “ถํ้าพระ” ภายในถํ้ามีพระพุทธรูปปางไสยาสน์องค์ใหญ่ และพระพุทธรูปปูนปั้นองค์เล็กทำจากดินเหนียว วางเรียงแถวเป็นระเบียบทางด้านทิศเหนือ ทิศใต้ และทิศตะวันตก รวม 37 องค์

ความโดดเด่นของถํ้าแห่งนี้ อยู่ที่บริเวณปากถํ้ามีจารึกพระปรมาภิไธยย่อของพระมหากษัตริย์ไทยถึง 3 พระองค์ด้วยกัน คือ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร พร้อมด้วย สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง

ไม่ไกลจากกันนักเป็นที่ตั้งของ ศาลหลักเมืองพัทลุง พัทลุงเป็นเมืองโบราณที่มีประวัติศาสตร์มายาวนาน แม้จะเคยมีหลักเมืองเป็นศูนย์กลางของเมืองมาก่อน แต่เนื่องจากมีการย้ายที่ตั้งหลายครั้งทำให้หลักฐานเกี่ยวกับหลักเมืองไม่ชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นที่โคกบางแก้ว เมืองเก่าชัยบุรี และ เมืองเก่าบ้านลำปำ กระทั่งครั้งสุดท้ายที่ย้ายมาอยู่ที่ตำบลคูหาสวรรค์ในปัจจุบัน คล้อยบ่ายจึงได้เช็กอินเข้าพัก โรงแรมดุสิต ปริ๊นเซส พัทลุง โรงแรมใหม่เอี่ยมที่เพิ่งแกรนด์โอเพนนิ่งปลายปีที่ผ่านมา พร้อมกับฝากท้องมื้อเย็นกับอาหารสไตล์ไทย-จีน ที่ร้านฉีเชี้ยว ตุนแรงไว้สำหรับวันถัดไป

โปรแกรมวันที่สอง ล้อหมุนตั้งแต่ฟ้ายังไม่สาง เพราะวันนี้มีนัดกับแสงแรกของพระอาทิตย์ยามเช้า ที่ “คลองปากประ” อ.ควนขนุน จ.พัทลุง สำหรับ “คลองปากประ” เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ที่เที่ยวได้ตลอดทั้งปี นับว่าเป็นจังหวะเหมาะแก่การนั่งเรือหางยาวล่องออกไปกลางทะเลสาบ เพื่อพบกับแสงอาทิตย์ ชมวิถีชีวิตการยกยอยักษ์ดักจับสัตว์นํ้าอย่าง “ปลาลูกเบร่” เพื่อหาเลี้ยงชีพของชาวบ้านประ ทั้งนี้ตรงท่าเรือปากประ ก่อนล่องเรือชมธรรมชาติจะมีเจ้าหน้าที่มาให้ข้อมูล รวมทั้งแนะนำข้อควรระวังคือ อย่าเผลอเอามือจับขอบเรือด้านนอก นั่งให้บาลานซ์ด้วยอิริยาบถสบาย ๆ จะได้ไม่เมื่อย เพราะต้องนั่งเรือนานถึง 2 ชั่วโมง สิ่งสำคัญต้องสวมเสื้อชูชีพเพื่อความปลอดภัย

แต่เพราะคืนก่อนมีฝนตกทำวันนี้ฟ้าเปิดช้ากว่าปกติ เข้าสโลแกน “ฝนแปดแดดสี่” ตามตำราฝนชุกของภาคใต้เป๊ะ!! ก็เอื้อให้มนุษย์อย่างเรา ๆ ยืดหยุ่นการใช้ชีวิตให้สอดคล้องกับธรรมชาติ ดังนั้นการนั่งเรือกลางแจ้ง นอกจากเตรียมอุปกรณ์ไว้บังแดดแล้ว เสื้อกันฝนหรือร่มก็เป็นสิ่งจำเป็นที่ควรพกพาติดตัวไว้

เรือหางยาววิ่งฝ่าฝนโปรยที่เริ่มหยุด ล่องมาถึงแหล่งธรรมชาติที่สำคัญระดับประเทศอย่าง “ทะเลน้อย” ซึ่งอยู่ในเขตห้ามล่าสัตว์ป่าทะเลน้อย พื้นที่ชุ่มนํ้าและทะเลสาบนํ้าจืดขนาดนับหมื่นไร่ที่เป็นอุทยานนกนํ้าทะเลน้อย “แรมซาร์ไซต์” แห่งแรกของประเทศไทย ใครอยากชมทุ่งบัวแดงล้านดอกบานสะพรั่ง ท่ามกลางฝูงนกอีกกว่า 287 ชนิด ต้องมาที่นี่ นอกจากชมความงามของดอกบัวแดงและแสงอาทิตย์ ทะเลน้อยยังมีสิ่งมีชีวิตอีกชนิด ที่น่าสนใจ นั่นคือ ควายนํ้า ปัจจุบันได้รับการขึ้นทะเบียนเป็น “มรดกโลกทางการเกษตร” แห่งแรกของไทย

สำหรับควายนํ้าทะเลน้อย ก็คือ “ควายบ้าน” ที่ชาวบ้านที่อาศัยอยู่รอบ ๆ ทะเลสาบนํ้าจืดแห่งนี้เลี้ยงไว้ใช้ทำการเกษตร ซึ่งจะลงมาเล่นนํ้า หาอาหารจำพวกสาหร่ายและสายบัวตั้งแต่เช้าตรู่ไปกระทั่งถึงสาย ทำให้ทะเลน้อยเต็มไปด้วยเสน่ห์ ว่ากันว่าฝูงควายเหล่านี้จะลอยคอเดินอยู่ในนํ้ากว่าสามพันตัว วิถีควายนํ้าจะมีตัวเมียเป็นหัวหน้าฝูง ชาวบ้านเรียกขานให้เป็น “แม่โยชน์” มีความฉลาดเฉลียวมาก ซึ่งจะรู้เดือน รู้ฤดูกาล และฟังเสียงคนได้ จุดที่หาได้ง่าย ๆ จะอยู่บริเวณใกล้กับสะพานเอกชัย แหล่งหากินหลักของควายนํ้า แต่จะเจอมากหรือน้อยตัวก็ต้องวัดดวงกัน!!! ซึ่งวันนี้นับได้ 9 ตัวเลขสวยกำลังดี

หากใครเดินทางมาเยือน “เมืองลุง” วันหยุดสุดสัปดาห์ ชวนแวะไปตลาดรักษ์โลกร้อยเรียงด้วยวิถีท้องถิ่น “หลาดใต้โหนด” อ.ควนขนุน จุดเริ่มต้นของกรีน มาร์เก็ต แห่งนี้เกิดจากความตั้งใจของ นิยุติ สงสมพันธุ์ ศิลปินชาวพัทลุง พลิกฟื้นผืนนาร้าง 8 ไร่ ที่มีเพียงต้นไทรกับต้นโหนดยืนต้น มาทำเป็นสถานที่พักผ่อนของชุมชน เริ่มต้นจากมุมของ “กนกพงศ์ สงสมพันธุ์” กวีซีไรต์ผู้ล่วงลับ กระทั่งขยับขยายกลายเป็นตลาดวันอาทิตย์ที่มีชื่อเสียง เปิดตั้งแต่ 08.00-17.00 น.

นิยุตินั่งตรงมุมร้านกาแฟที่ส่งกลิ่นหอมฉุยมาแตะจมูก กาแฟสายพันธุ์โรบัสต้ารสดุดันเข้มข้นจะถูกคั่วใหม่ทุกวันเสาร์เพื่อให้พร้อมเสิร์ฟเมนูเครื่องดื่มต่าง ๆ ในวันอาทิตย์ โดยเจ้าตัวเล่าว่า น้องชายผมเสียชีวิตเมื่อปี 2549 ผมกลับมาบ้าน เลยว่าจะทำมุมให้กนกพงศ์ไว้เพราะเป็นบ้านเกิด จะสร้างบ้าน เปิดร้านกาแฟ ไม่ได้มีความคิดว่าจะทำตลาด เพราะครอบครัวมาทางศิลปินกันส่วนมากเรื่องบริหารจัดการไม่ค่อยถนัด ก็คุยกันในครอบครัวว่านอกจากเราอยู่เอง พื้นที่มันกว้างและร่มรื่น น่าจะเป็นพื้นที่พักผ่อนของชุมชน ทำกิจกรรมให้เด็กมาเล่น แต่ 10 กว่าปีที่แล้วมันยังเป็นของใหม่ ไม่มีคนมา

“ผมไปที่เสียงตามสายของหมู่บ้านทั้งหมด บอกมาหน่อยนะ มีนํ้ากิน มีที่นั่ง มีหนังสือให้อ่าน กว่าคนจะมาร่วม 2-3 ปี ความน่าสนใจของหลาดใต้โหนดอันดับแรกที่คนพูดถึงคือ มันเป็นตลาดที่มีกิจกรรมและกลายมาเป็นคอนเซปต์โดยบังเอิญ ผมใช้หลักความจริงบริหาร ให้ “บุญนำ” แทน “เบี้ยนำ” คอนเซปต์ของตลาดมี 3 ข้อ คือ ผลิตเอง, ไม่ใช้สารเคมี และทำสด ถ้ามีความสดความอร่อยก็ตามมา การผลิตเองก็คือไม่ผ่านพ่อค้าคนกลาง จุดเด่นที่นี่คือ “ของถูก” เพราะเราตั้งราคาเอง รวมทั้งรณรงค์ให้ลดการใช้พลาสติก เปลี่ยนแพ็กเกจเป็นวัสดุธรรมชาติ เช่น ใบกล้วย ใบตอง”

ดังนั้นจะเห็นว่าตามมุมต่าง ๆ ของหลาดใต้โหนด จะมีตะกร้าวางไว้สำหรับจับจ่ายซื้อของแทนการใช้ถุงพลาสติก ตลาดแห่งนี้คลาคลํ่าไปด้วยร้านค้าจำหน่ายอาหาร ขนมพื้นบ้าน และผักพื้นบ้านร่วม 100 ร้าน เพลิดเพลินแบบอิ่มพุงอิ่มท้อง ไม่ว่าจะเป็นข้าวยำปักษ์ใต้ห่อใบตองรสเด็ด ผัดไทยกุ้งสด ไก่ย่างกอและนํ้าพริกกะลา ข้าวราดแกง นอกจากนี้ยังมีการแสดงดนตรีสดจากเด็กและเยาวชน การร่ายรำมโนราห์ศิลปะพื้นเมือง เป็นต้น

“กำไรของคนเรามันมีสองข้อให้เลือก ผมเลือกข้อสอง “บุญนำ” จะช้าหน่อย แต่มันสอดคล้องกับคำว่า “ชุมชนยั่งยืน” เรารู้สึกยินดีที่เห็นชาวบ้านมีรายได้ ก่อนหน้านี้ใน 14 จังหวัดภาคใต้ จังหวัดพัทลุงคนไม่ค่อยรู้จัก ส่วนใหญ่จะพูดถึงว่าคนยังเชย บ้าน ๆ คนดุบ้าง ส่วนใหญ่เป็นชาวนา ผมบอกขายตัวนี้แหละ ที่เขาบอกว่ามันบ้าน ๆ ขายเลย ขายความเป็นบ้าน ๆ แต่มันมีมูลค่า เราเห็นคุณค่ามัน” นิยุติกล่าวทิ้งท้าย

สถานที่ท่องเที่ยว “เมืองลุง” ยังมีนอกเหนือกว่านี้อีกมาก หากใครยังไม่เคยมาสักครั้ง ก็อยากเชิญชวนให้มาลอง เพราะเมืองรองแห่งนี้ เที่ยวสนุกและมีเสน่ห์…ไม่เป็นสองรองใคร.

ช้องมาศ พุ่มสวัสดิ์