เริ่มต้นด้วย “ศาลหลักเมืองปัตตานี” ศาลหลักเมืองเป็นที่เคารพสักการะของชาวเมืองปัตตานีและนักท่องเที่ยว แขกบ้านแขกเมืองที่
เดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในพื้นที่จังหวัดปัตตานีมักจะแวะสักการะเพื่อความเป็นสิริมงคล ก่อนจะไป “มัสยิดกรือเซะ” แหล่งท่องเที่ยวทางศาสนาที่มีความสวยงามและกลิ่นอายของวัฒนธรรมมุสลิม ศาสนสถานที่สร้างขึ้นในพุทธศตวรรษที่ 22 ร่วมสมัยกรุงศรีอยุธยา ตามแบบสถาปัตยกรรมของชาวตะวันออกกลาง

แวะเยี่ยม “บ้านขุนพิทักษ์รายา, บ้านเลขที่ 5” ตึกแถวที่มีการผสมผสานระหว่างสถาปัตยกรรมในท้องถิ่นและสถาปัตยกรรมจีน อายุประมาณ 90-120 ปี เป็นภาพสะท้อนความเจริญของเมืองในอดีตและการเข้ามาตั้งถิ่นฐานของชาวจีน ซึ่งได้มีการประยุกต์และปรับตัวให้เข้ากับการอยู่อาศัยในพื้นที่ชุมชนหัวตลาด ปัจจุบันได้รับการอนุรักษ์ไว้เป็นอย่างดี โดยได้รับรางวัลบ้านทรงคุณค่าปัตตานี ปี 2563 รางวัลอนุรักษ์สถาปัตยกรรม ปี 2563-2564 และรางวัลเกียรติยศ Award of Merit ประจำปี 2021 จาก UNESCO

ต่อด้วย “ตลาดวัฒนธรรมกือดาจีนอ” ที่อยู่ในย่านเดียวกัน ย่านหัวตลาดหรือย่านตลาดจีน เป็นพื้นที่ย่านการค้าและพักอาศัยของชุมชนชาวจีนกลุ่มแรก ๆ ที่เข้ามายังปัตตานี มีถนนปัตตานีภิรมย์ตัดเลียบขนานกับแม่นํ้าปัตตานีในสมัยรัชกาลที่ 5 พื้นที่ย่านหัวตลาด (กือดาจีนอ) เริ่มมีการพัฒนาและขยายตัวออกไปอย่างรวดเร็ว จากเดิมแรกเริ่มที่มี “ถนนอาเนาะรู” เป็นเส้นทางหลัก เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงจากพื้นที่เรือกสวนไร่นามาเป็นตลาดการค้าขายและการอยู่อาศัยของชุมชนชาวไทยและชาวจีนที่ต่อเนื่องกับชุมชนมลายูซึ่งอาศัยอยู่ทางด้านเหนือและด้านใต้ของย่าน โดยมีแม่นํ้าปัตตานีเป็นเส้นทางสัญจรทางนํ้าที่สำคัญต่อวิถีการดำรงชีวิตของผู้คนในย่านกือดาจีนอ

มาปัตตานีแล้วหากไม่ได้แวะเวียนไปขอทุนจาก “ศาลเจ้าเล่งจูเกียง” ศาลเจ้าเก่าแก่คู่บ้านคู่เมืองมาตั้งแต่โบราณสร้างมาตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนปลาย อาจจะเรียกว่ามาไม่ถึง ว่ากันว่าผู้มาขอพรให้โชคลาภก็ได้ผล หรือแม้แต่การค้าขายที่ซบเซาหรือขาดทุนก็กลับรุ่งเรืองขึ้น ใครเจ็บไข้ได้ป่วยหรือได้รับความเดือดร้อนประการใด เมื่อไปบนบานก็หายเจ็บหายป่วยพ้นจากความเดือดร้อน ชาวบ้านจึงขนานนามว่า “เจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว” ส่วนชื่อศาลเจ้าเล่งจูเกียงตามมาภายหลังมีความหมายว่า ศาลเทพเจ้าแห่งความเมตตา

อีกแห่งของปัตตานีที่ห้ามพลาดคือ “มัสยิดกลาง” ที่ได้รับการขนานนามว่าเป็น “ทัชมาฮาลเมืองไทย” ด้วยสถาปัตยกรรมที่สวยงามมีความโดดเด่น และยังเป็นศาสนสถานศูนย์รวมจิตใจของผู้นับถือศาสนาอิสลามในภาคใต้ที่สำคัญที่สุดแห่งหนึ่งรูปทรงภายนอกมีต้นแบบมาจากทัชมาฮาล มัสยิดกลางแห่งนี้ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจาก พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 เสด็จพระราชดําเนินมายังมัสยิด เมื่อวันที่ 21 ตุลาคม พุทธศักราช 2536 เพื่อทรงเยี่ยมเยียนผู้นําศาสนาอิสลามและชาวมุสลิม ทั้งมีพระราชกระแสรับสั่งให้บูรณะปรับปรุงมัสยิดเพิ่มเติมดังปรากฏจนปัจจุบัน

อีกแห่งที่ไม่ไปไม่ได้คือ “วัดช้างให้ราษฎร์บูรณาราม” เป็นศาสนสถานที่มีความเก่าแก่และมีตำนานว่าด้วยความศักดิ์สิทธิ์ของ “ท่านลังกา” หรือ “สมเด็จพระโคะ” หรือ หลวงพ่อทวดเหยียบนํ้าทะเลจืด เจ้าอาวาสองค์แรก เล่ากันว่า ครั้งที่ท่านเดินทางไปกรุงศรีอยุธยาด้วยเรือสำเภา ระหว่างทางเกิดพายุจนกระทั่งอาหารและนํ้าดื่มตกลงทะเลหลวงปู่ทวดจึงได้แสดงความเมตตา หย่อนเท้าลงไปในทะเล ปรากฏว่านํ้าในบริเวณนั้นได้กลายเป็นนํ้าจืดและดื่มกินได้ ตั้งแต่นั้นมาชื่อเสียงของท่านก็เป็นที่รู้จักและเคารพศรัทธาจากสาธุชนทั่วไทย

จากปัตตานีต่อไปที่ยะลา เริ่มต้นด้วย “ศาลหลักเมืองยะลา” จุดศูนย์กลางของผังเมืองรูปใยแมงมุมที่ถือว่าเป็นเมืองที่มีผังเมืองสวยที่สุดในประเทศ เป็นที่เคารพสักการะของชาวเมืองยะลา รวมถึงผู้มาเยือนที่แวะมาสักการะเพื่อความเป็นสิริมงคล

จากนั้นไปเยี่ยมเยือน “อุทยานการเรียนรู้ยะลา” (TK Park) อุทยานการเรียนรู้ส่วนภูมิภาคต้นแบบแห่งแรก โดยเป็นส่วนหนึ่งในโครงการเฉลิมพระเกียรติในโอกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ทรงครองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี ทำหน้าที่เป็นพื้นที่สำหรับการเรียนรู้สาธารณะสำหรับเยาวชนและประชาชนที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรมได้มีโอกาสเรียนรู้การอยู่ร่วมกัน แลกเปลี่ยนนวัตกรรม หลากสาขา และร่วมสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ให้เกิดขึ้นในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้

แล้วแวะไปลิ้มลองความอร่อยที่ร้านอาหารบ่อปลานิลสายนํ้าไหล (โกหงิ่ว) กับ “ปลานิลสายนํ้าไหลเบตง” ปลาเศรษฐกิจของอำเภอเบตงที่มีวิธีการเลี้ยงแบบระบบสายนํ้าไหล ด้วยความได้เปรียบของเกษตรกรอำเภอเบตงที่มีแหล่งนํ้าธรรมชาติจากภูเขานํ้าใสและไหลลงมาตามหมู่บ้าน อีกทั้งนํ้ามีความเย็นอุณหภูมิเฉลี่ย 19-20 องศาเซลเซียส และ “ปลาพลวงชมพูฮาลาบาลา” ปลาสวยงามที่มีความโดดเด่นเรื่องสีเกล็ดเป็นสีชมพู บริเวณครีบหลังและครีบเป็นสีแดง อาศัยอยู่ในบริเวณแหล่งนํ้าในพื้นที่จังหวัดยะลาและนราธิวาสโดยเฉพาะแม่นํ้า ปัตตานีและป่าฮาลาบาลา ได้รับการประกาศให้เป็นปลาประจำจังหวัดยะลาตั้งแต่วันที่ 19 มกราคม 2558 และเป็นปลาพลวงชนิดเดียวที่สามารถกินได้ทั้งเกล็ด โดยเกล็ดปลาอุดมไปด้วยคอลลาเจนสูง เนื้อปลามีลักษณะนุ่มขาวเหมือนสำลี รสชาติหวาน อร่อย ไม่มีกลิ่นคาวใช้ประกอบอาหารได้หลากหลายเมนู

ก่อนไปสัมผัสอากาศเย็นสบายที่ “สวนไม้ดอกเมืองหนาวเบตง” โครงการตามพระราชดำริที่สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงแนะนำแนวทางปลูกไม้เมืองหนาวขึ้น เมื่อครั้งเสด็จฯ เยือนครั้งแรกในปี 2537 เนื่องจากบริเวณหุบเขาส่วนนั้นอากาศหนาว ปลูกยางพาราไม่ได้ผล โครงการนี้เป็นโครงการที่ช่วยให้ผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย และอดีตชาวจีนมลายู ที่ตั้งเป็นกองกำลังต่อต้านรัฐบาลมาเลเซียอยู่ในแดนไทยเขตเบตงสมัยก่อน ออกจากป่ามาร่วมพัฒนาเศรษฐกิจท้องถิ่นให้มีรายได้และมีส่วนร่วมในการพัฒนาชาติไทย

กลับเข้ามาในเมืองเบตงแวะชม “อุโมงค์เบตงมงคลฤทธิ์ (ฝั่งไก่)” อุโมงค์ลอดภูเขาแห่งแรกของประเทศไทย เปิดใช้เป็นทางการ 1 มกราคม 2544 สร้างขึ้นเพื่อเชื่อมต่อระหว่างชุมชนเมืองเก่าเบตงกับชุมชนเมืองใหม่หมู่บ้านแกรนด์วิว เป็นสถานที่ท่องเที่ยวคู่เมืองเบตงอีกแห่ง

ไฮไลต์สำคัญที่ห้ามพลาดของยะลาก็คือ “Skywalk อัยเยอร์เวง” แลนด์มาร์คสำคัญของอำเภอเบตง ระเบียงทางเดินที่ยื่นออกไปจากฐานมีความยาวรวม 63 เมตร ส่วนปลายเป็นพื้นกระจกใสที่สามารถมองทะลุลงไปได้ถึงพื้นเบื้องล่าง ในช่วงพระอาทิตย์ขึ้นรับแสงแรกยามเช้าตรู่ของวันสกายวอล์กแห่งนี้จะถูกโอบล้อมไปด้วยทะเลหมอกอันงดงามที่สามารถชมได้ตลอดทั้งปี นอกจากนี้ยังสามารถชมวิวทิวทัศน์ของผืนป่าฮาลาบาลา ทะเลสาบเขื่อนบางลาง รวมถึงสามารถมองไปไกลได้ถึงประเทศมาเลเซียได้ด้วย

เดินทางต่อไปนราธิวาสแวะสักการะ พระพุทธรูปกลางแจ้งที่งดงามและใหญ่ที่สุดในภาคใต้ที่ “พุทธมณฑลจังหวัดนราธิวาส (พุทธอุทยานเขากง)” อ.เมืองนราธิวาส จ.นราธิวาส ซึ่งเป็นที่เคารพสักการะของชาวเมืองนราธิวาสและผู้มาเยือน ภายในมีการบรรจุพระบรมสารีริกธาตุอันศักดิ์สิทธิ์

สุดท้ายที่ “พิพิธภัณฑ์มรดกวัฒนธรรมอิสลาม และศูนย์การเรียนรู้คัมภีร์อัลกุรอาน” แหล่งเรียนรู้วัฒนธรรมลํ้าค่าซึ่งเป็นที่เก็บรวบรวมและอนุรักษ์คัมภีร์อัลกุรอานโบราณอันลํ้าค่าที่มีที่มาจากแหล่งต่าง ๆ ทั่วโลกอายุกว่า 1,000 ปี นอกจากนี้แล้วยังมีตำรายา ตำราดาราศาสตร์ และตำราต่าง ๆ ที่มีอายุเก่าแก่เช่นเดียวกัน นอกจากนี้ยังมีห้องจัดแสดงต่าง ๆ เพื่อแสดงเนื้อหาเกี่ยวกับการดำเนินชีวิตของชาวมุสลิมตามแนวทางที่ศาสนาอิสลามบัญญัติไว้ ปัจจุบันยังไม่เปิดให้เข้าชมเนื่องจากอยู่ระหว่างการก่อสร้างและจัดแต่งสถานที่ให้เสร็จสมบูรณ์.

อธิชา ชื่นใจ