การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) แจ้งว่า รฟท. ได้นำหุ่นยนต์ฆ่าเชื้อโรค (UV-C) ออกมาใช้งานฆ่าเชื้อโรคภายในขบวนรถโดยสาร และสถานีรถไฟอยู่เป็นประจำต่อเนื่อง โดยนำออกมาในช่วงเวลากลางคืน หรือเวลาที่ไม่มีประชาชนหรือผู้โดยสารอยู่ในพื้นที่แล้ว เพื่อให้เกิดความสะอาด ปลอดภัย และป้องกันไม่ให้รังสียูวีชี (UV-C) ที่มีความเข้มข้นสูงพิเศษ กระทบต่อผู้โดยสารและประชาชนผู้ใช้บริการ ซึ่งที่ผ่านมา รฟท. ได้จัดเก็บรักษาหุ่นยนต์ฆ่าเชื้อไว้เป็นอย่างดี เพื่อรอใช้งานตามวันที่กำหนดไว้ในแผนงาน ไม่ได้มีการวางทิ้งโดยไม่ได้ใช้งานแต่อย่างใด

ปัจจุบัน รฟท. ได้นำหุ่นยนต์ฯ มาใช้งานกับขบวนรถโดยสาร และตามสถานีต้นทาง/ปลายทางต่างๆ ดังนี้ 1.​สถานีกรุงเทพ 4 ตัว 2.​สถานีเชียงใหม่ 2 ตัว 3.​สถานีหนองคาย 2 ตัว 4.​สถานีอุบลราชธานี 2 ตัว 5.​สถานีชุมทางหาดใหญ่  2 ตัว 6.​สำนักงานและพื้นที่ปฏิบัติงานของพนักงาน รฟท. 3 ตัว และ 7.​สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ 5 ตัว ทั้งนี้หุ่นยนต์ดังกล่าวได้ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการ ความปลอดภัยต่อผู้ปฏิบัติงาน รวมถึงผู้โดยสารที่ใช้บริการอย่างชัดเจน

จากสถิติตั้งแต่นำหุ่นยนต์ฯ มาใช้งาน พบว่า จำนวนของผู้โดยสารที่เดินทางรถไฟกว่า 17 ล้านคน ไม่มีผู้โดยสารที่ติดเชื้อโควิด-19 จากการเดินทางโดยรถไฟ หรือมาใช้บริการที่สถานีเลย ถือเป็นความคุ้มค่าในการช่วยป้องกันยับยั้งการแพร่ระบาดในขณะนั้น และช่วยเพิ่มความปลอดภัย ลดความสูญเสียแก่ประชาชน ตลอดจนทำให้รถไฟ ยังเป็นระบบขนส่งสาธารณะที่เป็นที่พึ่งของประชาชน สามารถเปิดให้บริการได้อย่างต่อเนื่องตลอดเวลาในช่วงเกิดวิกฤติดังกล่าวด้วย

หุ่นยนต์ฆ่าเชื้อโดยใช้รังสียูวีซี (UV-C) ได้เริ่มจัดหาในช่วงปี 64 ซึ่งอยู่ในช่วงที่สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 แพร่ระบาดอย่างหนัก เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้โดยสารรถไฟที่ใช้บริการบนขบวนรถ และสถานี รวมทั้งดูแลผู้ปฏิบัติงานของ รฟท. ให้ลดความเสี่ยงจากการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 โดย รฟท. ดำเนินการตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการซื้อจัดจ้างและบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 เปิดให้เสนอราคา ประมูลแข่งขันอย่างเป็นธรรม ตามระเบียบอย่างเคร่งครัด มีการสอบราคาตามขั้นตอนที่ถูกต้อง โปร่งใส ครบถ้วน จนกระทั่งสามารถจัดหาหุ่นยนต์ฆ่าเชื้อไวรัสด้วยรังสีอัลตราไวโอเลต ซึ่งเป็นหุ่นยนต์ที่มีเทคโนโลยีทันสมัย 20 ตัว รวมวงเงิน 96.25 ล้านบาท

สำหรับหุ่นยนต์ฆ่าเชื้อโดยใช้รังสียูวีซี (UV-C) โดยใช้รังสีการฆ่าเชื้อด้วยรังสีอัลตราไวโอเลตชนิด C มีความสามารถในการทำลาย DNA และ RNA ของสิ่งมีชีวิตขนาดเล็กและเชื้อโรคต่างๆ ทั้งแบคทีเรีย ไวรัส สปอร์ของเชื้อ ไวรัสโควิด-19 ได้ดี และมีประสิทธิภาพ ค่าใช้จ่ายต่อครั้งต่ำกว่าการฆ่าเชื้อโรคโดยวิธีฉีดพ่นสารเคมี และการเช็ดทำความสะอาดด้วยแอลกอฮอล์ และไม่ทิ้งสารเคมีที่เป็นอันตรายไว้หลังการใช้งาน ซึ่งการจัดหาหุ่นยนต์ฯ วงเงิน 96.25 ล้านบาทนั้น ไม่ใช่แค่มูลค่าเฉพาะหุ่นยนต์ฆ่าเชื้อโรค 20 ตัว ยังรวมถึงการดูแลบำรุงรักษา การซ่อมแซม และรับประกันตลอด 2 ปีเต็ม และยังรวมถึงการถ่ายทอดองค์ความรู้ โดยจัดการอบรมการใช้งานหุ่นยนต์ให้กับเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการของ รฟท. 30 คน เพื่อให้ผู้ปฏิบัติงานมีความรู้ ความเข้าใจ และสามารถใช้งานหุ่นยนต์ฆ่าเชื้อฯ ได้จริง อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด

อย่างไรก็ตามเพื่อเป็นการสร้างความกระจ่างชัดเจน ในการจัดหาหุ่นยนต์ฆ่าเชื้อโรคมาใช้งานเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 และเชื้อโรคต่างๆ นายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่า รฟท. ได้แต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นมาติดตาม และประเมินผลการดำเนินการในด้านต่างๆ ของผู้เกี่ยวข้อง เพื่อแสดงจุดยืนว่า รฟท. ได้ยึดมั่นความโปร่งใส ซื่อสัตย์ มีธรรมาภิบาลในการปฏิบัติงาน ตลอดจนใช้งบประมาณอย่างคุ้มค่า มีประสิทธิภาพ เพื่อความปลอดภัย และประโยชน์สูงสุดต่อประชาชนผู้ใช้บริการ และประเทศชาติเป็นสำคัญ.