เมื่อวันที่ 16 ก.พ. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เฟซบุ๊ก “กรุงเทพมหานคร” ศูนย์ข้อมูลคุณภาพอากาศกรุงเทพมหานคร สรุปผลการตรวจวัด PM2.5 วันที่ 16 ก.พ. 66 เวลา 09.00-11.00 น. (3 ชั่วโมงล่าสุด) ตรวจวัดได้ 30-65 มคก./ลบ.ม. ค่าเฉลี่ยของกรุงเทพมหานคร 43.3 มคก./ลบ.ม. ค่า PM2.5 มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เกินมาตรฐานจำนวน 14 พื้นที่ อยู่ในระดับเริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ จำนวน 14 พื้นที่ คือ 1.เขตวังทองหลาง 2.เขตคลองสาน 3.เขตบางเขน 4.เขตสาทร 5.เขตบึงกุ่ม 6.เขตคลองสามวา 7.เขตสายไหม 8.เขตบางนา 9.เขตคันนายาว 10.เขตมีนบุรี 11.เขตประเวศ 12.เขตปทุมวัน 13.เขตหลักสี่ 14.เขตบางกอกใหญ่

โดยปัจจัยที่เกี่ยวข้อง (คาดการณ์แนวโน้มสภาพอากาศที่ส่งผลกระทบต่อฝุ่น PM2.5 โดยสภาพทางอุตุนิยมวิทยา) ในช่วงวันที่ 16-17 ก.พ. 66 อัตราการระบายอากาศ อ่อน/ดี มีฝนบางพื้นที่ อากาศแปรปรวน จะมีฝนฟ้าคะนองเกิดขึ้น เนื่องจากจะมีมวลอากาศเย็นระลอกใหม่ แผ่เสริมลงมาปกคลุมภาคอีสาน ทิศทางลมยังแปรปรวนในช่วงแรก ก่อนที่จะกลายเป็นลมตะวันออกเฉียงเหนือ (ลมหนาว) มีกำลังแรงขึ้น

กรุงเทพมหานครและปริมณฑล อุณหภูมิจะลดลง 1-4 องศาเซลเซียส ในช่วงนี้จึงควรเฝ้าระวังการสะสมตัวของฝุ่นละออง PM2.5 เนื่องจากมีแนวโน้มที่ความกดอากาศจะสูงขึ้น แต่ในช่วงวันที่ 18-22 ก.พ. 66 อัตราการระบายอากาศมีแนวโน้มลดลง เนื่องจากบริเวณความกดอากาศสูงกำลังค่อนข้างแรงจากประเทศจีนปกคลุม ส่งผลให้เกิดการสะสมของฝุ่นละออง PM2.5 มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น (จากวันก่อนหน้า) และวันนี้พื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑลมีเมฆบางส่วน ทั้งนี้ ระหว่างวันที่ 18-23 ก.พ. 66 พื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑลอาจมีแนวโน้มฝุ่นละอองขึ้นสูงได้ในบางพื้นที่ โดยเฉพาะวันที่ 19-20 ก.พ. 2566

จากการตรวจสอบข้อมูลจุดความร้อน (hotspot) ผ่านดาวเทียม จากหน่วยงาน NASA ไม่พบจุดความร้อนที่ดาวเทียมตรวจพบค่าความร้อนสูงผิดปกติจากค่าความร้อนบนผิวโลกบริเวณพื้นที่กรุงเทพมหานคร ประชาชนตรวจสอบข้อมูลคุณภาพอากาศก่อนออกจากบ้าน ผ่านทางแอพพลิเคชั่นหรือ LINE ALERT เพื่อวางแผนการทำงาน การทำกิจกรรมโดยเฉพาะในพื้นที่ที่คุณภาพอากาศอยู่ในระดับเริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ/มีผลกระทบต่อสุขภาพ ควรลดระยะเวลา หรืองดการทำกิจกรรมกลางแจ้ง กรณีพบเห็นแหล่งกำเนิดมลพิษสามารถแจ้งเบาะแส ผ่านทาง Traffy Fondue.