“ศูนย์วิจัยกสิกรไทย” รายงานเงินบาทสัปดาห์ที่ผ่านมา ทยอยอ่อนค่าต่อเนื่อง โดยแตะระดับอ่อนค่าสุดในรอบ 1 เดือนครึ่งที่ 34.62 บาทต่อดอลลาร์ โดยเงินบาทเคลื่อนไหวในกรอบแคบในช่วงต้นสัปดาห์ ก่อนจะพลิกอ่อนค่าลงในช่วงกลางสัปดาห

ขณะที่เงินดอลลาร์ ฟื้นตัวขึ้นอย่างแข็งแกร่ง หลังตัวเลขดัชนีราคาผู้บริโภคของสหรัฐ เดือน ม.ค. เพิ่มขึ้นมากกว่าที่ตลาดคาด ประกอบกับเจ้าหน้าที่ระดับสูงของเฟดยังคงส่งสัญญาณปรับขึ้นดอกเบี้ยอย่างต่อเนื่อง เพื่อสกัดเงินเฟ้อที่แม้จะมีทิศทางชะลอลงแต่ก็เป็นไปอย่างช้าๆ นอกจากนี้การอ่อนค่าของเงินบาทยังสอดคล้องกับสถานะขายสุทธิพันธบัตรไทยของนักลงทุนต่างชาติในระหว่างสัปดาห์ด้วยเช่นกัน

เงินบาทเผชิญแรงเทขายต่อเนื่องในช่วงปลายสัปดาห์ หลังมีปัจจัยลบเพิ่มเติมจากตัวเลขจีดีพีไตรมาส 4/65 ของไทยที่ขยายตัวเพียง 1.4% YoY ซึ่งต่ำกว่าตัวเลขคาดการณ์ของตลาดที่ 3.6% สวนทางเงินดอลลาร์ ที่มีปัจจัยบวกจากข้อมูลเศรษฐกิจ อาทิ การเพิ่มขึ้นของดัชนีราคาผู้ผลิตและการปรับลงของจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ ที่หนุนโอกาสการคุมเข้มนโยบายการเงินต่อเนื่องของเฟด

ในวันศุกร์ที่ 17 ก.พ. 2566 เงินบาทปิดตลาดที่ระดับ 34.60 บาทต่อดอลลาร์ (หลังแตะระดับอ่อนค่าสุดในรอบ 1 เดือนครึ่งที่ 34.62 บาทต่อดอลลาร์) เทียบกับ 33.79 บาทต่อดอลลาร์ ในวันศุกร์ก่อนหน้า (10 ก.พ.) สำหรับสถานะพอร์ตการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติระหว่างวันที่ 13-17 ก.พ. นั้น แม้นักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิหุ้นไทย 1,624 ล้านบาท แต่มีสถานะเป็น Net Outflows ออกจากตลาดพันธบัตรไทยต่อเนื่องอีก 15,405 ล้านบาท (ขายสุทธิ 10,980 ล้านบาท และตราสารหนี้หมดอายุ 4,425 ล้านบาท)

สัปดาห์ถัดไป (20-24 ก.พ.) ธนาคารกสิกรไทยมองกรอบการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทที่ระดับ 34.15-35.00 บาทต่อดอลลาร์ ขณะที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ สถานะการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติในตลาดการเงินไทยและทิศทางสกุลเงินเอเชีย

ขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐที่สำคัญ ได้แก่ ยอดขายบ้านมือสอง ยอดขายบ้านใหม่ และอัตราเงินเฟ้อที่วัดจากดัชนี PCE/Core PCE Price Index เดือน ม.ค. ดัชนีความเชื่อมั่นและตัวเลขคาดการณ์เงินเฟ้อในมุมมองของผู้บริโภคในเดือน ก.พ. ตัวเลขจีดีพีไตรมาส 4/65 (preliminary) และจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ รวมถึงบันทึกการประชุมเฟดเมื่อวันที่ 31 ม.ค.-1 ก.พ. นอกจากนี้ตลาดยังรอติดตามการกำหนดอัตราดอกเบี้ย LPR ของจีน อัตราเงินเฟ้อเดือน ม.ค. ของยูโรโซน รวมถึงดัชนี PMI ภาคการผลิต/บริการเบื้องต้นสำหรับเดือน ก.พ. ของยูโรโซน อังกฤษ และสหรัฐ ด้วยเช่นกัน