รายงานข่าวจากกรมทางหลวง (ทล.) แจ้งว่า สำนักสำรวจและออกแบบ ได้ดำเนินการประชุมสรุปผลการศึกษาโครงการ (สัมมนา ครั้งที่ 3) โครงการจ้างวิศวกรที่ปรึกษาสำรวจและออกแบบทางแยกต่างระดับจุดตัดทางหลวงหมายเลข 22 กับทางหลวงหมายเลข 241 และทางหลวงหมายเลข 2347 (แยกบ้านธาตุนาเวง) ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร จ.สกลนคร เมื่อเดือน ก.พ. ที่ผ่านมา พบว่า ผู้ประชุมเห็นด้วยกับโครงการ เพราะจะทำให้การเดินทางบริเวณแยกมีประสิทธิภาพมากขึ้น เพิ่มความปลอดภัยและลดอุบัติเหตุ

โดยสรุปผลการศึกษาโครงการดังกล่าว ช่วง กม.153+870-กม.155+325 (ทล.22) และ กม.0+000-กม.1+030 (ทล.2347) และ กม.0+000-0+093 (ทล.241) ระยะทางรวม 2.578 กม. พื้นที่ ต.ธาตุนาเวง อ.เมือง จ.สกลนคร รูปแบบที่มีความเหมาะสมกับพื้นที่โครงการมากที่สุด ได้แก่ อุโมงค์+สัญญาณไฟจราจร ทิศทางขาเข้าและขาออกตัวเมืองสกลนคร ไปยัง จ.อุดรธานี เพียงอย่างเดียว

โดยรูปแบบจะก่อสร้างทางลอดแยกบ้านธาตุ บน ทล.22 และ ทล.2347 ความยาวประมาณ 492 เมตร มีขนาด 4 ช่องจราจร (ไป-กลับ จ.อุดรธานี เข้าเมืองสกลนคร) ฝั่งละ 2 ช่องจราจร มีความกว้างช่องละ 3.50 เมตร พร้อมทางเท้ากว้าง 1.00 เมตร ความสูงช่องลอดใต้สะพานไม่น้อยกว่า 5.50 เมตร ส่วนถนนด้านบนออกแบบเป็นถนนขนาด 8-10 ช่องจราจร พร้อมทางเท้ากว้าง 3.45 เมตร ทั้งสองฝั่งทางหลวง โดยยังคงท่อระบายน้ำใต้ทางเท้าไว้ดังเดิม พร้อมออกแบบระบบไฟฟ้าแสงสว่าง และได้ออกแบบปรับปรุงผิวจราจรบริเวณทางแยกเป็นถนนผิวจราจรคอนกรีตเสริมเหล็กบน ทล.22 ทล.2347 และ ทล.241

นอกจากนี้บริเวณทางแยกบนอุโมงค์ทางลอดจะอำนวยการจราจรโดยใช้สัญญาณไฟจราจรแบบระบบควบคุมไฟสัญญาณอัจฉริยะ (Adaptive Control System) ซึ่งเป็นระบบควบคุมสัญญาณไฟจราจร ที่สามารถปรับเปลี่ยนได้อัตโนมัติตามสภาพการจราจรแบบเรียลไทม์ ผ่านทางระบบตรวจสอบสภาพการจราจร (Detection System) ซึ่งสามารถเดินทางผ่านทางแยกได้อย่างสะดวกและคล่องตัวมากขึ้น โดยมีแนวคิดออกแบบให้กระแสจราจรบน ทล.2347 ตรงไปยัง ทล.22 (ทิศทางจากตัวเมืองสกลนครไป-กลับ จ.อุดรธานี) ซึ่งเป็นทิศทางที่มีปริมาณจราจรค่อนข้างสูงให้เดินทางได้อิสระ เดินทางผ่านทางแยกได้สะดวกคล่องตัวขึ้น แก้ไขปัญหาจราจรบริเวณทางแยกได้อย่างมีประสิทธิภาพ และปลอดภัยต่อผู้ใช้เส้นทาง

ทั้งนี้ ได้ออกแบบจุดกลับรถ (U-Turn) ไว้บนทางลอดทั้ง 2 ด้าน รวมทั้งบริเวณถนนด้านบนได้ออกแบบเป็นทางเท้ากว้าง 3.45 เมตร (บริเวณด้านนอกทั้งขาเข้าเมืองและขาออกเมือง) ส่วนบริเวณในทางลอดออกแบบทางเท้ากว้างด้านละ 1.00 เมตร รวมถึงการวางระบบระบายน้ำ ป้องกันน้ำท่วม การจัดจราจรระหว่างก่อสร้าง และดำเนินการทางด้านสิ่งแวดล้อม

เมื่อผลการศึกษาแล้วเสร็จ จากนั้นในปีงบประมาณ 67 จะดำเนินการศึกษารายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) ระยะเวลา 1 ปี ก่อนเตรียมของบประมาณก่อสร้างในปี 69 จำนวน 800 ล้านบาท คาดแล้วเสร็จปี 71 ใช้เวลาประมาณ 2 ปี โครงการดังกล่าวไม่มีการจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน (เวนคืน) เนื่องจากใช้พื้นที่เขตทางหลวงในการก่อสร้างทั้งหมด

แยกบ้านธาตุเป็นทางแยกจุดตัด ทล.22 กับ ทล.241 และ ทล.2347 ซึ่งเป็นจุดตัดทางแยกที่มีปริมาณจราจรหนาแน่น เกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้ง เนื่องจากเป็นแนวเส้นทางการขนส่งสินค้า เส้นทางสัญจรระหว่างจังหวัด เป็นที่ตั้งสถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษา สภาพทางแยกในปัจจุบันเป็นทางแยกที่ควบคุมการจราจรด้วยสัญญาณไฟจราจร เมื่อโครงการแล้วเสร็จจะช่วยอำนวยความสะดวกด้านจราจรให้มีประสิทธิภาพสูงสุด แก้ปัญหารถติด ลดการเกิดอุบัติเหตุบริเวณสี่แยกบ้านธาตุ เกิดความสะดวก ปลอดภัยในการเดินทางกับผู้ใช้ทางและประชาชนในพื้นที่โดยรอบ เป็นประโยชน์ต่อการคมนาคมขนส่งและรองรับการขยายตัวของชุมชนเมือง

โครงการนี้ ทล. ได้ว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษา บริษัท วิศวกร 31 จำกัด ร่วมกับ บริษัท สิ่งแวดล้อมสยาม จำกัด ให้สำรวจและออกแบบทางแยกต่างระดับแยกบ้านธาตุ ด้วยงบประมาณศึกษาประมาณ 9.6 ล้านบาท เริ่มวันที่ 1 มี.ค. 65 สิ้นสุด 23 ก.พ. 66 ระยะเวลา 360 วัน