เมื่อช่วงค่ำวันที่ 3 มี.ค. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา ได้เผยแพร่ ประกาศคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เรื่อง จำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้งและเขตเลือกตั้งของแต่ละจังหวัดจะพึงมี โดยคำนวณจากจำนวนราษฎรสัญชาติไทยทั่วราชอาณาจักร ณ วันที่ 31 ธ.ค. 2565 มีจำนวน 65,106,481 คน ซึ่งจำนวนราษฎรโดยเฉลี่ย 162,766 คน ต่อสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหนึ่งคน ทั้งนี้สำหรับจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและเขตเลือกตั้งของแต่ละจังหวัดที่คำนวณจากจำนวนราษฎรสัญชาติไทย ทำให้จำนวน ส.ส. เปลี่ยนแปลงใน 8 จังหวัด แบ่งเป็นจังหวัดที่มีจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ลดลง 4 จังหวัด ประกอบด้วย เชียงราย เชียงใหม่ ตาก และสมุทรสาคร ส่วนจังหวัดที่มีจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เพิ่มขึ้น 4 จังหวัด ประกอบด้วย อุดรธานี ลพบุรี นครศรีธรรมราช และปัตตานี

อย่างไรก็ตาม ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายกิตติพงษ์ บริบูรณ์ รองเลขาธิการ กกต. ปฏิบัติหน้าที่แทนเลขาธิการ กกต. มีหนังสือด่วนที่สุดถึงผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำจังหวัดและกรุงเทพมหานคร แจ้งกรณี กกต. ได้ออกประกาศยกเลิก ประกาศ กกต. เรื่องการแบ่งเขตเลือกตั้ง ส.ส. 2560 และประกาศ กกต. เรื่องจำนวน ส.ส. แบบแบ่งเขตเลือกตั้ง และเขตเลือกตั้งของแต่ละจังหวัดจะพึงมีใหม่ พร้อมกับ กกต. ให้ความเห็นชอบกรอบระยะเวลาการแบ่งเขตเลือกตั้ง ส.ส. โดยขอให้ผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำจังหวัดและกรุงเทพมหานคร ยกเว้น จ.ตราด ระนอง สมุทรสงคราม และสิงห์บุรี ดำเนินการปิดประกาศเขตเลือกตั้งไว้ที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัดและเผยแพร่ทางเว็บไซต์ของสำนักงาน กกต. ประจำจังหวัด เพื่อรับฟังความคิดเห็นของพรรคการเมืองและประชาชนในจังหวัดใหม่อย่างน้อย 3 รูปแบบ เป็นเวลา 10 วัน คือ ตั้งแต่วันที่ 4-13 มี.ค. และเมื่อครบกำหนดระยะเวลาดำเนินการ ให้สรุปความเห็นของพรรคการเมืองและประชาชนและเสนอรูปแบบการแบ่งเขตเลือกตั้งพร้อมข้อเสนอแนะให้ กกต. พิจารณา และให้ผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำ จ.ตราด ระนอง สมุทรสงคราม และสิงห์บุรี ซึ่งทั้งจังหวัดเป็นเขตเลือกตั้ง ได้ปิดประกาศเขตเลือกตั้งให้พรรคการเมืองและประชาชนในจังหวัดทราบ

ทั้งนี้ ตามกรอบระยะเวลาการแบ่งเขตเลือกตั้ง ส.ส. กรณีใช้จำนวนราษฎรสัญชาติไทยที่ กกต.ให้ความเห็นชอบนั้น นอกจากกำหนดเปิดรับฟังความคิดเห็นของพรรคการเมืองและประชาชนในพื้นที่ตั้งแต่วันที่ 4 -13 มี.ค. แล้ว ยังกำหนดว่าวันที่ 14-15 มี.ค. เป็นช่วงที่ กกต. พิจารณารูปแบบการแบ่งเขตเลือกตั้งและวันที่ 16 มี.ค. ประธาน กกต. ลงนามในประกาศแบ่งเขตเลือกตั้ง.