หลังธุรกิจโรงหนังเหลือยักษ์ใหญ่เพียง 2 ค่าย มีการจัดโปรโมชั่นลดราคาค่าตั๋วแถมเพิ่มรอบให้หนังเรื่องหนึ่งที่เป็นทุนของบริษัทลูก ขณะที่อีกหนึ่งเรื่องอยู่นอกทุนอื่นเพิ่งเข้าแต่ถูกตอนหั่นรอบฉาย ทั้งที่ทั้งหมดก้าวเดินไปกันได้ แบบ “win-win” โดยการจัดระเบียบของภาครัฐ

“อย่างในต่างประเทศไม่ว่าที่เป็นประเทศพัฒนา หรือประเทศใหญ่ อาทิ สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย จีน หรือ เกาหลีใต้ ก็ต้องมีการเข้ามาคานอำนาจและบาลานซ์ถ่วงดุลกันในอุตสาหกรรมผู้ผลิตภาพยนตร์และโรงภาพยนตร์ ทั้งหมดก็เป็นไปเพื่อการเติบโตของอุตสาหกรรมในประเทศที่ต้องรักษาหลากหลาย ส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์ พร้อมกับแปรเปลี่ยนนำเสนอเป็นมูลค่าทั้งในและนอกประเทศอย่างยั่งยืน”

“กรณีแบบนี้มีมานานแล้ว เพียงแต่มักเป็นประเด็นระหว่างหนังไทยกับหนังบล็อกบัสเตอร์ ที่หนังไทยมักถูกถอดออกเร็วและลดรอบฉายจากโรงภาพยนตร์ ขณะที่หนังบล็อกบัสเตอร์ที่กระแสดีๆ เพิ่มรอบเพิ่มโรงฉาย ซึ่งครั้งนี้ที่มีกระแสคนพูดถึงเยอะสาเหตุเกิดจาก หนังไทยกับหนังไทย ที่มาชนกันเอง” ดร.มาโนช ชุ่มเมืองปัก หัวหน้าสาขาภาพยนตร์และสื่อดิจิทัล คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (DPU) กล่าวเริ่มต้นกระแสวิพากษ์วิจารณ์ที่กำลังเป็นประเด็นร้อนของผู้คนในสังคม แตกออกเป็นเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย 2 ฝ่าย มาจากโครงสร้าง “คอขวด”

ต้นตอปัญหา” จำนวนผู้เล่นในกลุ่มโรงภาพยนตร์

“เป็นเรื่องของโครงสร้างธุรกิจภาพยนตร์บ้านเรามีโครงสร้างแบบคอขวด โดยลักษณะธุรกิจภาพยนตร์มีต้นน้ำ (ผู้ผลิต) กลางน้ำ (ผู้นำเข้าและจัดจำหน่าย) ปลายน้ำ (โรงฉาย) ซึ่งตอนนี้ตรงปลายน้ำ มีลักษณะแคบมาก ตลอดเกือบ 20 ปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะหลังจาก Major Cineplex Group กับ EGV ควบรวมกิจการกัน ส่งผลให้เป็นผู้เล่นรายใหญ่ที่ครองตลาดประมาณ 80% ขณะที่อีกฝั่งคือ SF Cinema มีส่วนแบ่งการตลาด 14-15% และโรงหนังเล็กๆ โรงอิสระ 4-5% ส่งผลให้โรงภาพยนตร์จะมีอำนาจค่อนข้างมาก ในการเลือกหนังเรื่องไหนควรจะอยู่หรือไป เรื่องไหนฉายได้มากเรื่องไหนได้น้อย มันก็เลยเกิดปัญหา เราจึงได้ยินเสมอหนังทำออกมาไม่มีโรงฉาย หรือเข้าไป 3-4 วัน ก็ลดรอบฉายแล้ว มันทำให้เขาไม่สามารถที่จะได้ทุนคืน ได้กำไรได้ เพราะโรงภาพยนตร์ไม่ได้ให้พื้นที่ในโรงฉายแก่เขา อันนี้เป็นเรื่องที่คนในวงการพยายามเรียกร้องและจัดเสวนาพูดคุยทางออกตลอด”

“ถ้าเรามองในมุมมองของผู้ชม อาจจะรู้สึกว่ามีโรงหนังเยอะ อยากดูอะไรก็เลือกได้ ไม่เห็นต่างจากเดิม ซึ่งแท้ที่จริงแล้วถ้าเราดูจากโครงสร้างจริงๆ มันมี 2 เจ้าหลักๆ ทำให้เวลาจัดรอบฉายก็จัดรอบด้วยวิธีคิดแบบเดียว หนัง 3-4 วัน ไม่ทำรายได้ก็ถูกถอดทิ้ง เปิดทางให้ทางหนังใหญ่บล็อกบัสเตอร์ที่กระแสดีๆ มีกระแส ผู้บริโภคเหมือนจะมีทางเลือก แต่เป็นทางเลือกภายใต้ข้อจำกัดที่ถูกกรองเอาไว้ ซึ่งเรื่องตัวรายได้ด้วยความเป็นธุรกิจผู้บริหารเขาก็ต้องมองคำนึงถึง กำไร รายได้ เป็นสำคัญ”

คำถามที่ตามมาในกระแสดราม่าคือ ดีไม่ดี? ในสิ่งที่เกิดขึ้น ดร.มาโนช บอกว่า ให้ดูที่จุดยืนที่เรามองต่อ “ภาพยนตร์” หากมองในแง่ว่า ภาพยนตร์ ก็คือสินค้าอย่างหนึ่ง เหมือน สบู่ ยาสีฟัน ของกินของใช้ ก็เป็นเรื่องของกลไกทางตลาดที่สมเหตุสมผล ทว่าหากมองภาพยนตร์เป็นสินค้าทางวัฒนธรรมหรือมีคุณค่าและอิทธิพลต่อสังคม รวมทั้งเศรษฐกิจในวงที่กว้างขึ้น “ผู้บริโภค” คนดูชมหนังจะเป็นฝ่ายที่ได้รับผลกระทบหากเกิดเรื่องแบบนี้

ดร.มาโนช ขยายความต่อไปว่า

1.ระยะสั้น คนทำหนังไทยอาจค่อยๆ ลดลงและจะหมดไป ซึ่งบางคนอาจจะไม่แคร์ แต่ก็ต้องบอกว่าหนังไม่ได้มีประเภทเดียวและหนังดีไม่ดีมันก็มีอยู่ที่มุมมอง มันมีหลากหลายเหตุผลไม่ใช่อาหารที่ชิมปุ๊บรู้ปั๊บว่าอร่อย บางทีต้องมีการเข้าไปดู มีนักวิจารณ์มาวิจารณ์ก่อน หนังบางเรื่องต้องเป็นอย่างนั้น ซึ่งถ้าแค่อาทิตย์เดียวก็ถูกลดรอบ มันก็อาจจะส่งผลต่อคนทำหนังมาก ทั้งๆ ที่หนังอาจจะมีดีมีโอกาสทำเงิน แต่มันถูกจำกัดก็ส่งผลให้คนทำหนังล้มหายตายจากไปจากวงการ คนรุ่นใหม่ก็ไม่เข้ามาในภาพใหญ่ตรงนี้ส่งผลไปถึงอุตสาหกรรมหนังไทยที่จะอ่อนแอลงไปเรื่อยๆ กรณีแบบนี้มีข้อมูลว่าเกิดขึ้นจริงในบางประเทศ

2.ระยะยาว การจำกัดตัวพื้นที่หรือรอบในการฉายหนัง ทำให้คนดูหนังไทยขาดประสบการณ์ในการดูหนัง ขาดมุมมอง ขาดการรู้จักเรียนรู้หนังในมุมมองอื่นๆ สุดท้ายคนดูอาจจะคิดไปเองว่า ฉันชอบดูหนังประเภทนี้ ทั้งที่จริงแล้วถ้าเขามีโอกาสหรือมีพื้นที่ใหม่ๆ ให้เขาได้ลองเห็น เขาก็อาจจะได้รับประสบการณ์ใหม่ๆ ได้เจอสิ่งที่ไม่รู้ตัวเองอาจจะชอบก็ได้ โลกทัศน์ก็จะกว้างขึ้น ซึ่งประเทศไทยเราพยายามจะขับเคลื่อนอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ เพลง แฟชั่น ซอฟต์พาวเวอร์ ซึ่งตรงนี้จะละทิ้งภาพยนตร์ไทยไม่ได้เลย เพราะหนังมันก็มีการสอดแทรกประสบการณ์ความคิด มุมมองต่อประเด็นทางสังคมและสุนทรียะ มันเป็นการหล่อหลอม ซึ่งสามารถบ่มเพาะให้คนในประเทศก็เป็นคนที่มีความคิดสร้างสรรค์ อนาคตคนก็ทำให้คนเหล่านี้อาจนำไปสู่การสร้างมูลค่าทางวัฒนธรรมในหลากหลายรูปแบบ

Action “ภาครัฐ” สามารถ “พาไทยพัฒนา”

ดร.มาโนช แนะวิธีการแก้ไขให้เกิดผลสัมฤทธิ์ที่สุด โดยรัฐบาลควรจะเข้ามาถ่วงดุลแบบอย่างประเทศพัฒนาแล้ว หรือ ประเทศใหญ่ๆ อาทิ สหรัฐอเมริกา อินเดีย จีน หรือ เกาหลีใต้ ก็รู้จักการใช้อุตสาหกรรมภาพยนตร์นำทางสังคม หากเราเชื่อมโยง สินค้า+คุณค่า+วัฒนธรรม = กำไรรายได้ = การสร้างอาชีพ = ประเทศเติบโตได้

“ถ้าเราเชื่อมตัวหนังเป็นตัวสินค้าและมีเรื่องของวัฒนธรรมมาเกี่ยวข้อง เราจะมองหนังแบบมีคุณค่ามากขึ้น กลไกของรัฐต้องยื่นมือเข้ามาเหมือนในหลายๆ ประเทศที่เขาทำหรือเคยทำและได้ผลมาแล้ว อย่าง เกาหลีใต้ สหราชอาณาจักร และออสเตรเลีย เราต้องคานอำนาจถ่วงดุลสนับสนุนทุกฝ่าย พอตอนนี้อำนาจอยู่ที่ภาคธุรกิจเป็นหลักใหญ่ เลยทำให้บางด้านถูกละเลยไป”

“เกาหลีใต้เป็นตัวอย่างที่ดี กระแสอุตสาหกรรมหนังของเขาฟีเวอร์มาก ในบ้านเราและโลก ส่วนหนึ่งเกิดจากการเข้ามาของรัฐ การเข้ามาบาลานซ์การดำเนินธุรกิจ โดยสกรีนโควตาโรงหนัง เขากำหนดเลยว่าใน 1 ปี จะต้องฉายหนังที่ผลิตในบ้านเขาเองจำนวนกี่เปอร์เซ็นต์ จำนวนกี่เรื่อง ทำให้อุตสาหกรรมของเขาเติบโต เกิดคนทำหนังที่มีทุนพอ สามารถนำหนังเข้าถึงระดับฮอลลีวูด ได้รางวัลมากมายในต่างประเทศ เขาทำทั้งในด้านการออกกฎหมายสนับสนุนคนทำหนัง และวางรากฐานหน่วยงาน องค์กร ที่ทั้งสนับสนุนและให้ความรู้แก่คนในวงการ”

“การกำหนดโควตาฉายหนังไม่ใช่การบังคับให้คนในประเทศต้องดูหนังไทย สิทธิในการเลือกก็ยังเป็นของคนดูอยู่ แต่ทางเลือกมันจะหลากหลายขึ้น ตอบสนองรสนิยมคนดูได้หลายกลุ่มมากขึ้น และก็จะส่งผลให้คนทำหนังหรือนักลงทุนกล้าที่จะทำหนังหลากหลายขึ้นด้วย”

“ย้อนกลับในบ้านเรา หากปัญหาดังกล่าวจะแก้ไขได้ ภาครัฐมีเครื่องมือหลายอย่าง ไม่ว่าจะเรื่อง ภาษี การให้ทุน การชดเชยต่างๆ ที่จะทำให้โรงหนังก็ได้ประโยชน์ด้วย ไม่ใช่ต้องเสียฝ่ายเดียว เราสามารถทำให้ทุกคนโตไปด้วยกัน สุดท้ายอุตสาหกรรมหนังไทยก็แข็งแรง ซึ่งผลดีก็ตกกลับมาที่ตัวธุรกิจโรงหนัง win-win ไปด้วยกัน หากหนังไทยคนดูเพิ่มมากขึ้น ธุรกิจโรงหนังก็คึกคักก็ส่งผลดีต่อตัวผู้ประกอบการเอง ซึ่งตรงนี้จะช่วยถ่วงดุลกับหนังออนไลน์จากแพลตฟอร์มระดับโลกด้วย”

ถ้าหนังไม่ดีหรือไม่มีค่า “คงไม่อยู่มาถึงศตวรรษ”

“สิ่งที่อยากให้เกิดคือการมองเห็นหนัง ว่าเป็นสื่อที่มีพลังบางอย่าง ไม่อย่างนั้นไม่สามารถอยู่มาได้ 100-200 ปี ในทุกวันนี้ หนังภาพยนตร์ถูกใช้เป็นเครื่องมือหลายๆ อย่างทั้ง Soft Power และทำรายได้เข้าประเทศ สร้างรายได้จากเศรษฐกิจสร้างสรรค์ที่มีมูลค่าสูง” ดร.มาโนช ระบุ

“โดยเรื่องประเด็นดราม่า หากก้าวข้ามและมองลึกลงไปถึงปัญหาเชิงโครงสร้าง เมื่อได้ถูกแก้ไขอย่างใส่ใจ เราจะเห็นซึ่งคุณค่าของทุกสิ่งอย่างทั้งหมดนี้ที่เกิดขึ้นในวันนี้ อยากให้รัฐบาลเข้ามาดูแลและใส่ใจ มันจะส่งผลดีต่อประเทศเราเอง ประเทศเกาหลีใต้กว่าจะมีอุตสาหกรรมหนังแข็งแกร่งก็ใช้เวลาเป็นสิบๆ ปี เราสามารถเรียนรู้สิ่งเหล่านั้นจากเขาได้ และที่สำคัญเราต้องการรัฐที่มีวิสัยทัศน์ มองเห็นคุณค่าทางวัฒนธรรมและเศรษฐกิจของหนังไทย” ดร.มาโนช กล่าวทิ้งท้าย.