ปัจจุบันภัยทุจริตทางการเงินมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นและหลากหลายรูปแบบ เช่น SMS หลอกลวง แก๊งคอลเซ็นเตอร์ แอปพลิเคชันให้สินเชื่อปลอม และแอปพลิเคชันดูดเงิน ภัยหลอกลวงเหล่านี้ ส่งผลกระทบให้ประชาชนต้องสูญเสียทรัพย์สิน หรือรายได้ที่เก็บออม รวมทั้งขาดความมั่นใจในการใช้บริการทางการเงินดิจิทัลของสถาบันการเงิน

ล่าสุด “ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) หรือแบงก์ชาติ” ได้ออกชุดมาตรการจัดการภัยทุจริตทางการเงิน เพื่อกำหนดเป็นมาตรฐานขั้นต่ำที่ทุกสถาบันการเงินต้องปฏิบัติตามใน 3 เรื่อง ได้แก่ 1.มาตรการป้องกัน 2.มาตรการตรวจจับและติดตามบัญชี หรือธุรกรรมต้องสงสัย และ 3.มาตรการตอบสนองและรับมือ โดยบางมาตรการธนาคารต่าง ๆ ได้เริ่มดำเนินการแล้ว และระบบทั้งหมดจะต้องทำให้เสร็จสิ้นภายในเดือน มิ.ย. 66 นี้

ในมาตรการป้องกันภัยการเงินทางไซเบอร์นั้น ที่พูดถึงกันมากคือ การสแกนใบหน้ายืนยันตัวตน กรณีโอนเงิน หรือปรับเปลี่ยนวงเงินตามที่กำหนด เพื่อป้องกันมิจฉาชีพ หรือบุคคลที่ไม่ใช่ตัวจริงโอนเงินออกไปโดยที่เจ้าของบัญชีไม่รู้ตัว

สำหรับการสแกนใบหน้ายืนยันตัวตน จะเรียกว่าการทำไบโอเมตริก (biometrics) โดยหลักๆ หากไปเปิดบัญชีเงินฝากในช่วงระยะหลังนี้ ทางธนาคารจะขอให้สแกนใบหน้าเพื่อเก็บข้อมูล biometrics นี้ไว้ด้วย โดยข้อกำหนดสแกนใบหน้าในการโอนเงินนั้น จะเริ่มเต็มรูปแบบหลังจากเดือน มิ.ย. นี้ไปแล้ว

ดังนั้น ตามมาตรการของแบงก์ชาติ ทุกคนที่โอนเงินเกิน 50,000 บาทต่อครั้ง หรือโอนเงินเกิน 200,000 บาทต่อวัน หรือปรับเปลี่ยนเพิ่มวงเงินตั้งแต่ 50,000 บาทขึ้นไปบนโมบายแบงก์กิ้ง จะต้องสแกนใบหน้ายืนยันตัวตน เพื่อให้แน่ใจว่า เป็นตัวเราจริงไม่ใช่มิจฉาชีพ

อย่างไรก็ตาม หากใครที่ยังไม่เคยให้ธนาคารเก็บข้อมูลสแกนใบหน้าในลักษณะ biometrics สามารถไปที่สาขา เพื่อให้เจ้าหน้าที่ธนาคารทำให้ได้ เผื่อว่าเวลาจะโอนเงินเกิน 50,000 บาทต่อครั้ง หรือจำเป็นต้องโอนเงินเกิน 200,000 บาทต่อวัน จะได้สามารถสแกนใบหน้าเพื่อทำธุรกรรมนั้นๆ ได้ ไม่ต้องไปโอนเงินที่สาขาให้ลำบาก.