รายงานข่าวจากกระทรวงคมนาคม แจ้งว่า ขณะนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ สำนักงานสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) และสำนักงบประมาณ ได้ส่งความคิดเห็นเกี่ยวกับโครงการระบบรถไฟชานเมือง ส่วนต่อขยายสายสีแดงทั้ง 3 เส้นทาง วงเงินรวมประมาณ 2.17 หมื่นล้านบาท ได้แก่ ช่วงตลิ่งชัน-ศิริราช ระยะทาง 5.7 กิโลเมตร (กม.) วงเงิน 4,616 ล้านบาท, ช่วงรังสิต-มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ระยะทาง 8.84 กม. วงเงิน 6,468 ล้านบาท และช่วงตลิ่งชัน-ศาลายา ระยะทาง 14.8 กม. วงเงิน 10,670 ล้านบาท กลับมายังกระทรวงคมนาคมแล้ว ซึ่งเป็นไปตามขั้นตอนที่ต้องผ่านการรับฟังความคิดเห็นจากหน่วยงานต่าง ๆ ก่อนเสนอเรื่องให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณา 

รายงานข่าวแจ้งต่อว่า ทุกหน่วยงานที่เสนอกลับมา ไม่มีความคิดเห็นเพิ่มเติม มีเพียงสำนักงบประมาณที่แสดงความคิดเห็น และข้อสงสัยเกี่ยวกับการใช้ค่าตัวคูณ Factor F ในการคิดราคากลาง จึงให้การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ยืนยันกลับว่า จะใช้งบประมาณไม่เกินกรอบวงเงินที่กำหนดไว้ ซึ่งขณะนี้ รฟท. ได้ยืนยันกลับมาแล้วว่าจะใช้งบประมาณอยู่ในกรอบวงเงินสุดท้ายแน่นอน หลังจากนี้กระทรวงคมนาคมจะเร่งเสนอโครงการระบบรถไฟชานเมือง ส่วนต่อขยายสายสีแดง 3 เส้นทาง เข้าสู่การพิจารณาของ ครม. ซึ่งจะเสนอให้ทันก่อนการยุบสภา เพราะไม่ติดปัญหาใดแล้ว 

รายงานข่าวแจ้งอีกว่า กระทรวงคมนาคมต้องเร่งเสนอโครงการดังกล่าว เพราะหากล่าช้ากว่านี้จะกระทบกับกรอบเวลาของแผนงานทั้งหมด ทั้งการประกวดราคา การก่อสร้าง และการเปิดให้บริการก็จะเลื่อนออกไป ซึ่งปัจจุบันมีความล่าช้าอยู่แล้ว นอกจากนี้ รายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) 3 เส้นทาง จะหมดอายุภายในเดือน ก.ค.นี้แล้ว หากยังไม่ดำเนินการ และอีไอเอหมดอายุ รฟท. ต้องจัดทำรายงานอีไอใหม่ ซึ่งจะทำให้โครงการยิ่งล่าช้าไปอีก โดตามแผนงานเดิมจะเปิดประกวดราคา 3 เส้นทาง เดือน ม.ค.-ก.พ. 66 ได้ผู้รับจ้างประมาณเดือน พ.ค. 66 ลงนามสัญญากับผู้รับจ้างประมาณเดือน มิ.ย. 66 จากนั้นจะเริ่มก่อสร้าง ซึ่งคาดว่าเส้นทาง ช่วงรังสิต-ม.ธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต จะก่อสร้างแล้วเสร็จ และเปิดให้บริการเดือน พ.ค. 69 ส่วนช่วงตลิ่งชัน-ศาลายา คาดว่าจะก่อสร้างแล้วเสร็จ และเปิดให้บริการเดือน มิ.ย. 69 และช่วงตลิ่งชัน-ศิริราช คาดว่าจะก่อสร้างแล้วเสร็จ และเปิดให้บริการได้เดือน พ.ค. 70   

รายงานข่าวแจ้งด้วยว่า สำหรับส่วนต่อขยายรถไฟชานเมือง สายสีแดงอีก 1 เส้นทาง ได้แก่ ช่วงบางซื่อ-พญาไท-มักกะสัน-หัวหมาก และช่วงบางซื่อ-หัวลำโพง (Missing Link) ระยะทาง 25.9 กม. คาดว่าเสนอเรื่องเข้า ครม. ไม่ทันรัฐบาลชุดนี้ เนื่องจากได้รับรายงานจาก รฟท. ว่า ขณะนี้ยังอยู่ระหว่างการปรับแบบสถานีราชวิถีใหม่ เพื่อให้ผู้โดยสารสามารถเดินเชื่อมเข้าสู่อาคารโรงพยาบาลรามาธิบดีได้อย่างสะดวก พร้อมทั้งต้องประเมินราคาค่าก่อสร้างใหม่ เบื้องต้นอาจต้องปรับกรอบวงเงินเพิ่มประมาณ 2,843 ล้านบาท จากเดิม 44,157 ล้านบาท เป็นประมาณ 47,000 ล้านบาท โดยเส้นทางนี้ตามแผนเดิมจะเปิดประกวดราคาภายในปี 66 ได้ผู้รับจ้างเดือน ก.ย. 66 และเปิดบริการเดือน เม.ย. 71

รายงานข่าวแจ้งอีกว่า ส่วนงานเดินรถ งานระบบตั๋ว จัดหาขบวนรถ และการดำเนินงานและบำรุงรักษา (O&M) ซึ่งจะเป็นการลงทุนในรูปแบบร่วมทุนระหว่างรัฐและเอกชน (PPP) ขณะนี้เรื่องผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการ (บอร์ด) รฟท. แล้ว เตรียมเสนอกระทรวงคมนาคม ก่อนเสนอคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) และ ครม. พิจารณาต่อไป คาดว่าจะเปิดประมูลได้ในปี 67 ทั้งนี้ คาดการณ์ว่า ปีแรกของการเปิดให้บริการครบทั้ง 6 เส้นทาง จะมีผู้โดยสารประมาณ 9 หมื่นคนต่อวัน ประมาณการรายได้ 50 ปี อยู่ที่ประมาณ 5.8 แสนล้านบาท

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 3 มี.ค. ที่ผ่านมา ศาลรัฐธรรมนูญ มีคำสั่งให้ นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม หยุดปฏิบัติหน้าที่จนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัย ซึ่งปัจจุบัน นายอธิรัฐ รัตนเศรษฐ รมช.คมนาคม ปฏิบัติหน้าที่แทน รมว.คมนาคม ดังนั้น ในเวลานี้จึงเป็นอำนาจของนายอธิรัฐที่จะพิจารณาว่าจะนำเสนอโครงการใดของกระทรวงคมนาคม เข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุม ครม.บ้าง.