เมื่อวันที่ 14 มี.ค. ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) พล.ต.ท.สมพงษ์ ชิงดวง ผู้ช่วย ผบ.ตร. ในฐานะหัวหน้าคณะทำงานสร้างเสริมภูมิคุ้มกันต้านภัยอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พร้อมด้วย พล.ต.ต.อาชยน ไกรทอง โฆษก ตร. พล.ต.ต.ชูศักดิ์ ขนาดนิด ผู้บังคับการตรวจสอบและวิเคราะห์อาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ผบก.ตอท.) พ.ต.อ.ก้องกฤษฎา กิตติถิระพงษ์ รอง ผบก.ตอท. พ.ต.อ.ไพโรจน์ เพ็ชรพลอย ผกก.กลุ่มงานป้องกันฯ บก.ตอท. ร่วมกันแถลงสถิติการรับแจ้งความออนไลน์ในรอบปีที่ผ่านมา และภัยออนไลน์ที่เกิดขึ้นใหม่ในรอบสัปดาห์ เพื่อประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนได้มีภูมิป้องกันภัยออนไลน์ ไม่ตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพ

ทั้งนี้ ในการแถลงดังกล่าว ได้เปิดประเด็นภัยออนไลน์แก๊งค์คอลเซ็นเตอร์ มีพฤติกรรมแอบอ้างเป็นเจ้าหน้าที่กระทรวงการคลัง โทรศัพท์หาผู้เสียหายให้ตรวจสอบสิทธิ์บัตรสวัสดิการแห่งรัฐในเว็บไซต์กระทรวงการคลัง จากนั้นได้ให้ผู้เสียหายเพิ่มเพื่อนในแอปพลิเคชันไลน์ ก่อนส่งลิงก์กระทรวงการคลังปลอมให้ผู้เสียหายกดเข้าไป และยังแนะนำให้กดเข้าไปยังโลโก้ของกระทรวงการคลังมุมขวามือ เพื่อกรอกข้อมูลชื่อ-นามสกุล หมายเลขโทรศัพท์ ซึ่งเป็นข้อมูลส่วนตัว และใส่รหัสยืนยันตัวตนเลข 6 หลัก ต่อมาผู้เสียหายกรอกเลข OTP 6 หลักให้คนร้ายเพิ่มเติม เป็นเหตุให้ผู้เสียหายถูกควบคุมโทรศัพท์และถูกดูดเงินออกไป

จึงขอประชาสัมพันธ์ว่าจงมีสติไม่หลงเชื่อ ไม่กรอกหรือให้ข้อมูลส่วนตัวผ่านช่องทางออนไลน์และทางโทรศัพท์ ไม่ควรกระทำการใด ๆ ในเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชันที่ไม่น่าเชื่อถือ ไม่กดลิงก์แปลกปลอม และไม่ดาวน์โหลดแอปพลิเคชันที่ไม่ผ่านการยืนยันโดยแพลตฟอร์มที่น่าเชื่อถือ หากทราบว่าหลงกลมิจฉาชีพแล้ว สามารถแจ้งความออนไลน์ได้ที่ www.thaipoliceonline.com หรือตำรวจในท้องที่ เพื่อนำไปแจ้งธนาคาร ให้ดำเนินการอายัดบัญชีต่อไป

สำหรับ 8 วิธีป้องกันไม่ให้ถูกแอปพลิเคชันดูดเงินจากบัญชีธนาคาร สิ่งที่ต้องควรทำทันทีก่อนเกิดเหตุ ดังนี้

1.ไม่ผูกบัตรเครดิต หรือ บัตรเดบิต ไว้ในแอปต่าง ๆ หากจำเป็นให้ยกเลิกการผูกบัตรเมื่อใช้งานเสร็จ หรือจำกัดยอดวงเงินที่รับความเสี่ยงได้เอาไว้

2.หลีกเลี่ยงการผูกบัญชีเงินฝากที่มียอดสูง ๆ กับแอปพลิเคชันธนาคาร ใช้บัญชีที่มียอดเงินเท่าที่จำเป็น หรือหากมีความจำเป็นต้องรับ-โอนเงินจำนวนมาก/วัน ควรแยกเครื่องที่ใช้โทรศัพท์หรือเล่นโซเชียลมีเดีย

3.อย่าตั้ง “รหัส” เข้าแอปพลิเคชันธนาคาร ตามวันเดือนปีเกิด เลขบัตร เบอร์โทร ที่คนร้ายสุ่มได้ง่าย

เมื่อสงสัยว่าคนร้ายโทรฯมา หรือขณะเกิดเหตุ

4.“ตั้งสติ” ให้สงสัยไว้ก่อนว่าอาจถูกหลอกลวง ตั้งคำถามกับตัวเอง “จริงเหรอ”

5.“ตรวจสอบ” กลับ โดยดำเนินการ ดังนี้ ให้ดูเบอร์โทรที่โทรฯมา หากมีเครื่องหมาย + นำหน้า แสดงว่าที่ตั้งอยู่ต่างประเทศ, เบอร์มือถือโทรมา เราต้องขอเบอร์ “คอลเซ็นเตอร์หน่วยงาน” ที่อ้าง เพื่อติดต่อกลับเองเพื่อถามข้อมูล, ให้อ้างติดธุระขอวางสาย แล้วโทรกลับเบอร์ที่คนร้ายโทรฯมา หากโทรฯไม่ได้ แสดงว่าเป็นการโทรฯโดยใช้ระบบ

อินเตอร์เน็ต (VOIP) โทรฯมาหลอกลวง

6.“ต้องสังเกต” ลิงก์ที่คนร้ายให้มาว่าผิดปกติหรือไม่ เช่น ใช้ขีด แทน จุด เป็นต้น ให้นำลิงก์ตรวจสอบกับเว็บhttps://whois.domaintools.com/ จะเห็นว่าเพิ่งเปิดมาไม่นาน ของหน่วยราชการส่วนใหญ่จะเปิดมาหลายปี

7.“ต้องห้าม” โหลดลิงก์จากคนที่เราไม่รู้จักนอก play store/app store, ไม่อนุญาตให้ใครเข้าถึงข้อมูลในเครื่องสังเกตคำเตือนจากโทรศัพท์ของเรา, ไม่บอกรหัสใด ๆ ที่แจ้งมาให้ผู้อื่นทราบ

8.“ตัดสัญญาณ” เมื่อเกิดอาการ “หน้าจอค้าง” คนร้ายอ้างว่าอยู่ระหว่างตรวจสอบ แต่ความจริงเครื่องท่านถูกรีโมตแล้ว ต้องรีบตัดสัญญาณ โดยปิดเครื่อง/ปิดเราเตอร์/ถอดซิม