สำนักข่าวต่างประเทศรายงานจากกรุงมอสโก ประเทศรัสเซีย เมื่อวันที่ 18 มี.ค. ว่า จากกรณีศาลอาญาระหว่างประเทศ (ไอซีซี) หรือศาลอาญาโลก ซึ่งมีสำนักงานอยู่ที่กรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์ อนุมัติคำร้องของคณะอัยการ ในการออกหมายจับ ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ผู้นำรัสเซีย และนางมาเรีย อเล็กเซเยฟนา ลโววา-บีโลวา เจ้าหน้าที่ระดับสูงด้านสิทธิเด็กประจำทำเนียบเครมลิน จากข้อกล่าวหา “ก่ออาชญากรรมสงคราม ผ่านการขนย้ายเด็กในยูเครน” และ “ความล้มเหลวในการใช้อำนาจจัดการกับพลเรือนและทหารซึ่งเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้”

ด่วน! ศาลอาญาระหว่างประเทศ ออกหมายจับ ‘วลาดิเมียร์ ปูติน’ ข้อหาอาชญากรสงครามยูเครน


ด้าน น.ส.มาเรีย ซาคาโรวา โฆษกหญิงกระทรวงการต่างประเทศรัสเซีย กล่าวว่า การดำเนินการของไอซีซี “ไม่มีความหมายในทางใดทั้งสิ้น” เนื่องจากรัสเซียไม่ได้เป็น 1 ใน 123 ประเทศ ซึ่งร่วมเป็นภาคีของธรรมนูญกรุงโรม ที่เป็นสนธิสัญญาระหว่างประเทศ ในการก่อตั้งไอซีซี นอกจากนั้น ฝ่ายสนับสนุนรัฐบาลมอสโกวิจารณ์ การที่ไอซีซี “เพิกเฉย” ต่อการที่สหรัฐเข้าไปปฏิบัติการในอิรัก เพื่อโค่นอำนาจประธานาธิบดีซัดดัม ฮุสเซน เมื่อปี 2546

ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ผู้นำรัสเซีย และนางมาเรีย อเล็กเซเยฟนา ลโววา-บีโลวา เจ้าหน้าที่ระดับสูงด้านสิทธิเด็ก สนทนากัน ที่ทำเนียบเครมลิน ในกรุงมอสโก


ขณะที่ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ผู้นำสหรัฐ กล่าวว่า แม้รัฐบาลวอชิงตันไม่ใช่หนึ่งในภาคีของธรรมนูญกรุงโรม แต่สหรัฐ “สนับสนุน” การดำเนินการดังกล่าว “ซึ่งมีความชอบธรรม” เนื่องจากผู้นำรัสเซีย “ก่ออาชญากรรมสงคราม” ส่วนสำนักงานอัยการสูงสุดของยูเครน ให้ความเห็นว่า “เป็นการส่งสัญญาณสำคัญ” ไปยังประชาคมโลก ว่ารัสเซียเป็นประเทศที่อยู่ภายใต้การปกครองของ “อาชญากร”


อนึ่ง ไอซีซีไม่มีอำนาจบังคับใช้หมายจับ หมายความว่า การจับกุมบุคคลตามหมายจับนั้น ขึ้นอยู่กับ “ดุลพินิจ” ของรัฐบาลแต่ละประเทศซึ่งเป็นสมาชิกไอซีซี และ “มีความเป็นไปได้ต่ำมาก” ที่ปูตินจะถูกจับกุม

อย่างไรก็ตาม มีการวิเคราะห์ว่า ในอีกนัยหนึ่งคือการ “สร้างแรงกดดันทางการเมืองระหว่างประเทศ” เช่นกัน เนื่องจากประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ผู้นำจีน เตรียมเยือนกรุงมอสโกอย่างเป็นทางการ ระหว่างวันที่ 20-22 มี.ค. นี้.

เครดิตภาพ : REUTERS