เมื่อวันที่ 23 มี.ค. 66 นายสัตวแพทย์ชัย วัชรงค์ นักวิชาการด้านการเกษตร ในฐานะคณะกรรมการด้านเศรษฐกิจพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงยุทธศาสตร์ “เกษตรกรมั่งคั่ง” ของพรรคฯ ว่า ต้องผ่าตัดโครงสร้างการเกษตรเพื่อเพิ่มรายได้ของเกษตรกร จากปัจจุบันมีรายได้เฉลี่ยไร่ละ 10,000 บาท ซึ่งถือว่าต่ำเมื่อเทียบกับญี่ปุ่น-ไต้หวัน ดังนั้น จึงต้องการขยับขึ้นเป็น 3 เท่า (เพิ่มอีกไร่ละ 20,000 บาท) ภายใน 4 ปี ส่วนการจะไปสู่จุดนั้น ต้องเปลี่ยนโครงสร้างภาคการเกษตร ต้องแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างตามที่กล่าวไปก่อนหน้านี้

นายสัตวแพทย์ชัย กล่าวว่า ปัญหาที่ต้องพูดกัน คือ หน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องกับภาคการเกษตร-ปศุสัตว์ เรามีมากมาย แต่มีประสิทธิภาพหรือไม่? และไม่มี KPI (ดัชนีชี้วัดความสำเร็จ) ไม่มี KPI ว่าเราใช้ข้าวพันธุ์อะไร ใส่ปุ๋ยกันอย่างไร ทำไมจึงได้ผลผลิตเฉลี่ย 540 กก./ไร่ อยู่แบบนี้ เมื่อไหร่จะไปถึง 1,200 กก./ไร่ เพื่อไม่ต้องใช้งบประมาณมาแทรกแซงราคาข้าว ดังนั้นในอนาคตหน่วยงานรัฐต้องมี KPI โดยใช้ข้อมูลของต่างประเทศมาเปรียบเทียบ

ก่อนหน้านี้ ผู้ส่งออกข้าวบ่นเรื่องข้าวพื้นนุ่ม คือตลาดส่งออกต้องการข้าวพื้นนุ่ม แต่ไทยผลิตข้าวพื้นแข็งเยอะ ยกตัวอย่างคนต่างประเทศจะกินกับข้าวก่อน แล้วจึงค่อยพุ้ยข้าวสวยนุ่ม ๆ ตาม แต่คนไทยตักกับข้าวไปวางบนข้าวสวยที่แข็งหน่อยแล้วจึงกิน เพราะถ้าข้าวสวยนุ่ม ๆ มันจะเละ เรื่องนี้รู้กันทั้งนั้น แต่ไม่ได้ทำอะไรกัน เพราะไม่มีใครไปตามจี้เรื่อง KPI

นอกจากนี้ช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา ผู้เลี้ยงหมูรายเล็ก รายย่อย ล้มหายตายจากกันไปหมด เพราะเจอโรคระบาด เมื่อไม่ได้เป็นฟาร์มปิดที่มีระบบการบริหารจัดการ ระบบป้องกันเหมือนฟาร์มใหญ่ เจอโรค 1-2 ครั้ง กวาดเรียบหมด ภาครัฐช่วยอะไรไม่ได้

โดยปกติรายเล็ก รายย่อย เสียเปรียบรายใหญ่อยู่แล้ว เนื่องจากต้นทุนการเลี้ยงหมูสูงกว่า โดยอัตราการแลกเนื้อของรายเล็ก ต้องใช้อาหาร 4 กก. แลกเนื้อได้ 1 กก. แต่รายใหญ่ใช้อาหาร 2.5 กก. แลกเนื้อได้ 1 กก. ดังนั้นเวลาหมูขึ้นราคา รายใหญ่จะได้กำไรก่อน เพราะต้นทุนต่ำกว่า ส่วนรายเล็ก-รายย่อย จะได้กำไรหลังสุด (คนสุดท้าย) แต่ถ้าราคาหมูปรับลดลงเมื่อไหร่ รายเล็ก-รายย่อยจะขาดทุนก่อนเพื่อน เนื่องจากต้นทุนสูงกว่าเขา เวลามีโรคระบาดก็เจ๊งก่อน

จริง ๆ แล้วหน่วยงานภาครัฐมีคนเก่ง ๆ เยอะ มีงานวิจัยดี ๆ ก็มาก แต่นำมาใช้ นำมาปฏิบัติกันบ้างหรือเปล่า? หรือแม้แต่กรณีของกุ้งส่งออก ประเทศไทยเป็นเบอร์ต้น ๆ ในการส่งออกกุ้งปีละ 6 แสนตัน แต่เจอโรคระบาด จึงลดลงมาเหลือประมาณ 2 แสนตันเท่านั้น และยังเป็นปัญหาเรื้อรัง เนื่องจากภาครัฐไม่สนับสนุนงบประมาณให้นักวิชาการเก่ง ๆ ในมหาวิทยาลัยต่าง ๆ เพื่อศึกษาวิจัยแก้ปัญหาโรคระบาดในกุ้ง ตนเชื่อว่าถ้าใส่งบประมาณลงไปให้นักวิชาการศึกษาวิจัย เชื่อว่าแก้ปัญหาโรคระบาดในกุ้งได้อย่างแน่นอน

“ถ้าเพื่อไทยเป็นรัฐบาล จะสนับสนุนงานวิจัยดี ๆ ในภาคการเกษตร ให้มีการนำมาปฏิบัติจริง จะให้งบวิจัยและพัฒนาในเรื่องที่จำเป็น จะสนับสนุนคนรุ่นใหม่ ๆ เกษตรก้าวหน้า และสตาร์ทอัพที่มีเทคโนโลยีทันสมัย มีแอปพลิเคชันใหม่ ๆ ให้มีพื้นที่เล่นมากขึ้น”

นายสัตวแพทย์ชัย ยังกล่าวถึงปัญหาของธุรกิจประมงด้วยว่า รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หลังการรัฐประหารในเดือน พ.ค. 57 เจอแรงกดดันจากสหภาพยุโรป (อียู) และต้องการการยอมรับโดยเร็ว จึงต้องรีบยอมรับเงื่อนไขของ IUU ทำให้การประมงไทยต้องเปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลัน โดยไม่มีแผนรองรับ ส่วนใหญ่ปรับตัวไม่ทัน จึงล้มหายตายจากไป จากเรือประมงกว่า 6 หมื่นลำ ตอนนี้เหลือแอคทีฟจริง ๆ ประมาณ 8 ลำ แถมเจอกฎระเบียบเงื่อนไขต่าง ๆ จนไม่อยากนำเรือออกทะเล ส่งผลไปยังการส่งออกกุ้ง และอุตสาหกรรมกุ้งของไทย จากที่เคยส่งออกกุ้ง แต่ปัจจุบันต้องนำเข้าแล้ว

นอกจากนี้เงื่อนไขดังกล่าว ยังไปกระทบกับการประมงพื้นบ้าน 6.5 แสนครัวเรือน ที่ทำมาหากินใกล้ ๆ ชายฝั่ง และเป็นเรือขนาดเล็ก ไม่ได้ออกไปหากินไกล ๆ ในน่านน้ำสากล แต่ถูกรวบไปกับเรือประมงพาณิชย์ด้วย ดังนั้น ถ้าพรรคเพื่อไทยเป็นรัฐบาล จะตั้งทีมเข้าไปเจรจาเพื่อขอเวลาในการปรับตัว และต้องแยกเรือประมงพื้นบ้านออกมาจากเงื่อนไขนั้น

“ถามว่าก่อนรัฐประหารปี 57 จำนวนเรือประมงของไทยมีมากเกินไปหรือเปล่า กับปริมาณของสัตว์น้ำ ผมไม่รู้ว่ามีเรือประมงมากเกินไปหรือเปล่า แต่รู้สึกได้ว่า เขามีความสุขกับการประกอบอาชีพประมงกันมากกว่าหลังรัฐประหาร” นายสัตวแพทย์ชัย กล่าว.