เมื่อวันที่ 23 มี.ค. ที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) นายรังสิมันต์ โรม อดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อ โฆษกพรรคก้าวไกล กล่าวถึงเหตุกราดยิงที่ จ.เพชรบุรี ว่า เป็นเรื่องน่าเศร้า เป็นเหตุที่เกิดขึ้นซ้ำไปซ้ำมาจนหลายคนมองว่าเป็นเรื่องปกติ ซึ่งความรู้สึกเช่นนี้เป็นเรื่องน่ากังวล เราต้องไม่ทำให้เหตุกราดยิงกลายเป็นเรื่องปกติในสังคมไทยโดยเด็ดขาด วันนี้เราอยู่ในสังคมที่มีปัญหารอบด้าน ส่วนใหญ่เป็นปัญหาเรื่องการใช้อาวุธปืน ที่ผ่านมาไม่มีมาตรการกำกับควบคุมที่ชัดเจน ดังนั้น หน่วยงานของรัฐและผู้เกี่ยวข้องต้องเร่งหาแนวทางแก้ไข เพราะตอนนี้ตนยังไม่เห็นการดำเนินการเพื่อนำไปสู่การป้องกันเลย หากเป็นเช่นนี้ เหตุการณ์ลักษณะนี้อาจนำไปสู่การลอกเลียนแบบ และอาจเกิดขึ้นอีกเรื่อย ๆ

“คำถามคือเราจะอยู่กันอย่างไร จะมีแนวทางป้องกันล่วงหน้าหรือไม่ เรื่องนี้ไม่ได้พูดกันครั้งแรก แต่พูดกันหลายครั้ง ทุกหน่วยงานต้องทบทวน รวมถึงมีมาตรการกำกับดูแลเรื่องการพกหรือครอบครองปืน” นายรังสิมันต์ กล่าว

ทางด้าน นพ.ยงยุทธ วงศ์ภิรมย์ศานติ์ ที่ปรึกษากรมสุขภาพจิต กล่าวถึงเหตุการณ์เดียวกันว่า บทเรียนความรุนแรงที่เกิดขึ้นจากกรณีการใช้อาวุธปืนทำร้ายหลายเหตุการณ์มาจนถึงกรณีนี้ จะพบว่าเกิดขึ้นมาจากความเครียดและมีปัญหาทางจิตใจ ซึ่งปกติคนที่จะดูแลในเรื่องนี้มีตั้งแต่ชุมชน และองค์กร เพราะผู้ที่มีอาวุธปืน ส่วนใหญ่ล้วนแล้วแต่อยู่ในองค์กรทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นทหาร ตำรวจ อสส. เจ้าหน้าที่กรมป่าไม้ ทั้งนี้ กลไกลการดูแลขององค์กรจะต้องทำหน้าที่ ดูแลบุคลากร ไม่ใช่พอเกิดปัญหาก็ส่งต่อให้ระบบสาธารณสุขเป็นผู้รับผิดชอบ เพราะเป็นระบบปลายทาง เพราะก่อนที่คนเหล่านี้จะมีปัญหา เขาเคยเป็นบุคลากรที่ปฏิบัติหน้าที่ให้กับหน่วยงานได้อย่างเยี่ยม

นพ.ยงยุทธ กล่าวว่า การถือครอบครองอาวุธปืน ต้องมีระบบติดตามปัญหาสภาพจิตใจทั้งระบบ ไม่ใช่แค่จำกัดไว้ที่ส่วนกลาง ทำหน้าที่ติดตาม เช่น กองทัพบก มีระบบติดตามอยู่ที่โรงพยาบาลพระมงกุฎฯ หรือ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ มีโรงพยาบาลตำรวจ คอยกำกับติดตามสภาพจิตใจ เพราะการครอบครองอาวุธปืน มีในเจ้าหน้าที่ทุกพื้นที่ของประเทศ การถือครอบครองอาวุธต้องเข้าใจว่า อาจก่อเหตุได้ตั้งแต่ตัวเองและผู้อื่น เช่น ทำร้ายตนเอง, ทำร้ายคนในครอบครัว, คนในชุมชน หรือแม้แต่คนไม่รู้จัก ฉะนั้น อย่าได้นำอำนาจทางปกครองหรือวินัยมาจำกัด ในเรื่องการดูแล ครอบครองอาวุธปืนอย่างเดียว แต่ต้องใช้มาตรการการดูแลเพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบ

“ขอเรียกร้องยกเลิกซื้ออาวุธปืนสวัสดิการ เพราะคำว่าสวัสดิการนั้นไม่เหมาะใช้กับอาวุธ เพราะการใช้อาวุธเป็นการใช้ในขณะปฏิบัติหน้าที่ หากเสร็จสิ้นภารกิจหรือไม่ได้เกี่ยวข้องแล้ว ก็ไม่ควรมีการครอบครองอาวุธปืน เช่นกรณีเหตุกราดยิงที่เพชรบุรี จะพบว่าเป็นลูกจ้างชั่วคราวเท่านั้น แม้ที่มาของอาวุธปืนจะไม่เกี่ยวข้องกับหน่วยงาน”

นพ.ยงยุทธ กล่าวต่อไปว่า ตนเป็นห่วงเรื่องการนำเสนอข่าว ซึ่งทาง กสทช.ควรเข้ามามีบทบาทควบคุมไม่ให้เกิดความดราม่ามากจนเกินไป เพราะห่วงว่าในอนาคตสังคมจะเกิดความชินชาต่อความรุนแรง โดยพฤติกรรมของความรุนแรงจากการนำเสนอข่าว จะเริ่มจาก 1.เลียนแบบหรือเป็นแบบอย่าง 2.ชินชา และ 3.ลดความยับยั้งชั่งใจ ซึ่ง กสทช.สามารถเข้ามาดูแลและควบคุมได้ตั้งแต่สื่อหลัก รวมถึงสื่อออนไลน์ที่มีการลงทะเบียน เพราะบทเรียนจากการนำเสนอข่าวจะเห็นว่าทุกครั้งมีบทเรียนไม่ซ้ำกัน และดราม่า ความรุนแรงก็แตกต่างกัน ทั้งนี้ การติดตามข่าวแบบทุกนาที หรือทุกชั่วโมง ทำให้เกิดความเครียด และท้ายที่สุดสังคมก็จะชินชา.