เมื่อวันที่ 24 มี.ค. ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) นายนที คุ้มพันธุ์ ลูกชายของผู้เสียหาย ซึ่งเป็นผู้ได้รับมอบอำนาจในการติดตามคดีขโมยพลอยแดงมูลค่า 1,300 ล้านบาท เหตุเกิดเมื่อปี 2537 หลังศาลตัดสินให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติร่วมชดใช้เงินจำนวน 157 ล้านบาท แต่ผ่านมา 1 ปีกว่ายังไม่มีการชดใช้เงินแต่อย่างใด ได้เดินทางมาเพื่อยื่นหนังสือทวงถามความคืบหน้า โดยมี พ.ต.อ.วัชรพงศ์ ฉุยฉาย รอง ผบก.งบประมาณ นายตำรวจเวรอำนวยการเป็นตัวแทนรับหนังสือ

นายนที กล่าวว่า ตนในฐานะผู้รับมอบอำนาจ มาเพื่อขอสอบถามความคืบหน้าเกี่ยวกับการชดใช้คดีพลอยแดงในการดำเนินการว่าไปถึงขั้นตอนไหนอย่างไร และได้เห็นแถลงการณ์ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติผ่านทางเว็บไซต์ thaigov.go.th หรือเว็บไซต์รัฐบาลไทย จึงได้ทำหนังสือชี้แจงว่า รู้สึกอย่างไรบ้างกับแถลงการณ์ดังกล่าว ในประเด็นดังนี้ ตามหนังสือชี้แจงที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ชี้แจงกรณีไม่ชดใช้ค่าเสียหายตามคำสั่งศาล ตร. ยืนยันไม่ได้ประวิงเวลาหรือเพิกเฉยต่อการชำระหนี้ตามคำพิพากษานี้และกำลังเร่งขอจัดสรรงบประมาณต่อไป

นายนที กล่าวอีกว่า เร่งรัดและจัดสรรงบประมาณใช้เวลา 1 ปี 7 เดือนกว่า เป็นความรู้สึกของผู้เสียหายที่อยากจะบอกต่อสังคม และในข้อ 3.ที่ ตร.ได้ชี้แจงบอกว่า เมื่อวันที่ 3 พ.ย. 64 ผู้แทนสำนักงานตำรวจแห่งชาติและโจทก์ทั้งสามได้มีการเจรจาไกล่เกลี่ย เพื่อชำระหนี้ตามคำพิพากษาศาลฎีกาครั้งแรก โดยผลการเจรจาไกล่เกลี่ยสรุปได้ว่า โจทก์ทั้งสามยินยอมตกลงให้ สำนักงานตำรวจแห่งชาติชำระหนี้ตามคำพิพากษาให้แก่โจทก์ทั้งสามบางส่วนก่อนและยินยอมให้หยุดอัตราดอกเบี้ยที่จะต้องชำระแก่โจทก์ทั้งสามไว้ ณ วันที่ 18 พ.ย. 64 โดยมีเงื่อนไขว่า สำนักงานตำรวจแห่งชาติต้องชำระหนี้ส่วนที่เหลือภายในวันที่กำหนด (30 พ.ย. 65)

นายนที กล่าวว่า ซึ่งเงื่อนไขที่ 1 ในที่ประชุมได้มีการพูดคุยกันว่า จ่ายงวดแรกก่อน 5% แต่ทางโจทก์ไม่สามารถรับเงื่อนไขนี้ได้เนื่องจากไม่พอใช้หนี้ให้กับกรมบังคับคดี เงื่อนไขที่ 2 ทางโจทก์ ได้ยื่นข้อเสนอกลับไปในที่ประชุมว่าทางโจทก์ยื่นขอเสนอขอ 25-30% ก่อนในงวดแรก แต่ในที่ประชุมทาง ตร.ระบุว่า จะขอกลับไปพิจารณาก่อนและก็เงียบหายไปไม่มีคำตอบกลับมา

ส่วนในคำชี้แจงข้อ 6.เมื่อ เม.ย. 65 สำนักงานตำรวจแห่งชาติได้รับแจ้งผลการขอจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 กรณีดังกล่าว “ไม่ได้รับการจัดสรรงบประมาณ” จึงได้เร่งดำเนินการขอรับสนับสนุนงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่าย เพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็นไปยังรัฐบาล เมื่อ พ.ค. 65 ขณะนี้อยู่ระหว่างขั้นตอนการพิจารณาของสำนักงบประมาณ เป็นข้อสงสัยด้วยที่ไม่ทราบเรื่องระบบราชการ งบประมาณของปี 2566 ไม่มี แต่จะของบประมาณของปี 2565 จึงเป็นคำถามที่อยากจะถามกลับไป

และในข้อ 7 นายกรัฐมนตรีมีบัญชาลง 10 ธ.ค. 65 ให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติดำเนินการต่อรองประนอมหนี้ให้ถึงที่สุดอีกครั้ง และรายงานให้ทราบ ก่อนดำเนินการตามระเบียบและขั้นตอนต่อไป จาการหารือระหว่างกันโจทก์ทั้งสามได้ประชุมหารือกันแล้ว ยินดีที่จะลดยอดเงินในส่วนของดอกเบี้ยที่ ตร. ต้องชำระหนี้ให้แก่โจทก์ถึงวันที่ 18 พ.ย. 64 (157 ล้านบาท)นั้น เป็นข้อตกลงที่ต้องชำระใน 31 มี.ค. 2566 นี้ ถ้าไม่ชำระดอกเบี้ยจะเดินต่อตามคำสั่งศาล ดอกเบี้ยปีละ 3,900,000 บาท ทางฝ่ายโจทก์ยินยอมลดและไม่คิดดอกเบี้ยเพิ่มเติม เนื่องจากดอกเบี้ยที่ทาง ตร.นำมาจ่ายเป็นภาษีของประชาชน และเหตุใดทาง ตร. และสำนักงบประมาณจึงไม่เร่งรัดจ่ายหรือเห็นแก่ผลประโยชน์ของประชาชนผู้เสียภาษี

นายนที กลา่วว่า และในคำชี้แจงของ ตร. ข้อสุดท้ายสำนักงานตำรวจแห่งชาติได้รับจัดสรรงบประมาณเรียบร้อยแล้ว จะได้ดำเนินการตามขั้นตอน หารือร่วมกัน และดำเนินการนำเงินไปชำระตามคำพิพากษาโดยเร็วที่สุด ติดตามจับกุมและดำเนินการไล่เบี้ยนายวิสูตร และ พล.ต.ต.นิยม ลูกหนี้ร่วมตามคำพิพากษาให้ชดใช้ตามส่วนต่อไป เร็วที่สุดแต่ก็ผ่านมาแล้ว 1 ปี 7 เดือน คำสั่งศาลให้ชำระภายใน 30 วัน ผู้เสียหายเดือดร้อนมากตลอด 29 ปี ล้มละลายไปแล้วในรุ่นคุณพ่อคุณอา ต้องให้รุ่นลูกรุ่นหลานล้มละลายต่อไปด้วยใช่หรือไม่ หากกลับกันถ้าเป็นบริษัท ห้างร้านหรือบุคคลธรรมดาที่แพ้ในคดีเยี่ยงนี้คงต้องถูกยึดทรัพย์ และคงจะเหลือแค่ชีวิตที่เดินเร่ร่อนอยู่ข้างถนนเท่านั้น สุดท้ายก็ยังไม่มีกำหนดการวันและเวลาในการชำระหรือชดใช้ให้กับทางโจทก์แต่อย่างใด

นายนที กล่าวว่า จากที่เข้าประสานงานกับทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติตลอดระยะเวลา 1 ปีครึ่งที่ผ่านมา ก็ได้เข้ามาพูดคุยกับทุกหน่วยงานทั้งฝ่ายกฎหมาย (กมค.) และงบประมาณและการเงิน ทางตร.ได้ทำเอกสารส่งไปยังสำนักงบประมาณแต่ถูกตีกลับไปกลับมา 2-3 รอบ เป็นเพราะอะไร ตนเข้าใจว่าตำรวจก็ทำงานอยู่ แต่ทำไมถึงยังไม่เสร็จเสียที จึงได้ไปยื่นคำร้องต่อศาล ซึ่งจะเรียกสำนักงานตำรวจแห่งชาติเข้ามาพูดคุยในวันที่ 22 พ.ค. 2566 นี้