เมื่อวันที่ 26 มี.ค. สำนักงานทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 6 โดยส่วนส่งเสริมและประสานงานเครือข่ายทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง, ส่วนบริหารทั่วไป, ศูนย์อนุรักษ์ทรัพยากรป่าชายเลนที่ 10 (ตะกั่วป่า พังงา) และศูนย์อนุรักษ์ทรัพยากรป่าชายเลนที่ 11 (ลำแก่น พังงา) ร่วมกันติดตามสถานการณ์หลุมฟักไข่เต่ามะเฟือง รังที่ 8 หลังตรวจพบการยุบตัวของปากหลุมฟักไข่ ตั้งแต่วันที่ 25 มีนาคม 2566 เวลา 18.29 น. เจ้าหน้าที่ได้เฝ้าติดตามอย่างใกล้ชิด พร้อมกับประสานขั้นตอนการปฏิบัติกับศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทะเลอันดามันตอนบน จนถึงเวลา 01.27 น. ของวันที่ 26 มีนาคม 2566 ลูกเต่ามะเฟืองได้ทยอยขึ้นปากหลุมอย่างต่อเนื่อง

เจ้าหน้าที่เก็บลูกเต่าไว้ในภาชนะที่ปลอดภัย และรอสักครู่ไม่มีลูกเต่าขึ้นมา จึงเริ่มทำการเปิดปากหลุม และขุดช่วยเหลือลูกเต่ามะเฟืองที่ฟักออกจากไข่ขึ้นมาจากหลุมนำไปปล่อยลงสู่ทะเล 59 ตัว ลูกเต่ามะเฟืองตายแรกคลอด 4 ตัว ไข่เต่ามะเฟืองไม่มีน้ำเชื้อ 10 ฟอง และไข่ลม 10 ฟอง (รวมเป็นจำนวนทั้งสิ้น 83 ฟอง) คิดเป็นอัตราการฟัก 86% อัตราการรอดตาย 93% ซึ่งรังไข่เต่ามะเฟืองรังที่ 8 เป็นรังที่พบแม่เต่ามะเฟืองขึ้นมาวางไข่ เมื่อวันที่ 28 มกราคม 2566 นับเป็นวันที่ 57 วัน หลังจากที่พบแม่เต่ามะเฟืองขึ้นมาวางไข่ สรุป ศูนย์เฝ้าระวังติดตามสถานการณ์เต่ามะเฟืองชายหาดบางขวัญ อ.ตะกั่วทุ่ง จ.พังงา แม่อัลฟ่าได้ขึ้นมาวางไข่ 8 รัง จำนวนลูกเต่ามะเฟืองรวมทั้งสิ้น 632 ตัว