เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 5 เม.ย. ที่ อาคารกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) ถนนแจ้งวัฒนะ กรุงเทพฯ นายภัทรพงศ์ ศุภักษร หรือ ทนายอั๋น บุรีรัมย์ “คนรุ่นใหม่ ประชาธิปไตยบริสุทธิ์” เดินทางเข้ายื่นหนังสือร้องดีเอสไอ ขอให้ตรวจสอบสถานะทางการเงินของนายษิทรา เบี้ยบังเกิด หรือ ทนายตั้ม เลขาธิการมูลนิธิทีมงานทนายประชาชนฯ โดยมีนางพิชญา ธารากรสันติ โฆษกดีเอสไอ และ พ.ต.ต.วรณัน ศรีล้ำ ผอ.กองบริหารคดีพิเศษ เป็นตัวแทนรับเรื่อง ก่อนเสนอผู้บังคับบัญชาต่อไปตามลำดับ

ทนายอั๋น กล่าวว่า วันนี้มายื่นหนังสือให้ดีเอสไอ ช่วยตรวจสอบสถานะทางการเงินของทนายตั้ม เพราะมีความพยายามทำตัวเป็นบุคคลสาธารณะ ย่อมต้องเข้าสู่กระบวนการตรวจสอบ ต้องรับฟังคำติชมของประชาชน และตามที่ปรากฏเป็นข่าวที่ผ่านมา ทนายตั้มถือว่าเป็นผู้ทรงอิทธิพลทางความคิดของสังคม เชื่อว่าทุกคนทราบดีว่า งบขาดทุนของบริษัททนายตั้ม มีกำไรขาดทุนสะสม 4 ปี บวกลบจำนวน 400,000 บาท แต่การใช้ชีวิตของเขากลับมีทั้งแบรนด์เนม มีการใช้รถยนต์หรู ทั้งยังทำตัวไฮโซยิ่งกว่านายโอ๊ค-พานทองแท้ ชินวัตร ซึ่งโดยรวมคือการใช้จ่ายไม่สอดคล้องกับรายได้

ทนายอั๋น กล่าวอีกว่า บริษัท ษิทรา ลอว์เฟริม จํากัด ของนายษิทรา ตลอดระยะเวลานับแต่ปีงบดุล 2561-ปีงบดุล 2564 จะเห็นว่ามีกำไร (ขาดทุน) จำนวนติดลบ 470,000 บาทเท่านั้น ดังนั้น ตนจึงมีข้อเคลือบแคลงสงสัยว่ากำไร (ขาดทุน) จำนวนดังกล่าว ทำไมนายษิทราจึงมีความเป็นอยู่ โดยใช้ชีวิตที่น่าจะเกินรายได้จากบริษัทดังกล่าว อาทิ ซื้อคฤหาสน์ ราคา 60 ล้านบาท ชอปปิงสินค้าแบรนด์เนม หรือสิ่งของหรูหราหลักหลายล้านบาทที่ต่างประเทศ มีรถยนต์หรูหลายคัน สะสมนาฬิกายี่ห้อดังราคาหลายล้านบาท เป็นต้น เข้าทำนอง แจ้งรายได้นิดหน่อย แต่ใช้ชีวิตร้อยล้านหรือไม่ และจากข้อเท็จจริงดังกล่าว สังคมยังเกิดข้อสงสัยว่านายษิทรา มีรายได้จากทางใดอีกหรือไม่ นอกเหนือจากรายได้จากบริษัทดังกล่าว และการแสดงงบรายได้-รายจ่ายของบริษัทดังกล่าว ถูกต้องตรงตามความเป็นจริงหรือไม่ เพราะลำพังรายจากวิชาชีพทนายความ ไม่น่าจะมีทรัพย์สินและการใช้ชีวิตแบบหรูหราฟุ่มเฟือยดังกล่าวได้

จากข้อสงสัยของสังคมดังกล่าว จึงเห็นได้ว่า ควรมีมาตรการตรวจสอบสถานะทางการเงิน บริษัท ษิทรา ลอว์เฟิร์ม จํากัด, นายษิทรา เบี้ยบังเกิด และมูลนิธิทีมงานทนายประชาชนเพื่อเยาวชนและสังคม ทั้งนี้ ถ้าหากการแสดงสถานะทางการเงินของบริษัทฯ ตรงไปตรงมาอย่างถูกต้อง รายรับของนายษิทราได้มาโดยสุจริต และการดำเนินการของมูลนิธิทีมทนายเพื่อประชาชนฯ เป็นไปด้วยความโปร่งใสด้วยแล้ว ย่อมจะเป็นผลดีต่อนายษิทราเอง แต่ถ้าหากทุกอย่างเกิดจากและได้มาโดย “ทุจริต” ย่อมเกิดผลกระทบและเสียหายต่อสังคมและประชาชนได้ และอาจเข้าข่ายความผิดมูลฐานตามกฎหมายฟอกเงินได้ และการตรวจสอบดังกล่าวย่อม เกิดผลดีต่อสังคมและประชาชน

กรณีที่ทนายตั้มระบุว่า เรียกรับเงิน 300,000 บาท เป็นค่าเสี่ยงภัยในการแถลงข่าวเนื่องจากอาจจะถูกฟ้องนั้น ทนายอั๋น กล่าวว่า การที่ทนายตั้มบอกว่ามีค่าเสี่ยงภัย แสดงว่าสิ่งที่ทนายตั้มทำนั้นเป็นสิ่งผิดกฎหมายหรือ ทนายษิทรากำลังนำลูกความไปทำสิ่งผิดกฎหมายหรือ ถึงต้องเสี่ยงภัย เพราะตนยังแถลงข่าวได้โดยไม่ต้องเกรงกลัว หากเป็นสิ่งที่ถูกต้องตามหลักกฎหมาย ดังนั้นการที่ทนายษิทราเรียกรับเงินเช่นนี้ จะเข้าข่ายผิดมรรยาททนายความหรือไม่

ส่วนกรณีสลิปโอนเงิน 500,000 บาท ที่มีกระแสข่าวว่า แฟนคลับลุงพลที่ต่างประเทศโอนเงินเข้ามูลนิธิของทนายษิทรานั้น ทนายอั๋น ระบุว่า จากหลักฐานที่ตนมี ประกอบกับที่ลุงพลออกมายอมรับ ก็ยืนยันได้ว่าแฟนคลับลุงพลมีการโอนเงินจริง จากตอนแรก 3 ล้านบาท ต่อรองเหลือ 2 ล้านบาท และเงิน 500,000 บาท ก็เป็นค่าใช้จ่ายให้ทนายษิทราเดินทางลงพื้นที่บ้านกกกอก ยืนยันว่า ตนไม่กังวลว่าทนายษิทราจะฟ้องกลับ และแม้ว่าจะยังไม่เป็นความผิดมูลฐานที่ ปปง. รับเรื่อง แต่การมายื่นกับดีเอสไอครั้งนี้ ก็เป็นจุดเริ่มต้นในการตรวจสอบ ซึ่งหากดีเอสไอไม่พบความผิดปกติ ก็จะเป็นผลดีกับทนายษิทราเอง แต่หากพบรายได้ที่ผิดปกติ ก็จะเป็นผลดีต่อสังคม พร้อมขอให้สังคมจับตาดูงบดุลบริษัทปี 2565 ของทนายษิทรา ที่จะมีการยื่นภายในเดือนพฤษภาคมนี้ ว่าจะขาดทุนเช่นเดิม หรือมีเงิน 200-300 ล้าน ปรากฏเข้ามาในบริษัทหรือไม่ และถ้าหากมี ก็อยากทราบว่าเงินดังกล่าวมีที่มาอย่างไร

เมื่อถามว่าต้องการให้ดีเอสไอตรวจสอบสถานะทางการเงินของทนายตั้ม ตั้งแต่ช่วงเวลาใดนั้น ทนายอั๋น ระบุว่า ต้องถามว่าเขารวยตั้งแต่ปีไหน ถ้าเป็นตั้งแต่ช่วงคดีกกกอกก็ดีเหมือนกัน โดยตนต้องการดูว่าสถานะทางการเงินของเขามีความเปลี่ยนแปลงอย่างไร ร่ำรวยผิดปกติหรือไม่ ส่วนหลักฐานที่นำมา ก็นำมาจากที่มีการเผยแพร่ตามโซเชียลมีเดียด้วย เอกสารของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เป็นกำไรงบดุลขาดทุน โดยตนคัดลอกมาได้ 4 ปีย้อนหลัง

ต่อข้อถามว่า ไม่กลัวการถูกขุดกลับใช่หรือไม่ ทนายอั๋น ระบุว่า ยินดีให้ขุด เพราะอยากดูอดีตตัวเอง บางทีอาจลืมอดีตตัวเอง ในฐานะที่ตนว่าความเป็นทนายความ ตนมองว่าพฤติกรรมของเขาอาจเข้าข่ายความผิดมรรยาททนายความ อาจทำให้ภาพลักษณ์ของคนที่เป็นทนายความจริงๆ ได้รับผลกระทบ.