เมื่อวันที่ 7 เม.ย. ผู้สื่อข่าวได้รับแจ้งว่า มีหนุ่มชาวอำเภอหนองไผ่ ทำว่าวไทยขาย รายได้งามนับหมื่นบาทต่อเดือน โดยปัจจุบันทำไม่ทัน ต้องสั่งจองล่วงหน้า และต้องให้ลูกค้ามารับเองเท่านั้น ภายหลังเดินทางไปตรวจสอบ พบ นายธวัชชัย เชี่ยวชาญ หรือ “บอย” อาชีพช่างภาพอิสระ เปิดเผยว่า ตนเป็นช่างภาพอิสระ ในทุก ๆ วัน ก็จะไปช่วยญาติเปิดร้านถ่ายรูปที่ตลาด อ.หนองไผ่ จากนั้นก็จะใช้เวลากินเที่ยวตามประสาวัยรุ่นทั่วไป

จนกระทั่งวันหนึ่ง อยากจะเล่นว่าวที่เคยเล่นในวัยเด็ก จึงได้ลงมือทำและนำไปวิ่งเล่นที่โรงเรียนใกล้บ้าน ทำให้รู้สึกว่ามีความสุขและมีสมาธิเมื่อได้ทำว่าวไปเล่น จึงทำขึ้นมาอีกหลายตัว ก่อนจะโพสต์ในเฟซบุ๊กโชว์ด้วยความภาคภูมิใจ ปรากฏว่า มีคนชื่นชอบติดต่อเข้ามาขอซื้อจำนวนมาก ทำให้เห็นช่องทางที่จะทำรายได้เสริมให้แก่ครอบครัว จึงได้ใช้เวลาว่างหลังเลิกงาน รวมทั้งวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ ทำว่าวขาย โดยจะขายอยู่ที่ตัวละ 800-1,000 บาท แล้วแต่ลวดลายและความยากง่ายของตัวว่าว ขนาดความสูงมาตรฐานจะอยู่ที่ 160 ซม. การทำว่าวแต่ละตัวก็จะใช้เวลาประมาณ 2-3 วัน จึงจะเสร็จ เฉลี่ยในแต่ละเดือน ขายได้ประมาณเดือนละ 8-10 ตัว

นายธวัชชัย เผยต่อไปว่า สำหรับว่าวที่ตนทำขายนั้น ส่วนมากจะเป็น “ว่าวไทย” เช่น จุฬา สองห้อง เป็นต้น ซึ่งก็จะทำตามสั่งของลูกค้า โดยเฉพาะลวดลายต่าง ๆ ลูกค้าจะเป็นคนกำหนดมาเอง แต่ลายที่ได้รับความนิยมมากที่สุดคือ “ลายธงชาติ” ส่วนวัสดุอุปกรณ์ที่ใช้ทำโครง ก็จะทำจากไม้ไผ่และไม้ลาน ราคาก็จะแตกต่างกันมาก โดยไม้ลานจะแพงกว่าไม้ไผ่เกือบเท่าตัว เนื่องจากต้องสั่งจากต่างจังหวัดและมีราคาค่อนข้างแพง ขณะที่ไม้ไผ่สามารถหาได้ในพื้นที่ ส่วนตัวว่าวก็จะทำจากผ้าร่ม ซึ่งจะมีความคงทน สามารถอยู่ถึง 4-5 ปี ลูกค้าที่ซื้อไปก็จะนำไปวิ่งเล่นบ้าง บางรายก็ซื้อไปประดับบ้าน ร้านอาหาร ร้านกาแฟ เป็นต้น ทั้งนี้ ก่อนจะส่งมอบให้ลูกค้า จะต้องทำการทดสอบก่อนทุกตัว ว่าสามารถเล่นได้และกินลมจริง ๆ

“…เคยส่งว่าวที่ทำเสร็จแล้วไปให้ลูกค้าทางไปรษณีย์ ปรากฏว่าเกิดการเสียหาย จึงกำหนดเงื่อนไขว่า ต้องให้ลูกค้าที่สั่งซื้อ มารับด้วยตนเองเท่านั้น ไม่จัดส่งให้ ลูกค้าส่วนมากก็จะมาจากภาคอีสาน โดยเฉพาะจังหวัดบุรีรัมย์ จะมีกลุ่มลูกค้าที่ชื่นชอบการเล่นว่าวมาสั่งซื้อไปเป็นประจำ อยากให้ฝ่ายงานเกี่ยวข้อง ช่วยส่งเสริมให้เด็ก ๆ รู้จัดการเล่น “ว่าวไทย” ผมอยากจะสอนให้เด็ก ๆ ทำว่าวไทยเป็น เพื่อจะได้สืบทอดวัฒนธรรมสิ่งดีงามให้คงอยู่คู่กับชุมชนต่อไป…”