เมื่อวันที่ 8 เม.ย. นายอรรถพล เจริญชันษา รักษาราชการแทนอธิบดี กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช พร้อมด้วย นายมงคล ไชยภักดี หัวหน้าหน่วย ฉก.พญาเสือ กรมอุทยานฯ เปิดเผยว่า สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 6 เม.ย. 66 คณะเจ้าหน้าที่ ประกอบด้วยหน่วยเฉพาะกิจ ปฏิบัติการพิเศษ ผู้พิทักษ์อุทยานแห่งชาติ และสัตว์ป่า (หน่วยพญาเสือ) เจ้าหน้าที่สำนักงาน สนับสนุนการป้องกัน และปราบปรามที่ 3 ภาคเหนือ (สปป.3) เจ้าหน้าที่สำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ ที่ 1 (เชียงใหม่) เจ้าหน้าที่ตำรวจ ปทส.ภาค 5 เจ้าหน้าที่ตำรวจ กก.4 บก.ปทส. เจ้าหน้าที่ตำรวจ ตชด. และเจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.ดอยสะเก็ด

ได้ทำการตรวจค้นโรงงานแห่งหนึ่งใน อ.ดอยสะเก็ด จ.เชียงใหม่ ตามหมายศาลจังหวัดเชียงใหม่ ที่ ค.152/2566 จากตรวจค้นโรงงานดังกล่าว พบเป็นโรงเลื่อยแปรรูปไม้ขนาดใหญ่ ภายในพื้นที่ ตรวจพบไม้ประดู่ท่อน ที่ไม่พบรูปรอยดวงตราประทับไม้ของพนักงานเจ้าหน้าที่กองอยู่จำนวนมาก ภายในยังพบรถบรรทุก มีเลื่อยโซ่ยนต์ 3 เครื่อง บันทึกรายการชั่งนํ้าหนักบรรทุก และไม้ประดู่แปรรูปอีกจำนวนหนึ่ง

ส่วนในกองไม้ประดู่ที่ตรวจพบ เป็นไม้ประดู่ที่ลักลอบตัดในเขตห้ามล่าสัตว์ป่า ห้วยผึ้ง-วังยาว อ.น้ำปาด จ.อุตรดิตถ์ ซึ่งเจ้าหน้าที่สำนักงานสนับสนุนการป้องกันและปราบปรามที่ 3 ภาคเหนือ (สปป.3) ทำการฝังเครื่องติดตามผ่านดาวเทียมเข้าไปในท่อนไม้ เพื่อติดตามเส้นทางการเคลื่อนย้าย ตั้งแต่วันที่ 26 ก.พ. จากนั้นวันที่ 16 มี.ค. พบสัญญาณระบุไม้ถูกเคลื่อนย้าย ไปเก็บไว้ในโกดังที่ ต.น้ำไคร้ อ.น้ำปาด จ.อุตรดิตถ์ ก่อนที่จะถูกเคลื่อนย้าย ไปที่โรงงานแปรรูปไม้ที่ อ.ดอยสะเก็ด จ.เชียงใหม่

ต่อมาคณะเจ้าหน้าที่ จึงได้ทำการตรวจยึดไม้ของกลาง รวมทั้งหมด 401 ท่อน ตาม พ.ร.บ.ป่าไม้ 2484 และตรวจยึด 11 ท่อน ตาม พ.ร.บ.ป่าสงวน 2507 พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า 2562 ปริมาตรไม้ท่อนทั้งหมด 198.12 ลบ.ม. ค่าภาคหลวง 15,849.6 บาท ประเมินมูลค่าความเสียหายไม้ท่อนทั้งหมด 6,811,706 บาท หากประเมินตามราคาตลาด จะมีมูลค่ากว่า 20 ล้านบาท

จากการตรวจค้นและรวบรวมหลักฐานที่เกี่ยวข้อง พบว่าโรงงานแปรรูปแห่งนี้ได้ขออนุญาต ประกอบกิจการโรงเลื่อยถูกต้อง และยังพบอีกว่า หนึ่งในหุ้นส่วนบริษัท เป็นเจ้าหน้าที่ป่าไม้ ในสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม จังหวัดราชบุรี ได้ลาออกจากราชการ มีผลตั้งแต่วันที่ 7 เม.ย. 2566 คณะพนักงานเจ้าหน้าที่ จึงได้ร่วมกันตรวจยึดไม้ของกลาง พร้อมทั้งรวบรวมพยานหลักฐานที่เกี่ยวข้อง ทำการร้องทุกข์กล่าวโทษ ต่อพนักงานสอบสวน สภ.ดอยสะเก็ด ให้ดำเนินคดีกับเจ้าของโรงงาน และกรรมการบริษัทการค้าไม้ ที่ตั้งของจุดเกิดเหตุ

อย่างไรก็ตาม นายอรรถพล ได้ลงพื้นที่ติดตาม พร้อมมอบแนวทางการปฏิบัติงาน โดยเน้นย้ำให้เร่งตรวจสอบและติดตามขบวนการลักลอบตัดไม้ โดยบูรณาการร่วมกับหน่วยงานต่างๆ เพื่อดำเนินคดีกับผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องให้ถึงที่สุด

เบื้องต้นได้แจ้งข้อหา ประกอบด้วย 1.ภายในเขตควบคุมการแปรรูปไม้ มีไม้แปรรูปหวงห้ามชนิดอื่น มีจำนวนเกินกว่า 0.20 ลูกบาศก์เมตร ไว้ในครอบครอง โดยไม่ได้รับอนุญาต จากพนักงานเจ้าหน้าที่ 2.เป็นผู้รับอนุญาตตั้งโรงงานแปรรูปไม้ หรือผู้รับใบอนุญาตให้ค้า หรือมีไว้ในครอบครอง เพื่อการค้าซึ่งสิ่งประดิษฐ์ เครื่องใช้หรือสิ่งอื่นใด บรรดาที่ทำด้วยไม้หวงห้าม ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตาม ข้อกำหนดในกฎกระทรวง หรือในข้อกำหนด ที่ไม่จัดทำบัญชีรับและจำหน่ายไม้แปรรูป บัญชีรับและจำหน่ายสิ่งประดิษฐ์ เครื่องใช้หรือสิ่งอื่นใด บรรดาที่ทำด้วยไม้หวงห้าม ให้ถูกต้องตามความจริง 3.มีเลื่อยโซ่ยนต์ไว้ในครอบครอง โดยไม่ได้รับอนุญาต จากพนักงานเจ้าหน้าที่ อันเป็นความผิด ตามพระราชบัญญัติเลื่อยโซ่ยนต์ พ.ศ. 2545 มาตรา 4 และ 4.ช่วยซ่อนเร้น ช่วยจำหน่าย ช่วยพาเอาไปเสีย ซื้อ รับจำนำ หรือรับไว้โดยประการใด ซึ่งของอันตนพึงรู้ว่า เป็นของอันเนื่องด้วยความผิดมาตรา 242 อันเป็นความผิด ตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พุทธศักราช 2484 มาตรา 48 และมาตรา 58 ความผิดตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2560 มาตรา 246