เมื่อวันที่ 9 เม.ย. ผู้สื่อข่าวลงพื้นที่สำรวจหลัง เดลินิวส์ และ เครือมติชน สะท้อนผลเลือกตั้ง 2566 โดยการทำโพลเปิด 2 รอบ รอบที่ 1 เริ่มโหวตได้ตั้งแต่วันเสาร์ที่ 8 เม.ย. 2566 เป็นการโหวตผ่านช่องทางออนไลน์ทุกแพลตฟอร์มของสื่อเครือเดลินิวส์ และมติชน โดยนายจุลนิตย์ วังวิวัฒน์ ประธานหอการค้าจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า ถือเป็นเรื่องที่ดีที่จะได้ทราบว่านโยบายของใครโดนใจประชาชนมากกว่ากัน และสำหรับพรรคใดที่มีนโยบายยังไม่โดนใจประชาชน ก็จะได้นำไปปรับนโยบายให้เข้ากับประชาชนได้มากขึ้น เพื่อให้ได้รับคะแนนผลโหลดจากโพลสำรวจที่มากขึ้น เพราะกลุ่มคนรุ่นใหม่เขาจะไม่ยึดติดกับตัวบุคคล แต่จะมองเรื่องนโยบายที่จับต้องได้ รวมถึงประชาชนหลายๆ คนก็มีแนวคิดแบบเดียวกัน

สุดปังโพล ‘เดลินิวส์xมติชน’ เลือกนายกฯที่ใช่-พรรคที่ชอบ ขั้นตอนทำไงมาดูเลย!

โดยเฉพาะคนภาคเหนือต้องบอกว่า นโยบายสำคัญขณะนี้คือ เรื่องของอากาศสะอาด หลายพรรคที่ออกมาก็มีนโยบายนี้แต่ใครจะทำได้จริงจังมากกว่ากัน ที่ผ่านมาส่วนมากการแก้ไขการห้ามเผา การห้ามเข้าป่าล่าสัตว์ เป็นการแก้ไขที่ปลายเหตุ คนภาคเหนือต้องการอะไรที่ยั่งยืน นอกจากการที่ปัญหาหมอกควันจะกระทบด้านเศรษฐกิจการท่องเที่ยวแล้ว สิ่งสำคัญคือการกระทบต่อสุขภาพของพี่น้องประชาชน เรื่องสุขภาพเป็นเรื่องสำคัญมาก ขณะเดียวกันก็ด้านเศรษฐกิจก็ต้องดูผลจากการรัฐบาลที่ได้รับเลือกตั้งว่าจะมีเสถียรภาพของพรรคการเมืองมากน้อยแค่ไหนที่เข้ามาร่วมเป็นรัฐบาล เพราะประเทศไทยไม่ใช่พรรคการเมืองเดียวที่จะได้เสียงแล้วกลายเป็นรัฐบาล แต่ประกอบด้วยหลายๆ พรรคมาร่วมกันจัดตั้ง หากรัฐบาลมีเสถียรภาพที่ในการจัดตั้งพรรคและการบริหารจัดการนโยบายต่างๆ ที่จับต้องได้อย่างเป็นรูปธรรม ก็จะทำให้ด้านเศรษฐกิจการท่องเที่ยว ปัญหาปากท้อง ปัญหาฝุ่นควันและการแก้ไขปัญหาต่างๆ จะเกิดประสิทธิภาพที่มากขึ้น

นายชูไทย พรมสัก อายุ 65 ปี พ่อค้าจำหน่ายผลไม้ ชาวแม่ริม จ.เชียงใหม่ เปิดเผยว่า การเลือกตั้งครั้งนี้สับสนมากสำหรับหลายๆ คน เพราะต้องจำตัวเลขให้ได้ระหว่างพรรคการเมือง และตัวผู้สมัคร ส.ส. ซึ่งผู้สูงอายุบางคนจำไม่ได้ เกิดความสับสนในตัวเลือกได้ง่าย ไม่เหมือนเมื่อก่อนที่พรรคและ ส.ส. ได้หมายเลขเดียวกันทำให้จำได้ง่าย ส่วนเรื่องการทำโพลออกมาสำรวจความคิดเห็นของประชาชนของเดลินิวส์และมติชน ก็เป็นเรื่องที่ดีเพราะประชาชนก็จะได้ร่วมโหวตคนในดวงใจ และจะได้รู้ว่าคนส่วนใหญ่จะเลือกใคร ก็เกิดการแข่งขันกันมากขึ้นเพื่อให้ได้คะแนนจากประชาชน

“แต่หลังจากการเลือกตั้งและจัดตั้งรัฐบาลไปแล้ว สิ่งที่ชาวบ้านยังคงเป็นห่วงกันอยู่คือ การรวมกลุ่มของคนที่เสียผลประโยชน์ที่อาจจะมีม็อบ หรือการปฏิวัติขึ้นมาอีก การทำโพลสำรวจก็เหมือนกับเป็นทั้งแง่บวกและลบ เพราะกลุ่มที่เสียผลประโยชน์ก็อาจจะมีการคิดเพื่อให้เกิดเหตุการณ์ดังกล่าวขึ้นมาได้อีกและเสียงที่ประชาชนเลือกไปก็จะไม่เป็นผล ต้องมาเลือกตั้งใหม่อีก”