เมื่อวันที่ 10 เม.ย. ความคืบหน้า หลังจากมีความร่วมมือครั้งประวัติศาสตร์ ระหว่างเครือมติชน และเดลินิวส์ สื่อ 2 สำนักใหญ่ จัดทำโพลเลือกตั้ง 66 “เดลินิวส์ x มติชน” เพื่อสะท้อนผลเลือกตั้ง 2566 โดยการทำโพลเปิดทั้งหมด 2 รอบ สำหรับรอบที่ 1 เริ่มโหวตได้ตั้งแต่วันเสาร์ที่ 8 เม.ย. ที่ผ่านมา เป็นการโหวตผ่านช่องทางออนไลน์ทุกแพลตฟอร์มของสื่อเครือเดลินิวส์ และมติชน โดยในสื่อเครือเดลินิวส์ นอกจากโหวตได้ผ่านเว็บไซต์ https://www.dailynews.co.th/election-2566/poll ยังได้จัดทำ “คิวอาร์โค้ด” ส่องสแกนได้ในหนังสือพิมพ์ เพื่อร่วมโหวตแคมเปญขึ้นมาโดยเฉพาะ

ส่วนประเด็นคำถาม ในโพลรอบแรก มี 2 ข้อ เพื่อสะท้อนฉันทามติในกลุ่มประชาชนผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้ง ดังนี้ คำถามที่ 1 ท่านจะเลือกใครเป็นนายกรัฐมนตรี ในการเลือกตั้ง 2566 ตามด้วยคำถามที่ 2 ท่านจะสนับสนุนพรรคการเมืองใด ในการเลือกตั้ง 2566 โดยระบบการโหวตออนไลน์ดังกล่าว จะไม่สามารถโหวตซ้ำผ่านไอพี แอดเดรส (IP Address) เดียวกันได้ เพื่อป้องกันการทำโพลซ้ำ

หลังจากมีการเปิดให้ประชาชนร่วมโหวต โพลเดลินิวส์ x มติชน ในรอบที่ 1 มาตั้งแต่วันที่ 8 เม.ย. ที่ผ่านมา ได้รับความสนใจจากประชาชนทั่วประเทศหลากหลายสาขาอาชีพเป็นจำนวนมาก และยอดโหวตยังเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ สำหรับวันจันทร์ที่ 10 เม.ย. ถือเป็นวันที่ 3 ของการโหวตโพลรอบแรก จากข้อมูลของหนังสือพิมพ์เดลินิวส์, เดลินิวส์ออนไลน์ และสื่อเครือมติชน, ข่าวสด, ประชาชาติธุรกิจ มติชนสุดสัปดาห์ มติชนทีวี พบว่า ตัวเลขอัตราการเข้าถึงการโปรโมตเพื่อทำโพล หรือยอดรีช (Reach) การโปรโมตโพล ทั้งบนแพลตฟอร์มออนไลน์และโซเชียลมีเดีย มีรวมกันมากกว่า 285,000 รีช

ผู้สื่อข่าวรายงาน ได้สัมภาษณ์ความคิดเห็นของประชาชนใน จ.นครราชสีมา ที่มีส่วนร่วมในกิจกรรมครั้งนี้ น.ส.รัติกาล บุญชัยศิริ ครูชำนาญการพิเศษ มองว่า เป็นการผนึกกำลังของสื่อมืออาชีพ 2 ค่ายยักษ์ใหญ่ ผ่านหลายช่องทาง ทั้งหนังสือพิมพ์และเว็บไซต์ออนไลน์ จึงทำให้ประชาชนเข้าถึงง่าย สามารถเข้ามาโหวตเลือกได้ง่าย ไม่ยุ่งยาก เชื่อว่าจะสะท้อนผลคะแนนได้หลากหลาย และทั่วถึงทุกกลุ่มประชากร ทำให้ผลโพลที่ออกมามีความน่าเชื่อถือ เป็นมุมมองบริสุทธิ์ของผู้ที่มาแสดงผลโหวต แต่ก็มีข้อกังวลเล็กน้อย กรณีเมื่อโพลของ 2 สื่อยักษ์ มีพลังอย่างมาก อาจจะเป็นตัวแปรสำคัญช่วยสะท้อนผลการลงคะแนนเลือกตั้ง ทำให้บางพรรคการเมืองใช้ช่องทางนี้ เป็นเครื่องมือในการสร้างกระแสความนิยมให้กับตนเอง

อย่างไรก็ตาม การโหวตผ่านโพลเป็นเพียงการสำรวจเบื้องต้น เปิดพื้นที่ให้ประชาชนเข้ามาทดลองออกเสียงว่า ต้องการจะเลือกใคร ส่วนผลคะแนนที่แท้จริง ก็ต้องไปรอวันลงคะแนนเลือกตั้งที่จะมาถึง 14 พ.ค. 66 อยากให้ประชาชนไปใช้สิทธิเลือกตั้งให้ครบ 100%.