ภายหลังจากปิดการโหวตโพล รอบที่ 1 ชี้อนาคตการเมืองไทย ที่ทางสื่อ 2 สำนักใหญ่ ได้ร่วมกันจัดทำโพลเลือกตั้ง 66 “เดลินิวส์ X มติชน” ครั้งประวัติศาสตร์เพื่อสะท้อนผลเลือกตั้ง 2566 โดยการทำโพลรอบที่ 1 เริ่มโหวตวันที่ 8-14 เม.ย. ทางออนไลน์ทุกแพลตฟอร์มของสื่อเดลินิวส์ ไม่ว่าจะเป็นเว็บไซต์ https://www.dailynews.co.th/election-2566/poll รวมถึงเว็บไซต์ในเครือมติชน นอกจากนี้ยังโหวตผ่าน ทาง “คิวอาร์โค้ด” ส่องสแกนในหนังสือพิมพ์ได้ด้วย มีประเด็นคำถาม โพลรอบแรก 2 ข้อ คือ คำถามที่ 1 “ท่านจะเลือกใครเป็นนายกรัฐมนตรี” ในการเลือกตั้ง 2566 ตามด้วยคำถามที่ 2 “ท่านจะสนับสนุนพรรคการเมืองใด”

ความคืบหน้าเรื่องนี้ เมื่อวันที่ 19 เม.ย. จากการวิเคราะห์ผลโพลเลือกตั้ง 66 ของ “เดลินิวส์ X มติชน” โดย วิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งประกอบด้วย ศ.ดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ, รศ.ดร.ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์, ผศ.ดร.พีระ เจริญวัฒนนุกูล, อาจารย์เคท ครั้งพิบูลย์, นายปรีชา โพธิ รองคณบดีฯ และนายอัครพงษ์ ค่ำคูณ คณบดี ในฐานะหัวหน้าทีมวิเคราะห์ผลโพล พบว่า จำนวนกลุ่มตัวอย่างที่เดลินิวส์และมติชน ได้ทำการสำรวจครั้งที่ 1 ระหว่างวันที่ 8-14 เม.ย. 2566 เป็นเวลา 7 วัน มีจำนวน 84,706 คน ผ่านวิธีการ vote ออนไลน์ แบบไม่ซ้ำ IP Address

โดยมีเงื่อนไขการทำโพลครั้งนี้ 1. สำรวจจากกลุ่มตัวอย่างจำนวน 84,706 คน เก็บข้อมูลจากผู้ติดตามของเดลินิวส์และเครือมติชน 2. วิธีการ vote ออนไลน์ แบบไม่ซ้ำ IP Address 3. คำถามเพียง 2 ข้อ คือ เลือกพรรค และ เลือกนายกฯ 4. และมีการถามข้อมูลส่วนบุคคลโดยไม่ระบุชื่อ ได้แก่ ภูมิลำเนา เพศ อายุ การศึกษา อาชีพ และรายได้ พบว่ามีร้อยละของความคลาดเคลื่อน (Margin of Error) อยู่ที่ประมาณ 0.34% ค่ามาตรฐานไม่เกิน 3% ซึ่งเพียงพอต่อการอธิบายความน่าเชื่อถือของผลสำรวจ

“เพื่อไทย-ก้าวไกล”มาแรงทุกภาค

ประเด็นที่น่าสนใจ จากการสำรวจนี้ ยังพบว่า ผลโหวตของทั้งกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด โดยกลุ่มตัวอย่างที่เข้าร่วมในการตอบแบบสำรวจของเดลินิวส์และมติชน มีภูมิลำเนาอยู่ในพื้นที่กรุงเทพฯ และต่างจังหวัด จำนวนเท่าๆ กัน คือ 49.80% และ 50.20% ทำให้ไม่มีผลต่อความคลาดเคลื่อนในประเด็นการโน้มเอียงทางภูมิศาสตร์ และผลโพลแสดงให้เห็นว่า คนกรุงเทพฯ เลือก 1.นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ 28.48% 2.น.ส.แพทองธาร ชินวัตร 20.01% 3.พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา 18.04% และคนต่างจังหวัดเลือก 1.นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ 30.33% 2.น.ส.แพทองธาร ชินวัตร 26.38% 3.นายเศรษฐา ทวีสิน 17.27% ส่วน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้อันดับ 4 ที่ 9.49% คำถามที่น่าสนใจคือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ยังคงมีความนิยมสูงกว่า พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ และ นายอนุทิน ชาญวีรกูล

สำหรับพรรคการเมืองที่คนกรุงเทพฯ เลือก 3 อันดับแรก ได้แก่ พรรคเพื่อไทย 35.14% พรรคก้าวไกล 31.42% และ พรรครวมไทยสร้างชาติ 17.15% ตามลำดับ ดังนั้น กรุงเทพมหานครจึงเป็นสนามเลือกตั้ง 3 พรรคใหญ่ ซึ่งประเด็นความนิยมในตัวบุคคลกับพรรคการเมือง มีส่วนสัมพันธ์กันอย่างยิ่ง แต่หากดูสัดส่วนของความนิยมส่วนใหญ่แล้ว พรรคเพื่อไทย และ พรรคก้าวไกล มีรวมกันเกินกว่า 60% ในเขตกรุงเทพฯ

ปิดทาง“เพื่อไทย”แลนด์สไลด์

ในส่วนของต่างจังหวัด พิจารณาเป็นรายภูมิภาคจะพบว่า พรรคการเมืองที่ได้รับความนิยมสูงที่สุดเป็นอันดับที่ 1 คือ พรรคเพื่อไทย โดยมีนิยม 5 ภาค ได้แก่ ภาคเหนือ 49.83% ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 43.91% ภาคตะวันออก 43.40% ภาคกลาง 43.29% และภาคตะวันตก 41.32% ตามมาด้วยพรรคก้าวไกล ซึ่งได้อันดับที่ 2 ในทุกภูมิภาค ยกเว้นภาคใต้ ที่มีนิยมในอันดับ 1 ที่ 36.41% ในขณะที่พรรครวมไทยสร้างชาติ ตามมาเป็นอันดับที่ 3 ของทุกภูมิภาค ยกเว้นในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งพรรคภูมิใจไทย ได้อันดับ 3 ที่ 14.60% ทั้งนี้ มีข้อสังเกตของกลุ่มตัวอย่างต่อความนิยมในพรรคประชาธิปัตย์ ในพื้นที่ภาคใต้ มีเพียง 6.01% ซึ่งน้อยกว่าพรรครวมไทยสร้างชาติ ที่ได้ 13.40% หรือห่างกันมากกว่าเท่าตัว สะท้อนให้เห็นถึงความนิยมในพรรคประชาธิปัตย์ ที่ลดน้อยลงจากที่เคยได้รับความนิยมอย่างสูงในพื้นที่ภาคใต้

จากผลสำรวจแสดงให้เห็นว่าโอกาสที่พรรคเพื่อไทย จะได้รับความนิยมแบบแลนด์สไลด์ ยังดูจะเป็นไปได้ยาก เนื่องจากไม่มีภูมิภาคใดเลยที่ได้มากกว่า 50% ผลโพลยังแสดงให้เห็นว่า นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ได้รับความนิยมเป็นอันดับ 1 ในภาคกลาง ภาคตะวันออก ภาคตะวันตก และภาคใต้ ตามมาด้วย น.ส.แพทองธาร ชินวัตร ที่ได้รับความนิยมเป็นอันดับ 1 ในภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ รวมทั้งนายเศรษฐา ทวีสิน ที่ได้รับความนิยมในอันดับที่ 3 ในทุกภูมิภาค ยกเว้นภาคใต้ ที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มาเป็นอันดับที่ 3 (15.34%) เบียดแซงเอาชนะนายเศรษฐา ทวีสิน ซึ่งได้รับความนิยมเป็นอันดับที่ 4 (10.18%) ในภาคใต้

หากจำแนกตามเพศแล้ว เป็นเพศชาย มีส่วนร่วมในโพลมากถึง 67.15% โดย นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ และ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร ได้รับความนิยมจากทุกเพศในอันดับที่ 1 และ 2 และ นายเศรษฐา ทวีสิน ได้รับความนิยมอันดับที่ 3 จากเพศชาย ในขณะที่เพศหญิงและผู้ไม่ระบุเพศ เทความนิยมในอันดับที่ 3 ให้กับ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ในส่วนของพรรคการเมืองนั้น เพศชายเลือกพรรคเพื่อไทยอันดับ 1 และ ก้าวไกลอันดับ 2 แต่เพศหญิงและผู้ไม่ระบุเพศเลือกพรรคก้าวไกลอันดับ 1 และทุกเพศให้พรรครวมไทยสร้างชาติ เป็นอันดับที่ 3

ข้าราชการโหวต “อุ๊งอิ๊ง-พิธา”มากกว่า “บิ๊กตู่”

เมื่อพิจารณาจากช่วงอายุของกลุ่มตัวอย่าง จะพบว่า Generation X (อายุ 42-57 ปี) เป็นผู้มีส่วนร่วมมากที่สุด คือ 34.82% โดยมีความนิยมพรรคเพื่อไทย และ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร เป็นอันดับที่ 1 เช่นเดียวกับกลุ่ม Baby Boomer (อายุ 58-76 ปี) ที่เลือกพรรคเพื่อไทย อันดับ 1 แต่ก็มีแนวโน้มที่จะเลือกพรรครวมไทยสร้างชาติ และ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรีเป็นอันดับที่ 3 ด้วย ทั้งนี้ กลุ่มวัย 77 ปีขึ้นไป ให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นอันดับ 1 แต่ก็ยังมีความนิยมพรรคเพื่อไทยด้วย ส่วนพรรคก้าวไกลและพรรคเพื่อไทย ยังคงได้รับความนิยมจากกลุ่ม Gen Y (อายุ 26-41 ปี) และ New Voter ในกลุ่ม Gen Z (อายุ 18-25 ปี) ที่เลือก นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ และ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร เป็นอันดับ 1 และ 2 ตามลำดับ นอกจากนี้ เกือบครึ่งหนึ่งของผู้ตอบแบบสอบถาม คือ 49.51% เป็นผู้มีการศึกษาในระดับปริญญาตรี ที่ให้ความนิยมนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ และพรรคก้าวไกล เป็นอันดับ 1 และเลือก น.ส.แพทองธาร ชินวัตร และพรรคเพื่อไทย เป็นอันดับ 2 นอกจากนี้ มีข้อสังเกตว่า ผู้ที่มีการศึกษาในระดับปริญญาเอก ได้ให้ความนิยมนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เป็นอันดับ 1 และ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นอันดับที่ 2 ส่วนอันดับ 3 เป็นของ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร

ในตัวแปรด้านสาขาอาชีพของกลุ่มตัวอย่างนั้นพบว่า “กลุ่มข้าราชการ” เข้ามาร่วมตอบแบบสอบถามมากที่สุดจำนวนถึง 24.27% หรือเกือบ 1 ใน 4 ของผู้ตอบแบบสอบถามทั้งหมด โดยข้าราชการโหวตให้ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร เป็นอันดับ 1 ที่ 24.78% ตามมาด้วย นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ อันดับ 2 ที่ 20.74% และอันดับ 3 คือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ 17.87% สะท้อนให้เห็นว่า กลุ่มข้าราชการที่ทำงานภายใต้การบริหารงานของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มาเป็นเวลามากกว่า 8 ปี ต้องการเปลี่ยนแปลงผู้นำ โดยเฉพาะผู้นำรุ่นใหม่

เมื่อพิจารณาระดับรายได้ของกลุ่มตัวอย่างพบว่า โดยทุกกลุ่มรายได้เลือก นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร และ นายเศรษฐา ทวีสิน มากที่สุดเป็น 3 ลำดับแรก โดยพรรคเพื่อไทย ได้อันดับ 1 และพรรคก้าวไกล ได้อันดับ 2 แสดงให้เห็นถึงความนิยมของทั้งสองพรรค ซึ่งอาจจะเป็นผลมาจากความชื่นชอบต่อนโยบายด้านเศรษฐกิจ และต้องการความเปลี่ยนแปลงในเรื่องความมั่นคงทางรายได้

โพล “เดลินิวส์ X มติชน” รอบสองเริ่ม 22-28 เม.ย.นี้

อย่างไรก็ดีหลังจากนี้ โพล “เดลินิวส์ X มติชน เลือกตั้ง ’66” ในรอบที่สอง จะเริ่มเปิดโหวตระหว่างวันที่ 22-28 เม.ย. 66 จะมีทั้งหมด 4 คำถาม โดย คำถามที่ 1 ท่านจะเลือกผู้สมัคร ส.ส.เขตจากพรรคการเมืองใด ในการเลือกตั้ง 2566 นี้? พรรคก้าวไกล, พรรคชาติไทยพัฒนา, พรรคชาติพัฒนากล้า, พรรคไทยสร้างไทย, พรรคประชาธิปัตย์, พรรคพลังประชารัฐ, พรรคเพื่อไทย, พรรคภูมิใจไทย, พรรครวมไทยสร้างชาติ, พรรคเสรีรวมไทย, พรรคอื่นๆ, ยังไม่ตัดสินใจ และไม่เลือก ส.ส.เขตจากพรรคใดทั้งสิ้น

คำถามที่ 2 ท่านจะเลือกปาร์ตี้ลิสต์พรรคใด ในการเลือกตั้ง 2566 นี้? พรรคก้าวไกล, พรรคชาติไทยพัฒนา, พรรคชาติพัฒนากล้า, พรรคไทยสร้างไทย, พรรคประชาธิปัตย์, พรรคพลังประชารัฐ, พรรคเพื่อไทย, พรรคภูมิใจไทย, พรรครวมไทยสร้างชาติ, พรรคเสรีรวมไทย, พรรคอื่นๆ, ยังไม่ตัดสินใจ และไม่เลือกปาร์ตี้ลิสต์จากพรรคใดทั้งสิ้น

คำถามที่ 3 ท่านจะสนับสนุนใครเป็นนายกรัฐมนตรี ในการเลือกตั้ง 2566 นี้? นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ (พรรคก้าวไกล), น.ส.แพทองธาร ชินวัตร (พรรคเพื่อไทย), นายเศรษฐา ทวีสิน (พรรคเพื่อไทย), พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา (พรรครวมไทยสร้างชาติ), นายอนุทิน ชาญวีรกูล (พรรคภูมิใจไทย), พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส (พรรคเสรีรวมไทย), คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ (พรรคไทยสร้างไทย), นายกรณ์ จาติกวณิช (พรรคชาติพัฒนากล้า), พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ (พลังประชารัฐ), นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ (พรรคประชาธิปัตย์), ยังไม่ตัดสินใจ, คนอื่นๆ และไม่สนับสนุนแคนดิเดตนายกฯ คนใดทั้งสิ้น

คำถามที่ 4 ส.ว. ควรโหวตเลือกแคนดิเดตนายกฯ จากพรรคที่ได้ ส.ส. มากที่สุดหรือไม่? ควรเลือกแคนดิเตตนายกฯ จากพรรคที่ได้ที่นั่ง ส.ส. มากที่สุด และเลือกจากพรรคการเมืองใดก็ได้.