และหากได้ไปเยือนวัดสำคัญในตัวเมืองเชียงใหม่ด้วย จะต้องมีโอกาสได้รับทิพย์ปี๋ใหม่เมืองจำนวน 10,727 ขวด “น้ำทิพย์” หรือ “น้ำศักดิ์สิทธิ์” ตามความเชื่อของล้านนาโบราณที่นำมาจากแหล่งน้ำที่มีความเชื่อว่าเป็นแหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์ 9 แหล่งสำคัญ โดยมีการทำพิธีหุงน้ำทิพย์ ณ วัดพระธาตุดอยสุเทพราชวรวิหาร บริเวณลานชมวิว มีการเจริญพระพุทธมนต์ทั้ง 7 ที่ใช้ในพิธีสำคัญของเมือง เพื่อให้เกิดความเป็นสิริมงคลต่อผู้ที่ได้รับน้ำทิพย์

วัดพระธาตุดอยสุเทพราชวรวิหาร พระอารมหลวง ชั้นโท เป็นวัดสำคัญประจำจังหวัดที่เป็นศูนย์รวมจิตใจของคนเชียงใหม่ จึงได้รับเลือกให้เป็นสถานที่ประกอบพิธีหุงน้ำทิพย์ รวมทั้งพิธีเจริญพระพุทธมนต์สมโภช 727 ปี นพบุรีศรีนครพิงค์ เชียงใหม่ โดยมีพระเจดีย์บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า สร้างขึ้นในสมัยของพระญากือนามหาราช กษัตริย์องค์ที่ 6 แห่งราชวงศ์มังราย ผู้ทรงมีความเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา

นอกจากเสื้อลายดอก ที่แต่งแต้มความสดใสให้กับเทศกาลสงกรานต์ซึ่งห่างหายไปตลอดช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด 19 อยากชวนให้สลัดลายดอก กับกางเกงทั้งสั้นและยาวที่สวมอยู่ มานุ่งซิ่นสีสดกับผ้าแถบและผ้าคลุมแสนจัดจ้านท้าทายแสงแดดจ้า ร้อนแรงเกินไปก็มีจ้อง (ร่ม) ให้กาง ทรงผมผิดระเบียบไม่เข้ากับชุดก็มีบริการปรับเปลี่ยนให้ แถมด้วยรองเท้าคีบสุดแสนจะเข้ากัน รับรองว่าได้แปลงร่างเป็นกาสะลอง-ซ้องปีบอย่างแนบเนียน แม้ว่าจะไม่ได้เตรียมตัวเตรียมใจมาล่วงหน้า

ทั้งหมดที่ว่านั้นมีค่าใช้จ่ายสำหรับการเช่าอยู่ที่ 140 บาทขาดตัว พิกัดอยู่ที่ “วัดต้นเกว๋น” หนึ่งในวัดโบราณที่มีความโดดเด่นด้านสถาปัตยกรรมจนทำให้กลายเป็นสถานที่ถ่ายทำละครมาแล้วหลายเรื่อง รวมไปถึงวิหารที่เป็นต้นแบบของ “หอคำหลวง” แลนด์มาร์คสำคัญของพื้นที่อุทยานหลวงราชพฤกษ์

“วัดต้นเกว๋น” หรือ “วัดอินทราวาส” เป็นวัดเก่าแก่อายุกว่า 100 ปี มีกำแพงอิฐแบบโบราณที่เป็นเอกลักษณ์ ชื่อเรียกต้นเกว๋นนั้นเป็นเพราะมีต้นมะเกว๋นที่เรียกชื่อตามภาษาพื้นเมืองล้านนา หรือต้นตะขบป่าอยู่ในบริเวณวัด ก่อนจะเปลี่ยนชื่อให้คล้องกับชื่อของเจ้าอาวาส “อินทร์” แต่ผู้คนยังคงเรียกวัดแห่งนี้ว่า ต้นเกว๋น ดังเดิม

สิ่งที่สำคัญคือ ศาลาจตุรมุข ซึ่งพบเพียงหลังเดียวในภาคเหนือ และเป็นต้นแบบทางศิลปกรรมล้านนาที่มีคุณค่าและยังคงความสมบูรณ์ สมาคมสถาปนิกสยามประกาศให้เป็นอาคารอนุรักษ์ดีเด่น เมื่อปี พ.ศ. 2532 นอกจากนี้ยังมีอุโบสถไม้เก่าแก่สภาพสมบูรณ์ มีลวดลายแกะสลักสวยงาม

จากวัดต้นเกว๋น เข้าเมืองมาแถวเมืองเก่าเวียงกุมกาม มี “วัดเจดีย์เหลี่ยม” หรือที่ชาวบ้านเรียกวัดกู่คำหลวง สร้างขึ้นเมื่อ ปี พ.ศ. 1831 โดยเจดีย์ที่อยู่ในวัดนั้นพญาเม็งรายทรงให้ช่างไปถอดแบบพระเจดีย์กู่กุด จากวัดจามเทวี จังหวัดลําพูน มาเป็นต้นแบบ หลังจากพญาเม็งรายยกทัพมาตีเมืองลำพูนและยกทัพไปสร้างเมืองใหม่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือก่อนจะยกทัพมาสร้างเมืองใหม่ริมแม่น้ำปิง ตั้งชื่อเมืองว่า “เวียงกุมกาม” ในปี พ.ศ. 1820

โดยเริ่มแรกให้มีการขุดคูเวียงทั้งสี่ด้าน แล้วให้ขุดหนองสระใกล้ที่ประทับ ก่อนจะทรงโปรดให้เอาดินที่ขุดจากหนองมาปั้นเป็นอิฐ นำมาก่อเป็นเจดีย์ไว้ในเวียงกุมกาม เพื่อเป็นที่สักการะของประชาชน เจดีย์รูปทรงมณฑปลด 5 ชั้น เป็นรูปแบบเจดีย์ในระยะแรกของล้านนา ได้รับอิทธิพลจากแคว้นหริภุญไชย

เจดีย์กู่คำมีลักษณะเป็นสี่เหลี่ยม มีพระพุทธรูปยืนด้านละ 15 องค์ แต่ละด้านมีซุ้มพระชั้นละ 3 องค์ มี 5 ชั้น รวมทั้งหมด 60 องค์ เหตุที่ได้ชื่อว่ากู่คำ เพราะมีการประดับด้วยทองคำลงมาตั้งแต่ยอด แต่เนื่องจากได้รับการบูรณะครั้งใหญ่เมื่อ พ.ศ. 2451 โดยรองอำมาตย์เอก หลวงโยนะการพิจิตร (หม่องปันโหย่ อุปะโยคิน) คหบดีชาวพม่า ทำให้พระพุทธรูป ซุ้มพระ ลายพรรณพฤกษากลายเป็นรูปแบบศิลปะพม่า และมีการเพิ่มพระพุทธรูปนั่งอีก 4 องค์ รวมทั้งหมด 64 องค์ เพื่อให้เท่ากับอายุของรองอำมาตย์เอก หลวงโยนะการพิจิตร ในขณะนั้นด้วย วัดเจดีย์เหลี่ยมเป็นหนึ่งใน 7 วัดศักดิ์สิทธิ์ที่มีบ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์ซึ่งนำมาใช้ในพิธีหุงน้ำทิพย์

วัดเก่าแก่อีกแห่งในเมืองเชียงใหม่ที่ผู้คนมักแวะเวียนไปโดยเฉพาะในช่วงเทศกาลสงกรานต์ก็คือ “วัดโลกโมฬี วัดเก่าแก่อายุกว่า 500 ปี สร้างในสมัยอาณาจักรล้านนา ตั้งอยู่บริเวณทิศเหนือของตัวเมืองเชียงใหม่ ใกล้แจ่งหัวริน พระอารามหลวงนอกกำแพงเมืองด้านทิศตะวันตกเฉียงเหนือ เคยถูกใช้เป็นสถานที่ใช้ในการต้อนรับพระราชอาคันตุกะจากต่างเมืองในสมัยพญากือนา และอยู่ในฐานะวัดสำคัญในพระราชสำนักมาโดยตลอด จนกระทั่งหลังช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 วัดโลกโมฬีถูกทิ้งให้ร้าง จนถึงปี พ.ศ. 2502 กรมศิลปากรได้ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานแห่งชาติ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2544 กรมการศาสนาได้อนุมัติให้ยกฐานะวัดโลกโมฬีจากวัดร้างให้เป็นพระอารามที่ถูกต้องตามกฎหมาย

ภายในวัดมีพระเจดีย์ขนาดใหญ่ ตั้งอยู่บนฐานสี่เหลี่ยมขนาดใหญ่ ลดหลั่นกัน 3 ชั้น พระเจดีย์และลวดลายปูนปั้นที่วัดโลกโมฬีนี้ จัดได้ว่าเป็นศิลปกรรมแบบล้านนาชิ้นเอก ชิ้นหนึ่งในเมืองเชียงใหม่ ในปี พ.ศ. 2545 ได้มีการเททองรูปเหมือนพระนางจิรประภามหาเทวี พระอัครมเหสีในพระเมืองเกษเกล้า พระมหากษัตริย์ลำดับที่ 12 แห่งอาณาจักรล้านนาสืบต่อจากพระราชสวามี พระองค์ได้รับการยกย่องว่าเป็นเทพแห่งความรัก เพราะความรักที่พระนางมีต่อพระสวามี บ้านเมือง และประชาชน ในช่วงปีเศษที่ทรงครองราชย์นั้นได้ทรงอุปถัมภ์วัดโลกโมฬีด้วย บ้างก็มาขอให้มีคู่ บ้างก็ขอให้ได้พบคู่ครอง ใครที่แต่งงานแล้วก็มาขอให้มีลูก ความสมหวัง สมปรารถนาของผู้คนที่มาสักการะ ทำให้เรื่องราวเลื่องลือจนผู้คนมากมายมาสักการะเพื่อขอพรบ้าง

ไม่ไกลจากวัดโลกโมฬีในละแวกคูเมือง มีวัดสำคัญอีกแห่งคือ “วัดพระสิงห์วรมหาวิหาร” วัดที่มีประวัติยาวนานกว่า 655 ปีเดิมชื่อ “วัดลีเชียงพระ” หมายถึง วัดที่ตั้งใกล้ตลาดกลางเมือง เป็นพระอารามหลวงชั้นเอก ทั้งยังเป็นที่ประดิษฐาน พระสิงห์ (พระพุทธสิหิงค์) พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์คู่เมืองเชียงใหม่ และแผ่นดินล้านนา โดยในช่วงงานประเพณีปี๋ใหม่เมืองจะมีการอัญเชิญพระพุทธสิหิงค์ขึ้นประดิษฐานบนรถบุษบกแห่ไปรอบเมืองเพื่อให้ประชาชนได้สรงน้ำเนื่องในเทศกาลปีใหม่

ภายในวัดมีโบราณสถานมากมาย ทั้งพระอุโบสถ แบบศิลปะล้านนา ด้านข้างแลเห็นหน้าต่างขนาดใหญ่ตีเป็นช่องแบบไม้ระแนง แต่ภายในเป็นหน้าต่างจริง มีลายปูนปั้นบริเวณซุ้มประตูทางเข้า หน้าบันมีลักษณะวงโค้งสองอันเหนือทางเข้าประกบกัน เรียกว่า คิ้วโก่ง เหนือขึ้นไปเป็นวงกลมสองวงคล้ายดวงตา ที่เสาและส่วนอื่นๆ มีปูนปั้นนูน ลงรักปั้นปิดทอง

นอกจากนี้ยงัมี หอไตร เป็นอาคารครึ่งตึกครึ่งไม้ ผนังด้านนอกประดับด้วยทวยเทพปูนปั้น ทำเป็นรูปเทพพนมยืน ฝีมือช่างสมัยพระเมืองแก้ว ประมาณ พ.ศ. 2476 เจ้าแก้วนวรัฐได้ซ่อมแซมขึ้นใหม่ และวิหารลายคำ มีลวดลายปูนปั้นที่สวยงามปราณีตบรรจง แสดงให้เห็นฝีมือของช่างในยุคนั้น ตัววิหารสร้างตามแบบศิลปกรรมของภาคเหนือ มีรูปปั้นพญานาค 2 ตัวอยู่บันไดหน้า และใกล้ๆ พญานาค มีรูปปั้นสิงห์ 2 ตัว ภายในเป็นที่ประดิษฐาน “พระพุทธสิหิงค์” บนผนังด้านหลังพระประธาน

ไปเชียงใหม่คราวหน้าลองเปลี่ยนสไตล์มาเป็นคนเมืองแบบจัดเต็ม นุ่งซิ่น ห่มผ้าแถบ กางจ้อง จะเป็นสาวหวานอย่างกาสะลอง หรือสาวขี้วีนโมโหร้ายอย่างซ้องปีบ รับรองว่าได้ความรู้สึกแปลกใหม่กับสนนราคาที่แสนเป็นมิตรแน่นอน.

อธิชา ชื่นใจ

ขอบคุณภาพจาก ททท.