สืบเนื่องจากกรณีเมื่อวันที่ 5 เม.ย. นายภัทรพงศ์ ศุภักษร หรือ ทนายอั๋น บุรีรัมย์ ได้เข้ายื่นหนังสือร้องดีเอสไอ ขอให้ตรวจสอบสถานะทางการเงินของนายษิทรา เบี้ยบังเกิด หรือ ทนายตั้ม เลขาธิการมูลนิธิทีมงานทนายประชาชนฯ ในประเด็นสถานะการเงิน เรื่องภาษีที่ไม่สอดคล้องกับรายรับ ล่าสุดทางกรมสอบสวนคดีพิเศษ ได้ส่งหนังสือตอบรับที่ ยธ. 0816/575 รับคำร้องดังกล่าวเพื่อพิจารณาในขั้นตอนถัดไปนั้น

เกี่ยวกับเรื่องนี้ เมื่อวันที่ 24 เม.ย. ผู้สื่อข่าว “เดลินิวส์” ได้รับการเปิดเผยถึงรายละเอียดเพิ่มเติมจากเจ้าหน้าที่ระดับสูงภายในกรมสอบสวนคดีพิเศษ ว่า เบื้องต้นเป็นการแจ้งรับเรื่องโดยขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาและจากหนังสือเลขที่ ยธ. 0816/575 เป็นการแจ้งว่าได้ส่งเรื่องไปยังกองคดีภาษีอากรที่รับผิดชอบในเรื่องดังกล่าว ซึ่งประเด็นที่ทนายอั๋นร้องมาคราวนั้น เกี่ยวกับเรื่องภาษีของทนายษิทรา โดยตั้งข้อสงสัยในลักษณะที่ทนายษิทรามีชีวิตความเป็นอยู่ไม่สอดคล้องกับรายรับ นอกจากนี้ ทางกองคดีภาษีอากรก็อาจจะมีการเชิญให้ทนายอั๋นเข้าให้ข้อมูลเพิ่มเติม ส่วนจะมีการรับเป็นคดีพิเศษหรือจะมีการสอบสวนในเรื่องนี้หรือไม่ ต้องเรียนแจ้งว่า ปกติแล้วกฎหมายเกี่ยวกับภาษีอากรจะมีลักษณะพิเศษ โดยจะมีประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 8 ปี พ.ศ. 2522 กำหนดไว้ว่าห้ามเจ้าพนักงานอื่นดำเนินคดีเกี่ยวกับกฎหมายภาษีอากร จนกว่าจะได้รับคำกล่าวโทษจากกรมสรรพากร ดังนั้น หากข้อมูลที่ทนายอั๋นมอบให้มีความชัดเจน เข้าองค์ประกอบ ทางดีเอสไอก็จะต้องไปหารือกับกรมสรรพากร

เจ้าหน้าที่ดีเอสไอระดับสูง กล่าวด้วยว่า อย่างไรคงต้องให้ทางกองคดีภาษีอากรชี้แจงรายละเอียด และถ้าหากจะมีการรับหรือไม่รับเรื่องนี้เป็นคดีพิเศษ ดีเอสไอก็จะต้องรอดูพยานหลักฐานของทางทนายอั๋นที่จะนำมามอบให้เพิ่มเติมอีกด้วย เพื่อนำไปตรวจสอบตามเกณฑ์และประกาศกำหนดลักษณะคดีแบบใด ความเสียหายเท่าไร อย่างไรก็ตาม แม้ดีเอสไอมีอำนาจในชั้นสืบสวน แต่ในการดำเนินคดีนั้น ตามกฎหมายจะต้องให้กรมสรรพากรเป็นผู้กล่าวโทษเท่านั้น จึงเป็นข้อยกเว้นแค่คดีภาษีอากรที่มีกฎหมายพิเศษกำหนดให้บุคคลใดก็ตามที่จะกล่าวโทษในคดีอาญา หรือให้สอบสวนดำเนินคดีอาญา จะต้องมาจากกรมสรรพากร เพราะกรมสรรพากรมีอำนาจอื่น เช่น อำนาจในการเรียกมาเปรียบเทียบโดยไม่ต้องดำเนินคดี การดำเนินคดีเป็นเงื่อนไขสุดท้าย

“เมื่อทนายอั๋นมายื่นคำร้องกับทางดีเอสไอ ทางกรมก็มีหน้าที่ในการแสวงหาข้อเท็จจริงขั้นต้นว่าเข้าองค์ประกอบเป็นคดีในอำนาจของกรมหรือไม่ จากนั้นจึงส่งเรื่องให้กรมสรรพากร เพื่อให้มาพิจารณากล่าวโทษ” เจ้าหน้าที่ดีเอสไอระดับสูง ระบุปิดท้าย

ด้านทนายอั๋น เปิดเผยว่า ในวันที่ 26 เม.ย. นี้ เวลาประมาณ 10.30 น. เตรียมเข้ายื่นเอกสารเพิ่มเติม (หลักฐานใหม่) กับดีเอสไอ ในประเด็นเกี่ยวกับทนายตั้ม และจะหารือถึงแนวทางการดำเนินการของดีเอสไอ เนื่องจากสิ่งที่เป็นห่วงในตอนนี้คือตามที่มีปรากฏในกระแสข่าวว่า ทนายคนดังอาจจะมีการโยกย้ายทรัพย์สินหรือจะเดินทางกลับเมืองไทยหรือไม่ ว่า ดีเอสไอจะมีมาตรการอย่างไรเพื่อให้สิ่งที่ตนยื่นเรื่องตรวจสอบไปมีความรวดเร็ว และถ้าหากทนายคนดังมีความผิดจริง ดีเอสไอจะอายัดทรัพย์สินทันหรือไม่

ทนายอั๋น ยังเผยด้วยว่า ก่อนที่ตนจะไปยื่นเรื่องให้กับดีเอสไอนั้น ทางด้านนายชูวิทย์ได้เคยโทรศัพท์มาให้กำลังใจ เนื่องจากในขณะนั้นตนได้ออกมาพูดเรื่องการเก็บเงินค่าแถลงข่าวของทนายตั้มจำนวน 300,000 บาท ซึ่งตนมองว่าผิดจรรยาบรรณทนาย โดยนายชูวิทย์ ได้บอกกับตนว่า ตนเป็นทนายความที่มีเกียรติ เป็นทนายความน้ำดี แต่เป็นเพียงการพูดคุยสั้นๆ เท่านั้น ไม่ได้มีการประสานแลกเปลี่ยนข้อมูลกันแต่อย่างใด.