ผู้ที่ว่าไม่ใช่เพียงคนพื้นบ้าน พื้นเมืองที่เดินทางมาอาศัยพักบ้านญาติมิตร แต่ยังรวมถึงชาวเขา ที่จะพากันแต่งด้วยชุดพื้นเมือง ชุดชาวเขา มีการเตรียมข้าวของเรียกว่า “ดาครัว” ซึ่งญาติพี่น้องจากต่างบ้านต่างถิ่นจะมาช่วยกันแต่งดา เป็นการรวมญาติพี่น้องให้ได้มาเยี่ยมเยียนมาพบกัน เป็นประเพณีที่ชาวลำพูน และล้านนา ถือปฏิบัติกันต่อเนื่องยาวนานมาหลายศตวรรษ เพื่อแสดงออกถึงความเคารพ ความศรัทธา ต่อพระธาตุเจ้าหริภุญชัย ศูนย์รวมใจของชาวลำพูน หนึ่งในแปดจอมเจดีย์ที่สำคัญยิ่งของประเทศ และเป็นพระธาตุทรงล้านนาที่งดงามที่สุดในโลก

การสรงนํ้าพระบรมธาตุฯ ไม่เพียงเป็นการสักการะปูชนียสถานที่เก่าแก่ของวัดพระธาตุหริภุญชัยวรวิหาร และโบราณสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ของชาวลำพูน และชาวพุทธทั่วไป แต่ยังเป็นการสักการะพระบรมธาตุของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พร้อมกันนี้ก็เป็นการบูชาเสาหลักเมือง เพราะชาวจังหวัดลำพูน ถือว่าเจดีย์พระบรมธาตุหริภุญชัยเป็นเสาหลักเมือง เมื่อทำพิธีสรงนํ้าพระบรมธาตุหริภุญชัย จึงเท่ากับได้ทำบุญเสาหลักเมืองลำพูนด้วย

งานสรงนํ้าพระธาตุเจ้าหริภุญชัยในปีนี้จะมีขึ้นระหว่างวันที่ 28 เม.ย.-4 พ.ค. 2566 โดยจะมีกิจกรรม 7 วัน 7 คืน ได้แก่ การแข่งขันตีกลองหลวง การแข่งขันกลองบูชา การประกวดฟ้อนพื้นเมือง การประกวดจัดโต๊ะหมู่บูชา โคมวิสาขะ

ในช่วงเวลาเดียวกันลำพูนยังมีการจัดงาน “มหกรรมชาติพันธุ์ลำพูน” งานที่จัดขึ้นภายใต้แนวคิด “อุ่นงันวัฒนธรรม งามลํ้าวิถีชาติพันธุ์ มหัศจรรย์นครลำพูน” เพื่อส่งเสริมอัตลักษณ์ประเพณีและวัฒนธรรมท้องถิ่นของชาติพันธุ์ในจังหวัดลำพูนให้เป็นที่รู้จัก โดยมีกลุ่มชาติพันธุ์ 5 ชาติพันธุ์ ที่เข้าร่วมงานได้แก่ ไทยอง ไทลื้อ ไทยวน มอญ และกะเหรี่ยง

คำว่า “อุ่นงันวัฒนธรรม” หมายถึง งานที่รวมไว้ด้วยสีสันแห่งวิถีวัฒนธรรมอันปีติและดีงาม คำว่า “อุ่น” ในภาษาไทยวน แปลว่า ความดีงาม ความมงคล มีชัยชนะ ขณะที่ไทลื้อหมายถึง งานมงคล อาทิ “อุ่นบวช” หรืองานบวชพระ ส่วนคำว่า “งัน” เป็นคำศัพท์โบราณในกลุ่มชาติพันธุ์ไท มาจากคำว่า “ม่วนงัน” หมายถึง ความเป็นปีติ หรือสนุกสนานอย่างปีติและดีงาม

“ไทลื้อ” เป็นหนึ่งใน 5 กลุ่มชาติพันธุ์ที่เข้าร่วมงาน จากถิ่นฐานเดิมในแถบสิบสองปันนาของจีน สันนิษฐานว่าหนีภัยสงครามมาจากเมืองเชียงรุ่ง โดยกลุ่มแรกที่อพยพมาอาศัยอยู่บริเวณบ้านธิ คือ พ่อหนานปัญโญ กับ แม่อุ้ยขา ได้อพยพครอบครัวประมาณ 2-3 ครอบครัว มาตั้งรกรากอยู่ที่หมู่บ้าน “บ้านแพะ” ปัจจุบันเปลี่ยนเป็นบ้านแพะต้นยางงาม ก่อนจะค่อย ๆ ขยายอาณาเขตเพิ่มขึ้นอีก 10 หมู่บ้าน โดยคนไทลื้อยังคงเอกลักษณ์วัฒนธรรมที่เก่าแก่เป็นของตนเองไม่ว่าจะเป็นการแต่งกาย อาหาร สถาปัตยกรรม ประเพณี ความเชื่อ โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาษาซึ่งเป็นเอกลักษณ์โดดเด่น มักชอบอาศัยบริเวณริมนํ้าเพื่อสะดวกในการทำมาหากินและนับถือผี

“ไทยวน” เองก็มักตั้งถิ่นฐานอยู่แถบที่ราบลุ่มแม่นํ้าไหลผ่านเช่นกัน มีภาษา ขนบธรรมเนียม จารีตประเพณี ศิลปวัฒนธรรม วิถีชีวิต และความเชื่ออันเป็นเอกลักษณ์ โดยมีความคิดในเรื่องผีผสมพุทธศาสนา โดยเฉพาะผีปู่ย่า (ผีบรรพบุรุษ) จะมีบทบาทในการควบคุมพฤติกรรมของลูกหลานชาวไทยวนให้ประพฤติตนถูกต้องตามจารีตประเพณีและกรอบที่ดีงามของสังคม อีกทั้งมีความเชื่อเรื่อง “ขึด” คือข้อห้าม หรือข้อปฏิบัติที่ถูกต้องที่ควรปฏิบัติไม่ให้เกิดสิ่งไม่ดีขึ้นกับตัวเองและครอบครัว

Hand-Woven Cotton Ban Nong Ngueak Community, Lamphun

นอกจากนี้ชาวไทยวนยังมีรูปแบบภาษาเขียนและภาษาพูดเป็นของตนเอง ปัจจุบันก็ยังพบเป็นการใช้ภาษาเขียนในพระธรรมคัมภีร์พุทธศาสนาและปั๊บสา ใบลาน เรียกว่า “อักษรล้านนา” หรือ “อักษรธรรม” ซึ่งยังใช้ในกลุ่มชาวไทลื้อ เชียงรุ่ง และไทเขิน เชียงตุง ด้วย เนื่องจากในอดีตชาวล้านนาได้นำพุทธศาสนาเข้าไปเผยแพร่ยังสองดินแดนนี้ ขณะที่บ้านเรือนที่อยู่อาศัยนิยมสร้างเป็นเรือนไม้ยกพื้นสูง มีทั้งหลังคาแบบจั่วเดียว และหลังคาจั่วแฝด ซึ่งรูปแบบเรือนที่นิยมทำกันมากคือเรือนจั่วแฝดแบบ “เรือนกาแล” ที่มียอดจั่วเป็นไม้ไขว้กัน ตกแต่งด้วยการฉลุลวดลายอย่างสวยงาม

สำหรับชาว “ยองเมืองลำพูน” ถูกนับเป็นส่วนหนึ่งของพลเมืองชาวสยาม ในช่วงสมัยรัชกาลที่ 5 เป็นอีกกลุ่มชาติพันธุ์ที่ยังคงรักษาเอกลักษณ์ของตนเองไว้อย่างยาวนาน อาทิ บ้านเรือน ที่อยู่อาศัย ภาษาพูดหรือ “ภาษายอง” ที่สามารถใช้สื่อสารกันอย่างเข้าใจระหว่าง ชาวยองสิบสองปันนา กับ ชาวยองลำพูน รวมทั้งการโฮมกลองหลวง การอุทิศบูชาพระธาตุ และประเพณีสลากย้อม

ชาวยองจัดว่าเป็นช่างฝีมือที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญด้านไม้แกะสลักอย่างดียิ่ง จากรูปแบบเฮือนบ่าเก่าชาวยองที่ยังหลงเหลือในลำพูน อายุราว 80-100 ปี กว่าร้อยหลัง แสดงให้เห็นฝีมือทางช่างที่ดีเยี่ยม เอกลักษณ์บ้านยองคือ จะนิยมสร้างบ้านไม้ ใต้ถุนโล่ง มีรูปนกยูง ซึ่งเป็นสัตว์สัญลักษณ์ที่ชาวยองเคารพนับถือประดับอยู่บ้านยอง ที่ขึ้นชื่อว่าคลาสสิกที่สุดในลำพูนก็คือ “บ้านมะกอก” หรือ “บ้านยองโบราณ” ของ คุณป้าบัวลา ใจจิตร แห่ง อ.ป่าซาง

ในลำพูนยังมีคน “มอญ” เป็นหนึ่งในชาติพันธุ์ด้วย มีคนไทยเชื้อสายมอญอาศัยอยู่ 2 หมู่บ้าน คือ บ้านหนองดู่ และบ้านบ่อคาว ถือเป็นชาติพันธุ์มอญที่เก่าแก่ เมื่อสืบค้นรากเหง้าอย่างจริงจังพบว่า มอญลำพูนเป็นชนดั้งเดิมคู่กับ “ลั๊วะ” โดยเข้ามาตั้งแต่สมัยเสียม ก่อนเป็นสยาม หรือก่อนสมัยเจ้าแม่จามเทวีแต่เพราะความเจริญที่ค่อย ๆ กลืนวิถีดั้งเดิมไป จึงเป็นที่มาของ “โครงการชุมชนน่าอยู่ หมู่บ้านหนองดู่” เพื่อค้นหารากเหง้า วิถีชีวิตของคนมอญ โดยเฉพาะภาษา การแต่งกาย และอาหารพื้นบ้านของชาวมอญ ที่จำเป็นต้องฟื้นฟูเพื่อให้คนรุ่นใหม่ได้รู้จักและสืบทอดต่อไป

อีกกลุ่มชาติพันธุ์ของลำพูนที่เป็นที่รู้จักก็คือ “ปกาเกอะญอ” โดยเฉพาะกลุ่มที่มีชื่อชุมชนต่อท้ายอย่าง “พระบาทห้วยต้ม” ชุมชนมังสวิรัติ ชุมชนพระบาทห้วยต้ม หมู่บ้านแห่งศรัทธา เส้นทางแห่งธรรมที่ยังคงวิถีชีวิตดั้งเดิมไว้ อย่างการทอผ้าโบราณด้วย “กี่เอว” ซึ่งเป็นอาชีพของผู้หญิงส่วนใหญ่ของหมู่บ้าน รวมทั้งมีการจำลองวิถีชีวิต ทั้งบ้านเรือนโบราณ และสาธิตวิธีการทอผ้า สิ่งที่ชุมชนนี้มีความแตกต่างจากที่อื่น ๆ คือ ผู้คนในหมู่บ้านพร้อมใจรักษาศีล ปฏิบัติธรรม และทานอาหารมังสวิรัติตามวิถีพุทธ

บริเวณที่ตั้งของชุมชนพระบาทห้วยต้มเดิม เป็นพื้นที่อาศรมตั้งอยู่กลางป่าอันเงียบสงบและไม่ค่อยมีผู้ใดแวะเวียนเข้ามา จนกระทั่งในช่วงปี พ.ศ. 2506 พระครูบาวงศ์ พระเกจิที่ชาวเขาเผ่าต่าง ๆ ทางแถบจังหวัดตาก เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน และลำพูน ให้ความเคารพนับถือได้เข้ามาจำพรรษาต่อมาในปี พ.ศ. 2513 ชาวปกาเกอะญอได้อพยพจากจังหวัดตากเข้ามาอาศัยกว่า 65 คน หรือประมาณ 13 ครัวเรือน และได้ทยอยเข้ามาเรื่อย ๆ จนชุมชนมีขนาดใหญ่ขึ้นดังที่เห็นในปัจจุบัน

งานมหกรรมชาติพันธุ์ลำพูนจัดขึ้นระหว่างวันที่ 1-3 พฤษภาคม 2566 เวลา 10.00-21.00 น. ณ ศูนย์บริการนักท่องเที่ยว (เชิงสะพานท่าขาม) อำเภอเมืองลำพูน จังหวัดลำพูน

ข้ามไปที่ ลำปาง ในช่วงเดียวกันมีการจัดงาน “เทศกาลรถม้าคาร์นิวัลนครลำปาง” ภายใต้โครงการ “ลำปางเรอเนซองส์” นำเสนอแนวคิดของการย้อนวันวานเมืองลำปาง เพื่อแชร์ประสบการณ์ฃการเดินทางท่องเที่ยวเมืองรอง ด้วยการนำเสนอเรื่องราววิวัฒนาการรถม้าลำปาง ชมขบวนพาเหรดรถม้าคาร์นิวัล กว่า 13 ขบวน จากสถานีรถไฟนครลำปาง ไปตามถนนประสานไมตรี ถนนฉัตรไชย ห้าแยกหอนาฬิกา ถนนบุญวาทย์ สิ้นสุดขบวนณ มิวเซียมลำปาง ประกอบด้วย ขบวนรถม้าเทิดพระเกียรติฯ ขบวนรถม้านานาชาติ, ขบวนรถม้าลำปางเรอเนซองส์, ขบวนรถม้าแฟนซีโลกสร้างสรรค์ ขบวนรถม้ากลุ่มคาวบอย 1008 ย้อนยุคตะวันตก, ขบวนรถม้าแฟนซีแบบต่าง ๆ จากหน่วยงานในจังหวัดลำปาง พร้อมระบบแสง สี เสียง

เทศกาลรถม้าคาร์นิวัลนครลำปาง จัดขึ้นระหว่างวันที่ 5-7 พฤษภาคม 2566 ครั้งแรกของประวัติศาสตร์เมืองลำปาง ดูเพิ่มเติมกิจกรรมที่จัดขึ้นในลำพูน และลำปาง ได้ที่แฟนเพจ : ททท.สำนักงานลำปาง และ www.tourismlampang-lamphun.com

อธิชา ชื่นใจ