เมื่อวันที่ 3 พ.ค. 66 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจาก น.ส.แพทองธาร ชินวัตร แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี พรรคเพื่อไทย (พท.) และหัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย แถลงข่าวหลังคลอด และพร้อมกลับมาสู้ศึกเลือกตั้งช่วงเช้า ล่าสุด น.ส.แพทองธาร ได้ลงโปรโมตโปสเตอร์ “The Candidate” สารคดีตั้งแต่การเข้าสู่การเมืองวันที่ 28 ต.ค. 64 จนถึงวันนี้ บนเฟซบุ๊กส่วนตัว ถือว่ากลับมาสู้สุดตัวหลังคลอด

น.ส.แพทองธารเขียนอธิบายว่า The Candidate Paetongtarn คือโปรเจกต์พิเศษที่แพทองธารทำงานร่วมกับทีมงานพรรคเพื่อไทย เป็นสารคดีที่บอกเล่าเรื่องราวการเดินทางทางการเมืองตั้งแต่วันแรกจนถึงวันนี้ จากภาคธุรกิจสู่ภาคการเมือง จากนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ สู่น.ส.แพทองธาร คู่ขนานไปกับการเดินทางการเมืองของพรรคเพื่อตลอด 1 ปี 6 เดือน ผ่านคำบอกเล่าของหลายบุคคลสำคัญ ไม่ว่าจะเป็น นายภูมิธรรม เวชยชัย นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ และพี่น้องที่ทำงานร่วมกันในภาคธุรกิจ รวมถึงปากคำสัมภาษณ์จากตัวน.ส.แพทองธารเอง

“สารคดีตัวนี้คือตัวตนและกระจกสะท้อนความตัวตนของน.ส.แพทองธาร ในบริบทการเมืองที่ถูกย่อมาให้เหลือแค่ 18 นาที จากตลอดระยะเวลา 1 ปีครึ่งที่ผ่านมา ทั้งหมดนี้เป็นการเดินทางที่ไม่ใช่เรื่องง่าย เป็นบททดสอบที่ยากและอยากชวนทุกคนมารู้จักกันให้มากขึ้น ‘The Candidate Paetongtarn’ สารคดีนี้จะเผยแพร่ผ่านทางเฟซบุ๊กและยูทูบของน.ส.แพทองธาร (https://youtube.com/@ingshinawatra) ในวันที่ 6 พ.ค.66 เวลา 19.00 น. และเชิญพ่อแม่พี่น้องประชาชนมารับชมพร้อมกันนะคะ” น.ส.แพทองธาร ระบุ.

ส่วนที่พรรคเพื่อไทย (พท.) นายเศรษฐา ทวีสิน แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีพรรคเพื่อไทย และประธานที่ปรึกษาหัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย พร้อมด้วยผู้บริหารพรรค พท. ให้การต้อนรับคณะทูตานุทูตและผู้แทนจากสหภาพยุโรป รวม 15 ประเทศ เพื่อพบปะแลกเปลี่ยน และหารือเกี่ยวกับความเป็นไปได้ในการร่วมมือที่จะส่งเสริมความสัมพันธ์ไทย-สหภาพยุโรป ทั้งในมิติเศรษฐกิจ การเมือง และสังคม ในอนาคตให้แน่นแฟ้นและเป็นไปทางทิศทางที่ดีมากยิ่งขึ้น

นายเศรษฐา กล่าวว่าขอขอบคุณคณะทูตานุทูตจากสหภาพยุโรป รวม 15 ประเทศ และผู้แทนจากสหภาพยุโรปที่ให้เกียรติมาร่วมพูดคุยกับพรรคเพื่อไทยในวันนี้ สหภาพยุโรปถือเป็นหนึ่งในคู่ค้าที่ใหญ่ที่สุดเป็นอันดับต้นๆของไทย ในปี 62 โดยมูลค่าการค้าระหว่างไทย-สหภาพยุโรปสูงถึง 1.35 ล้านล้านบาท ทั้งนี้ สหภาพยุโรปยังเป็นตลาดส่งออกที่ใหญ่ที่สุดเป็นอันดับ 3 และการลงทุนในไทยยังสูงเป็นอันดับ 2 อีกด้วย นอกจากนี้ ไทย-สหภาพยุโรปยังได้มือความร่วมมือทางการเมือง และสังคมระหว่างกันอย่างเข้มข้น ตั้งแต่ด้านสิทธิมนุษยชน ด้านสิ่งแวดล้อม ไปจนถึงความมั่นคงระดับภูมิภาค จึงอยากขอขอบคุณสหภาพยุโรปในฐานะผู้สนับสนุนประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านประชาธิปไตย และสิทธิมนุษยชน

แต่เป็นที่น่าเสียดายว่าที่ผ่านมาความร่วมมือในด้านต่างๆอาจจะไม่มีความก้าวหน้ามากนัก ดังนั้น หากพรรคเพื่อไทยเป็นรัฐบาลจะสานต่อการเจรจาข้อตกลงเขตการค้าเสรีไทย-สหภาพยุโรปที่รัฐบาลเพื่อไทยได้ริเริ่มไว้ เพื่อประโยชน์ทางการค้าการลงทุนของทั้งสองฝ่าย และยังหวังอีกด้วยว่าจะทำงานคู่ขนานกันไปเพื่อเพิ่มผลิตภาพแรงงาน เพื่อดึงดูดแรงงานที่มีทักษะขั้นสูงด้วยการเติมเต็มช่องว่างระหว่างคนกับความก้าวหน้าของเทคโนโลยี

​เรามีนโยบายเขตธุรกิจใหม่ (New Business Zone) ภายใต้สโลแกน “ดึงเงินนอก ปลุกเงินใน เปลี่ยนเงินที่หลับไหล เป็นเงินที่สร้างเงิน” ผ่านกฎหมายธุรกิจชุดใหม่ สิทธิประโยชน์ใหม่ เพื่อสร้างระบบนิเวศทางธุรกิจใหม่ ซึ่งจะอำนวยความสะดวกในการประกอบธุรกิจให้นักลงทุนต่างชาติ ผลักดันให้ประเทศไทยน่าลงทุนมากยิ่งขึ้น โดยนโยบายนี้จะเน้นเป้าหมายสำคัญสองประการคือ หนึ่ง เพิ่มการลงทุนในอุตสาหกรรมด้านเทคโนโลยี และ สอง ส่งเสริมธุรกิจขนาดกลางขนาดย่อม (SME) นโยบายเขตธุรกิจใหม่จะลดอุปสรรคในข้อกฎหมายที่เอื้อต่อการการลงทุนและจะตรากฎหมายพิเศษขึ้นให้ครอบคลุมประเด็นเรื่องแรงงาน ที่ดิน และวีซ่า เพื่อสร้างธุรกิจ SME ให้เกิดความได้เปรียบในการแข่งขัน และเชื่อมต่อเม็ดเงินลงทุนให้กับธุรกิจ SME

นายเศรษฐากล่าวด้วยว่า ภาษีนำเข้า ภาษีรายได้ส่วนบุคคล ภาษีนิติบุคคล และภาษีที่ดิน จะได้รับการงดเว้นในโซนนี้ โดยเขตธุรกิจใหม่ยังมีระบบนิเวศทางธุรกิจที่ครบถ้วนทั้งระบบสาธารณูปโภค โครงสร้างพื้นฐานใหม่ ระบบการศึกษา การผลิตคนทำงานใหม่ และระบบธนาคารใหม่ เพื่อผลักดันให้ภาคเอกชนมีขีดความสามารถทางการแข่งขันที่สูงขึ้น โดยเขตธุรกิจใหม่จะนำร่องใน 4 จังหวัดได้แก่ เชียงใหม่ ขอนแก่น กรุงเทพฯ และหาดใหญ่ ซึ่งหวังว่านโยบายนี้จะได้รับความสนใจจากนานาประเทศ จนสามารถเพิ่มการลงทุนทางตรงจากต่างประเทศได้มากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ.