จากกรณี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้มีคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 26/2565 แต่งตั้งคณะกรรมการให้แก้ไขดำเนินการให้ชาวกะเหรี่ยงบางกลอย หมู่ 1 ต.ห้วยแม่เพรียง อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี จำนวน 150 คน กลับไปในพื้นที่กลางป่าลึกในพื้นที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน มรดกโลกได้ ทำให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ไม่พอใจในคำสั่งดังกล่าวอย่างกว้างขวางนั้น

คืบหน้าเมื่อวันที่ 5 พ.ค. ที่หมู่บ้านบางกลอย หมู่ 1 ต.ห้วยแม่เพรียง อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี นายนิรันดร์ พงษ์เทพ ผู้ใหญ่บ้านบางกลอย กล่าวว่า จากกรณีนี้ชาวบ้านประมาณ 30 ครอบครัว กว่า 100 คน ที่จะขึ้นไปอาศัยอยู่ในป่าใจแผ่นดิน จริงแล้วเวลาขึ้นไปอยู่จริง อาจจะไปแค่หัวหน้าครอบครัวที่สามารถทำไร่ปลูกข้าวได้ ส่วนเด็กๆ ต้องเรียนหนังสืออยู่ข้างล่างกับแม่ ส่วนสามีก็ขึ้นไปทำไร่ข้างบน สำหรับพื้นที่ข้างล่างที่ทางรัฐจัดให้ชาวบ้านทำกินนั้นไม่เพียงพอ และไม่ได้กันทุกคนครอบครัว หลังจากปี พ.ศ. 2539 เป็นครอบครัวขยาย เมื่อครอบครัวขยายเพิ่มขึ้น หัวหน้าครอบครัวไม่มีที่ทำกิน ทำให้ลูกหลานก็ไม่มีที่ทำกินด้วย จึงเป็นปัญหาที่เกิดขึ้น

หากมีการจัดสรรที่ดินทำกินให้ครอบครัวที่ขยายเพียงพอ ปัญหาดังกล่าวจะเบาบางลง ภาครัฐเข้ามาดูแลคุณภาพชีวิตปรับเปลี่ยนให้เข้ากับวิถีชีวิต มีน้ำ มีไฟ มีถนนหนทางที่ดีขึ้นชาวบ้านก็อยู่ได้ ชาวบ้านที่ได้รับการจัดสรรที่ดิน จำนวน 57 หลังคาเรือน โดยมีอดีตหัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน จัดสรรปรับพื้นที่ดินทำกินให้ชาวบ้านเพิ่มภายหลังอีกส่วนหนึ่ง หากแก้ปัญหาครอบครัวขยายได้ ครอบครัวขยายกลุ่มนี้จะเป็นตัวดึงพ่อแม่ไม่ต้องขึ้นไปทำกินด้านบน อยู่ข้างล่างได้ หากได้รับการจัดสรรที่ดี แต่หากไม่ได้รับการจัดสรรที่ดินให้ครอบครัวขยายกลุ่มนี้ข้างล่างไม่ได้ ก็ต้องเอาข้างบนทำกิน เนื่องจากที่ทางภาครัฐจัดสรรที่ดินให้ชาวบ้านทำกิน บางคนได้ที่ดินทำกิน 7 ไร่ แต่มีลูก 10 คน บางคนได้ 3 ไร่บ้าง 2 ไร่บ้าง ได้ไม่เท่ากัน ตอนนั้นพื้นที่มีจำกัด เจ้าหน้าที่ได้มาปรับพื้นที่ก่อนใช้เชือกดึงวัดพื้นที่ เป็นล็อกๆ ให้ชาวบ้านทำกิน สมัยนั้นยังไม่มี GPS และเทคโนโลยี แต่พอมาสมัยนี้มี GPS วัดค่าพิกัด บางคนได้ที่ทำกินไม่เท่ากัน

พื้นที่ใจแผ่นดินเป็นแนวเขตชายแดนไทย-เมียนมา ชาวบ้านคงไม่ขึ้นไปทำกิน พื้นที่ที่ชาวบ้านขอทำกินนั้น น่าจะเป็นบางกลอยล่างบนพื้นที่ 18 แปลงตามแผนที่ ที่เจ้าหน้าที่พิกัดไว้ ซึ่งเป็นเขตป่าสมบูรณ์มรดกโลก หากชาวบ้านขึ้นไปทำกินก็จะมีการแผ้วถางไร่ พอถึงฤดูกาลก็จุดเผาหยอดเม็ดพันธ์ุข้าว บ้านพักอาศัยไม่ได้ปลูกแบบถาวร ปลูกรูปแบบเป็นโรงเรือน หรือเพิงพักเท่านั้น หากภาครัฐจัดพื้นที่ทำกินด้านล่างให้ชาวบ้านดีๆ เด็กๆ ก็ได้เรียน พอถึงรุ่นพ่อทำไม่ไหว ลูกๆ ก็จะชวนพ่อลงมาอยู่บ้านโป่งลึก-บางกลอยเอง และไม่ต้องขึ้นไปทำไร่ข้างบนอีก ใช้ชีวิตแบบสบายๆ ถนนหนทางดี มีรถใช้ไปหาหมอก็สะดวกสบาย

ตนในฐานะเป็นผู้ใหญ่บ้าน โดยส่วนตัวคิดว่า ไม่อยากขึ้นไปอยู่ด้านบน มันลำบากมาก ปัจจุบันอยู่โป่งลึก-บางกลอย ถือว่าลำบากอยู่แล้ว ส่วนคนที่อยากคิดขึ้นไปอยู่ด้านบน เป็นเรื่องของส่วนบุคคล ตนไม่สามารถที่จะไปออกความคิดเห็นแทนกลุ่มชาวบ้านเหล่านี้ได้ แต่ตัวเองไม่ไปอยู่ข้างบนแน่นอน ส่วนหน่อแอะ ผู้นำจิตวิญญาณชาวกะเหรี่ยงบางกลอย ก็เดินไม่ได้แต่ก็อยากไปอยู่ด้านบนใจมันอยากไป แต่ร่างกายไม่ไหวเพราะอายุเยอะแล้ว

นายเกษม เท่งทอง อายุ 53 ปี ชาว จ.เพชรบุรี กล่าวว่า เรื่องนี้ตนก็เห็นใจชาวบ้าน ที่มีที่ดินทำกินไม่เพียงพอต่อครอบครัวขยาย แต่ควรแก้ปัญหาโดยควบคุมประชากรในครัวเรือนไม่ให้เพิ่มขึ้นมากเกินกำลังครอบครัว หากขึ้นไปอยู่ด้านบนป่า อาจส่งผลกระทบต่อมรดกโลกที่ได้มา อีกทั้งปัจจุบันทุกครอบครัวก็อยู่ภายในกฎหมายเดียวกัน หากขึ้นไปได้จะขัดต่อกฎหมายหรือไม่ ปัญหาเรื่องนี้ทุกคนควรหันหน้ามาคุยกันคนละครึ่งทางจะดีกว่า.