เมื่อวันที่ 12 พ.ค. 66 ผู้สื่อข่าวรับร้องเรียนจากนายเจษฎา อินทบาล หรือกอล์ฟ อายุ 40 ปี อาชีพค้าขาย ว่า ถูกใบสั่งเจ้าพนักงานจราจร ส่งมาที่บ้านพัก เป็นใบสั่งรถกระบะอีซูซุ สีขาว ขับเร็วเกินกว่าอัตราที่กำหนด ที่ ทล.32 กม.45 ขาออก ต.บ้านใหม่ อ.มหาราช จ.พระนครศรีอยุธยา มีค่าปรับ 500 บาท ขณะที่รถกระบะคันดังกล่าว ถูกยึดไปตรวจสอบเนื่องจากมีส่วนเกี่ยวข้องกับคดีมียาเสพติดไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย โดยรถกระบะคันดังกล่าว จอดไว้ที่สำนักงาน ป.ป.ส.ภาค1 อ.ลาดลุมแก้ว จ.ปทุมธานี ตั้งแต่ปี 65 จึงเดินทางไปลงบันทึกประจำวันที่ สภ.บางศรีเมือง ไว้เป็นหลักฐาน

นายเจษฎา กล่าวว่า เมื่อวันที่ 21 ต.ค. 64 ตนถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.บางศรีเมือง จ.นนทบุรี จับกุมตัวที่บ้าน ในข้อหามียาเสพติดไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย ซึ่งคดียื่นอุทธรณ์ศาลอยู่ยังไม่ตัดสิน โดยทางตำรวจได้ยึดรถกระบะคันดังกล่าวไป แล้วนำส่งต่อไปยังสำนักงาน ป.ป.ส. โดยจอดไว้ปี 65 ซึ่งตนได้ถ่ายรูปรถเก็บไว้ที่ลานจอดสำนักงาน กระทั่งวันที่ 4 พ.ค. 66 ที่ผ่านมา มีใบสั่งจากเจ้าหน้าที่ตำรวจจราจรลงวันที่ 21 เม.ย. 66 ข้อหา ขับรถใช้ความเร็วเกินกว่าอัตราที่กำหนด ที่ จ.พระนครศรีอยุธยา ซึ่งรถที่กล้องจับภาพมา เป็นรถกระบะตน ทะเบียนตรง และชุดแต่งตราโลโก้สีแดงตรงตามทุกอย่าง โดยเฉพาะขอบป้ายทะเบียนด้านล่างขวา จะมีขอบยื่นมาด้านบน ตามหลักแล้วจะมีตัวหนังสือเขียนยี่ห้อเต็นท์รถ แต่ตนได้ใช้อุปกรณ์ลบออก ซึ่งภาพที่ปรากฏก็เหมือนรถตนทุกอย่าง ซึ่งโอกาสที่จะมีการสวมทะเบียนยากมากเพราะตนจำได้ทุกอย่าง ตอนนี้ตนไม่รู้ว่าใครเป็นคนขับรถกระบะของตนออกมา เนื่องจากจอดอยู่ที่สำนักงาน ป.ป.ส. ตั้งแต่ปี 64 เรื่องคดีความศาลยังไม่ตัดสินคดี

นายเจษฎา กล่าวต่ออีกว่า วันนี้ที่นำเรื่องมาร้องเรียนกับสื่อมวลชน ไม่ได้มีเจตนาที่ออกมาต่อว่าทางเจ้าหน้าที่ตำรวจ เพียงแค่ปกป้องสิทธิของตัวเอง ตอนนี้อยากได้คำตอบว่า รถกระบะออกมาได้ยังไงในเมื่อยังอยู่ในคดีความ แล้วขับโดนตรวจจับความเร็ว เสียค่าปรับ 500 บาท ใครจะเป็นคนจ่ายหรือรับผิดชอบ รถคันนี้ตนรักมากแล้วเป็นชื่อตน ดูแลอย่างดีมาโดยตลอด หากคนขับไปขับรถชนคนตาย หรือเกิดอุบัติเหตุ รวมถึงออกไปก่อเหตุอาชญากรรม ใครจะมารับผิดชอบ

ที่ สำนักงานทนายคู่ใจ อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี ผู้สื่อข่าวสอบถามข้อกฎหมายกับทางด้านทนายรณณรงค์ แก้วเพ็ชร์ ประธานเครือข่ายรณณรงค์ทวงคืนความยุติธรรมในสังคม ในกรณีดังกล่าว ได้รับคำตอบว่า เรื่องแรกก็คือเรื่องใบสั่งที่มีค่าปรับ 500 บาท ส่งมาถึงบ้าน ทางด้านเจ้าของรถกระบะไม่จำเป็นต้องจ่าย เพราะว่า พ.ร.บ.จราจรทางบก จะดำเนินคดีกับผู้ที่ควบคุมหรือผู้ที่ขับรถ ในเมื่อเราไม่ได้ขับไม่จำเป็นต้องจ่าย ไม่ว่าใบสั่งจะเขียนมากี่บาทก็ตามแต่ ส่วนกรณีเจ้าหน้าที่ตำรวจหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเรื่องดูแลรถยนต์ที่ทำการอายัดมาเป็นของกลาง หากมีการเอารถมาใช้แล้วรถมีการชำรุดบกพร่อง จะต้องชดใช้ค่าเสียหายให้กับทางเจ้าของรถ ตามแนวคำตัดสินของศาลฎีกา โดยทั่วไปแล้ว รถที่กระทำความผิดที่อายัดมาเป็นของกลาง จะต้องเก็บรักษาไว้ ไม่ใช่นำมาใช้เป็นการส่วนตัว ในการทำบัญชีของกลางของตำรวจทุกโรงพัก ทางร้อยเวรหรือคนที่ ผกก. มอบหมายจะมีคนคอยดูแล และจะมีการกำนดเวลาในการดูแล

ทนายรณณรงค์ ในกรณีนี้มีการนำรถไปใช้ เจ้าหน้าที่ที่รับมอบหมายดูแลรู้เรื่องหรือไม่ หากรู้ก็จะเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ อย่างไรก็ตามจะสรุปได้ว่า รถของกลาง ถ้าเสียสามารถขับไปซ่อมได้ แต่ถ้าหากมีการขับไปใช้เป็นการส่วนตัว จะมีโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงาน ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 1 ปีถึง 10 ปี หรือปรับตั้งแต่ 20,000 บาท ถึง 200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ