โดยมี พรรคก้าวไกล พรรคเพื่อไทย พรรคประชาชาติ ไทยสร้างไทย พรรคเสรีรวมไทย เพื่อไทรวมพลัง พรรคเป็นธรรม พรรคพลังสังคมใหม่ ผลการเลือกตั้งอย่างไม่เป็นทางการมี ส.ส.รวมกันทั้งสิ้น 313 คน เพื่อหนุน “พิธา” หัวหน้าพรรคก้าวไกล เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ตามเสียงข้างมากจากผลการเลือกตั้ง

และไฮไลต์จะมีการ่วมกันทำ MOU (ข้อตกลงร่วม) ในการจัดตั้งรัฐบาลเพื่อแสดงวาระร่วมการทำงานของทุกพรรค โดยพรรคร่วมรัฐบาลจะตั้ง คณะทำงาน 2 ชุด คือ 1.คณะทำงานเพื่อบริหารจัดการและลดความเสี่ยงเกี่ยวกับการจัดตั้งรัฐบาล และ 2.คณะทำงานเพื่อเปลี่ยนผ่านรัฐบาล เตรียมความพร้อมให้สามารถบริหารราชการแผ่นดินต่อจากรัฐบาลเดิมได้อย่างไร้รอยต่อ โดยแถลงต่อสาธารณชน ในวันที่ 22 พ.ค.นี้

“313 เสียง เป็นความปกติของระบบประชาธิปไตยที่เพียงพอ เพราะฉะนั้นในการที่จะต้องมานั่งคิด หรือบอกว่าจะต้องได้ 376 เสียงด้วยการตามหาเสียงเพิ่มเติม ยังไม่ใช่ประเด็นสำคัญในตอนนี้” พิธา ผู้ที่ได้รับการสนับสนุนให้เป็นนายกรัฐมนตรี คนที่ 30 กล่าวมั่นใจว่า ไม่กังวล เกี่ยวกับการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีในรัฐสภา

แต่สิ่งที่สำคัญในขณะนี้คือ “พิธา” หัวหน้าพรรคก้าวไกล ยังไม่ได้เคลียร์ในประเด็นที่พรรคก้าวไกลมีนโยบายในการหาเสียงเลือกตั้งว่า จะแก้ไขหรือยกเลิกประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ซึ่งตรงนี้ยังไม่ชัดเจนว่าจะมีการแก้ไขในเนื้อหาอย่างไร หรือจะยกเลิกทั้งหมด

ซึ่งประเด็นชี้ขาดว่า เสียง ส.ว.ส่วนใหญ่ จะสนับสนุน “พิธา” หรือไม่ แม้ว่าจะเจอกระแสสังคม กดดันมาที่ ส.ว.ก็ตาม

เพราะตอนนี้ ส.ว. ส่วนหนึ่งกำลังรอตัวแทนจากพรรคก้าวไกล ประสานงานมาเพื่อตั้งวงพูดคุย ถึงในประเด็นร้อน มาตรา 112 ว่าที่สุดแล้ว พรรคก้าวไกล และ อีก 7 พรรคร่วม จะดำเนินการและมีท่าทีอย่างไร

เนื่องจากการหาเสียงของ พรรคร่วมฝ่ายค้านเดิม ต่างมีท่าทีแสดงความคิดเห็นต่อ มาตรา 112 แตกต่างกัน อย่างพรรคเพื่อไทย ก็ไม่เห็นด้วยกับการเสนอแก้ไขมาตรา 112 เข้าสู่สภา เพียงแต่อยากให้นำเรื่องดังกล่าวเข้ามาคุยในที่ประชุมสภาก่อนเท่านั้น

ดังนั้น หากพรรคก้าวไกล สามารถชี้แจงและคลียร์ในประเด็นนี้ได้ ชัดเจน ก็มีความเป็นไปได้ที่ ส.ว. โดยเฉพาะใน กลุ่ม 50 คน ที่มาจากการเลือกกันเอง จะสนับสนุน “พิธา” เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 30

โดย ส.ว. ต้องการความชัดเจนว่า “ในตลอดอายุของรัฐบาล จะดำเนินการอย่างไรกับมาตรา 112 ระหว่าง เสนอร่างแก้ไข เพื่อโหวตในสภาผู้แทนราษฎร หรือเพียงแค่จะนำมาพูดคุยกันในสภาเท่านั้น” 

ดังนั้น “พิธา” และ พรรคก้าวไกล ในฐานะแกนนำพรรครัฐบาล จะต้องมี พิมพ์เขียว มาตรา 112 รวมถึงแนวทางในการปฏิบัติต่อผู้ถูกกล่าวหาในคดี มาตรา 112  ให้ชัดเจน เพราะเรื่องมาตรา 112 เป็นประเด็นที่ ส.ว. ส่วนใหญ่มีความกังวลมากที่สุด เพราะอาจนำไปสู่ความขัดแย้งรอบใหม่ “นอกสภา” ก็ได้.