นายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย(รฟท.) เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการ(บอร์ด) รฟท. ซึ่งมีนายจิรุตม์ วิศาลจิตร อธิบดีกรมการขนส่งทางบก(ขบ.) เป็นประธานว่า ที่ประชุมมีมติอนุมัติจัดซื้อรถโบกี้บรรทุกสินค้า(บทต.) หรือแคร่ขนสินค้า 946 คัน วงเงิน 2,459 ล้านบาท โดยให้นำชิ้นส่วนภายในประเทศ และต่างประเทศมาประกอบภายในประเทศ ในสัดส่วนร้อยละ 40:60 ซึ่งหลังจากนี้ รฟท. จะเสนอเรื่องไปยังกระทรวงคมนาคมก่อนเสนอคณะรัฐมนตรี(ครม.) พิจารณาเห็นชอบต่อไป เบื้องต้นคาดว่าหาก ครม. เห็นชอบจะใช้กระบวนการในการประกวดราคา(ประมูล) ประมาณ 6-7 เดือน และคาดว่าจะได้ บทต. ภายในประมาณ 2 ปีหลังจากนี้

นายนิรุฒ กล่าวต่อว่า บอร์ด รฟท. เคยมีมติอนุมัติให้จัดซื้อ บทต. ตั้งแต่ปี 63 แต่เมื่อส่งเรื่องไปยังกระทรวงคมนาคม ได้ให้ รฟท. กลับไปพิจารณาทำการศึกษาอีกครั้งว่าการใช้วิธีการเช่า และวิธีการซื้อ วิธีการใดมีความคุ้มค่าทางการเงินมากกว่ากัน ซึ่งได้ข้อสรุปว่า การซื้อมีความคุ้มค่ามากกว่า โดยการจัดซื้อ บทต. ในครั้งนี้ จะใช้วิธีกู้เงิน ไม่ได้ใช้งบประมาณของแผ่นดิน และนำรายได้ที่ได้รับไปชำระเงินกู้ อย่างไรก็ตาม บทต. ทั้ง 946 คันนี้ นอกจากจะมาช่วยเพิ่มรายได้ด้านการขนส่งสินค้าให้กับ รฟท. ซึ่งเป็นรายได้ที่ดีกว่าธุรกิจด้านอื่นแล้ว ยังเป็นการสนับสนุนนโยบายของรัฐบาลที่จะผลักดันให้การขนส่งสินค้าเปลี่ยนโหมดจากถนนมาเป็นทางรางมากขึ้นด้วย

นายนิรุฒ กล่าวอีกว่า ปัจจุบัน รฟท. มี บทต. อยู่ประมาณ 1,308 คัน ขณะที่ภาคเอกชนเริ่มสนใจในการขนส่งสินค้าผ่านทางรถไฟมากขึ้น เพราะช่วยลดต้นทุนให้กับผู้ประกอบการได้มาก โดยที่ผ่านมามีเอกชนใช้บริการขนส่งสินค้าหลากหลายประเภท อาทิ เหล็ก, ทุเรียน, ยางพารา และเกลือ เป็นต้น อย่างไรก็ตามขณะนี้มีเอกชนบางรายสนใจที่จะจัดหาพื้นที่เพื่อทำย่านกองเก็บตู้สินค้าคอนเทนเนอร์(CY) ด้วยตนเอง และทำรางรถไฟมาเชื่อมกับทางรถไฟของ รฟท. โดยการดำเนินการดังกล่าวไม่ได้เป็นการเอื้อเอกชน เอกชนสามารถทำได้ ซึ่งมีระเบียบที่ทางเอกชนจะต้องจ่ายค่าเชื่อมรางให้กับรฟท.ด้วย ซึ่งก็จะเป็นอีกหนึ่งรายได้ให้ รฟท.

นายนิรุฒ กล่าวด้วยว่า สำหรับในแง่ของการบำรุงรักษา บทต. นั้น มั่นใจว่า รฟท. มีความพร้อมในด้านนี้ มีทั้งโรงซ่อม และบุคลากร ที่ไม่ต้องลงทุนเพิ่มเติม อย่างไรก็ตามการจัดซื้อ บทต. นั้น ไม่ใช่เป็นการซื้อครั้งแรก จึงทำให้รฟท. มีประสบการณ์ในการดูแลบำรุงรักษาอยู่แล้ว และสเปคของ บทต. ที่ รฟท. ได้เคยจัดซื้อมาในช่วงที่ผ่านมานั้น มีการต้องเข้าซ่อมบำรุงน้อยมาก ดังนั้นปัญหาจึงไม่ได้อยู่ที่การซ่อมบำรุงดูแลรักษา แต่อยู่ที่การตอบสนองนโยบายรัฐเรื่องการขนส่งสินค้า ซึ่งไม่เพียงขนส่งในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก(อีอีซี) แต่ต้องเชื่อมไปยังมาเลเซีย และจีนด้วย.