เมื่อวันที่ 20 พ.ค. ผู้สื่อข่าวรายงานจากพรรคเพื่อไทย (พท.) ถึงการประสานงานจัดตั้งรัฐบาล ว่า ล่าสุดตัวแทนพรรคก้าวไกล เริ่มประสานเกี่ยวกับโควตารัฐมนตรีอย่างไม่เป็นทางการ มายังแกนนำพรรค พท. บางส่วนว่า พรรคก้าวไกลขอโควตารัฐมนตรีที่ยึดโยงกับนโยบายพรรค ซึ่งจะเป็นกระทรวงหลักแทบทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นกระทรวงกลาโหม กระทรวงมหาดไทย กระทรวงการคลัง กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ทำให้แกนนำพรรค พท. ถึงกับกลืนไม่เข้าคายไม่ออก เนื่องจากตามหลักการ ต้องแบ่งกระทรวงตามจำนวน ส.ส. ซึ่งพรรค พท. ต่างจากพรรคก้าวไกลเพียง 10 เสียง และกระทรวงหลัก กระทรวงรอง ก็ควรเกลี่ยให้ใกล้เคียงกัน ไม่ใช่พรรคใดพรรคหนึ่ง ได้กระทรวงหลักไปเกือบทั้งหมด จนขณะนี้แกนนำพรรค พท. ยังคงสงวนท่าที เพราะไม่อยากให้พรรคก้าวไกล นำเรื่องนี้มาเป็นข้ออ้างว่า พรรค พท. เป็นฝ่ายต่อรองเก้าอี้ จนทำให้การตั้งรัฐบาลล่าช้าออกไป

ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า พรรคก้าวไกลยังแจ้งความประสงค์มาด้วยว่า อยากให้ตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎร เป็นของพรรคก้าวไกล เพราะต้องการคุมเกมในสภา ขณะที่พรรคเพื่อไทยไม่เห็นด้วย เพราะพรรคก้าวไกลได้เป็นประมุขฝ่ายบริหารแล้ว พรรคเพื่อไทยควรได้ตำแหน่งประมุขฝ่ายนิติบัญญัติ อีกทั้งเป็นพรรคร่วมรัฐบาลด้วยกัน ทิศทางขับเคลื่อนงานในสภา ก็ต้องไปในทิศทางเดียวกันอยู่แล้ว อย่างไรก็ตาม แกนนำพรรคเพื่อไทยที่ได้รับการประสาน จะนำเรื่องดังกล่าวเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการบริหารพรรค ก่อนจะมีมติอย่างใดอย่างหนึ่ง โดยหลังจากนี้ กรรมการบริหารพรรคเพื่อไทย จะได้มอบหมายให้นายประเสริฐ จันทรรวงทอง เลขาธิการพรรคเพื่อไทย ทำหน้าที่ประสานในทุกเรื่องกับพรรคก้าวไกลต่อไป

ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า สำหรับเอ็มโอยูเข้าร่วมรัฐบาลนั้น แกนนำพรรคเพื่อไทยพิจารณาเรียบร้อยแล้ว และได้นำเสนอร่างในส่วนของพรรค พท. ไปยังพรรคก้าวไกล ให้เป็นผู้รวบรวมประเด็นกับเอ็มโอยูของพรรคอื่นๆ แล้ว โดยเนื้อหาที่พรรค พท. ปรับปรุงนั้น ยืนยันสนับสนุน นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล เป็นนายกฯ และให้พรรคก้าวไกล เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล ส่วนเนื้อหาอื่น พรรค พท. เขียนในภาพกว้างไม่ลงลึกรายละเอียด เช่น ร่วมกันฟื้นฟูเศรษฐกิจ โดยยึดหลักเพิ่มรายได้ประชาชน การแก้ไขปัญหาของพี่น้องเกษตรกร แก้ไขปัญหา 3 จังหวัดชายแดนใต้ แก้ไขรัฐธรรมนูญโดยกระบวนการตั้ง ส.ส.ร. ที่มาจากประชาชน ส่วนรายละเอียดอื่นที่อยู่ในร่างของพรรคก้าวไกล เช่นเรื่องความเสมอภาคของสิทธิมนุษยชน ประเด็นสมรสเท่าเทียมนั้น พรรคเพื่อไทยมองว่าสอดคล้องกับนโยบายของพรรค พท. แต่ไม่ควรอยู่ในเอ็มโอยู รอไว้ใส่ในคำแถลงนโยบายรัฐบาลต่อรัฐสภาจะดีกว่า ซึ่งบทสรุปของเอ็มโอยู ที่จะเซ็นร่วมกันนั้น ทั้ง 8 พรรค จะหารืออีกครั้งเช้าวันที่ 22 พ.ค. นี้ ก่อนแถลงข่าวร่วมกันในช่วงบ่าย.