เมื่อวันที่ 23 พ.ค. ที่รัฐสภา นายกิตติศักดิ์ รัตนวราหะ ส.ว. กล่าวถึงจุดยืนการโหวตนายกรัฐมนตรีว่า คำไหนคำนั้น โดยเหตุผลที่ไม่เลือก นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ และพรรคก้าวไกล เพราะมีการแก้ไขมาตรา 112 ซึ่งตรงนี้จะทำให้เกิดความขัดแย้ง และนำมาซึ่งการทะเลาะเบาะแว้ง และเข่นฆ่าคนไทยด้วยกัน จึงไม่เห็นสมควรที่จะให้นายพิธาเป็นนายกรัฐมนตรี

เมื่อถามว่า วันนี้มีกลุ่มผู้ชุมนุมมากดดันให้ ส.ว. โหวตนายพิธา เป็นนายกฯ กังวลหรือไม่ นายกิตติศักดิ์ กล่าวว่า ทราบเบื้องต้นว่ากลุ่มที่มาชุมนุมวันนี้มาด้วยความมิตรไมตรี เจตนาเพื่อมาแจ้งให้ ส.ว.รับทราบว่าต้องการอะไร ตนเห็นว่าเป็นสีสันของประชาธิปไตยในการที่เห็นต่างหรือผู้ที่มาประท้วง ซึ่งไม่ใช่ปัญหา โดยตนเห็นว่า ถ้าหากมีการพูดจากันดีๆ ก็ไม่ใช่ปัญหา แต่ถ้าจะมาข่มขู่กดดันนั้นไม่มีผล

เมื่อถามว่า เรื่องการแก้ไขมาตรา 112 ที่ไม่ได้ใส่ลงไปใน MOU ก็ยังรับไม่ได้ใช่หรือไม่ นายกิตติศักดิ์ กล่าวว่า แล้วมีความจำเป็นอย่างไร ตนฟังในการแถลงวานนี้ (22 พ.ค.) นายพิธายืนยันแม้ไม่ได้อยู่ใน MOU แต่จะยื่นเสนอเข้ามาในสภา ซึ่งตนเห็นว่า เป็นปัญหาของนายพิธา และพรรคก้าวไกล เพราะไปหาเสียง ดังนั้น ไม่ทำก็ไม่ได้ ไม่แก้ก็ไม่ได้เดี๋ยวไม่แก้ เดี๋ยวไม่มีกู” ฉะนั้นสร้างปัญหาเองก็ต้องไปแก้ปัญหาเอง เราเป็นฝ่ายนิติบัญญัติก็ต้องกลั่นกรอง ฉะนั้นเราต้องพิจารณาคนที่มานำพวกเรา ส่วนตัวยืนยันล้านเปอร์เซ็นต์ กิตติศักดิ์ไม่โหวตให้นายพิธา

“คุณจะด่าใคร ด่าลุงด่าป้าด่าน้าด่าอา ผมไม่ว่า แต่ถ้าเลยขอบเขตไปแตะเบื้องสูง กิตติศักดิ์ไม่ยอมครับ” นายกิตติศักดิ์ กล่าว

เมื่อถามว่ามี ส.ว.หลายคนหรือไม่ที่คิดแบบนี้ นายกิตติศักดิ์ กล่าวว่า ตอนนี้ ส.ว. แบ่งเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มแรกคือ สนับสนุนนายพิธา ตามระบบกลไกของประชาธิปไตย อีกกลุ่มคืองดออกเสียง ซึ่งทั้งสองกลุ่มวัดได้ว่างดออกเสียงมากกว่า

เมื่อถามว่า กลุ่มที่งดออกเสียงเกิน 150 เสียงหรือไม่ นายกิตติศักดิ์ ระบุว่า ไม่บอกตัวเลขดีกว่า

เมื่อถามว่า กลุ่มที่ไม่โหวตให้กับนายพิธามีจำนวนเท่าไร นายกิตติศักดิ์ กล่าวว่า ไม่มี เมื่อก่อนนี้ จะมีเห็นชอบ ไม่เห็นชอบ และงดออกเสียง แต่ปัจจุบันเหลือแค่สนับสนุนนายพิธา และงดออกเสียง

ทางด้าน นายวันชัย สอนศิริ ส.ว. กล่าวถึงแนวโน้มของ ส.ว. ในการโหวตนายพิธาว่า ต้องยอมรับว่ายังมีเวลาเกือบอีก 2 เดือน ดังนั้นการหารือกับ ส.ว. อย่างเป็นทางการยังไม่มี แต่มีการแลกพูดคุย และปรึกษาหารือกัน และยังไม่ถึงขนาดตัดสินใจไปในแนวทางใดชัดเจน ดังนั้นขอเรียนว่าจากการที่ตนติดตามและปรึกษาหารือในหลายกลุ่มนั้น สรุปแนวทางได้ 3 แนวทางคือ กลุ่มที่ 1 เป็น ส.ว.ที่ตัดสินใจแล้วว่าจะเลือกหรือไม่เลือกตามที่ปรากฏเป็นข่าวไปแล้ว ซึ่งมีจำนวนหนึ่ง แต่ไม่มากนัก กลุ่มที่ 2 เป็นกลุ่มที่ยังไม่ได้ตัดสินใจ โดยบอกว่าขอรอเวลาก่อน และกลุ่มที่ 3 อยู่ในระหว่างการพิจารณา และจะไปตัดสินใจในวันโหวต

“กลุ่มที่ 2 และกลุ่มที่ 3 ถือว่ามีจำนวนมาก เขาคงดูสถานการณ์ ดูเหตุการณ์ แล้วค่อยตัดสินใจเพราะหากตัดสินใจในวันนี้ ไม่แน่ใจว่าสถานการณ์ต่างๆ จะเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างไรหรือไม่ เขาจึงสงวนท่าที แล้วพิจารณาสถานการณ์ไปเรื่อยๆ แล้วไปตัดสินใจในวันโหวตเลย”

นายวันชัย กล่าวว่า แนวทางเท่าที่ดูมา คือ มีการโหวตว่าจะเลือกหรือไม่เลือกกับอีกแนวทางหนึ่งคือการงดออกเสียง ก็อาจจะเป็นไปได้ เชื่อว่าแนวทางในการโหวตเลือกนายกฯ จะมี 3 แนวทางดังกล่าว ส่วนแนวทางไหนจะมากหรือน้อยกว่ากัน ยังไม่สามารถบอกได้ แต่เชื่อเหลือเกินว่า ส.ว. มีการปรึกษาหารือกันตลอด และบอกว่าการตัดสินใจครั้งนี้ มีแนวทางวิธีการที่จะโหวต เพื่อประเทศชาติและประชาชนเป็นสำคัญ และยืนยันว่าจะไม่ทำให้พี่น้องประชาชนผิดหวังแน่นอน

เมื่อถามว่าใน 3 กลุ่มดังกล่าว นายวันชัย อยู่กลุ่มไหน นายวันชัย กล่าวว่า ตนตัดสินใจว่าตั้งแต่ต้นก่อนการเลือกตั้ง จนกระทั่งวันนี้ว่าโหวตให้คนรวมเสียงข้างมาก แล้วเขาเสนอใครเป็นนายกฯ และตนก็โหวตให้กับคนนั้น ซึ่งเป็นจุดยืนของตนมาตั้งแต่ต้นและไม่เปลี่ยนแปลง

เมื่อถามว่าใน MOU ร่วมรัฐบาลไม่มีเรื่องของมาตรา 112 จะเป็นเงื่อนไขที่ทำให้ ส.ว. เลือกนายพิธาหรือไม่ นายวันชัย กล่าวว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องของ ส.ว. แต่ละคน ตนพยายามที่จะแถลงข่าวในครั้งนี้ด้วยความระมัดระวัง เพราะ ส.ว. แต่ละคน ท่านบอกว่าเป็นสิทธิของตัวท่าน เพราะฉะนั้นใครจะพูดหหรือแสดงความคิดเห็นก็เป็นสิทธิแต่ละคน และยังเป็นเห็นเขานำเรื่องนี้มาพูดคุยกัน แต่ในส่วนตัวตนเห็น MOU แล้ว รู้สึกเฉยๆ ไม่ได้ติดใจอะไร และคิดว่าประเด็นเหล่านี้ยังอีกยาวไกล ที่จะนำมาพิจารณาและมีระยะเวลาในการพิจารณาอีกมาก ส่วน ส.ว. ท่านใดจะตัดสินใจอย่างไร จะให้ความเห็นต่อประเด็นนี้อย่างไรตนคิดว่าเป็นสิทธิของแต่ละคน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในวันเดียวกันนี้ที่รัฐสภา มีการประชุมวุฒิสภา (ส.ว.) สมัยวิสามัญ ที่มี นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภาเป็นประธานการประชุม โดยที่ประชุมได้พิจารณาเรื่องด่วนให้ความเห็นชอบบุคคลผู้ได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งกรรมการ ป.ป.ช. ลงมติให้ความเห็นชอบหรือไม่ให้ความเห็นชอบ นายสถาพร วิสาพรหม รองประธานศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ โดยใช้บัตรออกเสียงลงคะแนน และเป็นการลงคะแนนลับ หลังจากที่ กมธ. เพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบประวัติ ความประพฤติ และพฤติกรรมทางจริยธรรม ที่มีพล.อ.อู้ด เบื้องบน ส.ว. เป็นประธาน กมธ. แล้วเสร็จ

ก่อนการประชุมเป็นการลับ นายประพันธ์ุ คูณมี ส.ว. ฐานะ กมธ. ตรวจสอบประวัติ ได้นำเสนอรายงานช่วงหนึ่งว่า การตรวจสอบประวัติ ได้รับข้อร้องเรียนเกี่ยวกับคุณสมบัติของนายสถาพร ที่ไม่เป็นไปตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยคณะกรรมการ ป.ป.ช. มาตรา 9 (1) ที่กำหนดให้ต้องรับราชการหรือเคยรับราชการในตำแหน่งไม่ต่ำกว่าอธิบดีผู้พิพากษาไม่น้อยกว่า 5 ปี ปัจจุบันนายสถาพรรองประธานศาลอุทธณ์คดีชำนัญพิเศษ และก่อนหน้านั้นผู้พิพากษาหัวหน้าคณะศาลอุทธรณ์ในคดีชำนัญพิเศษ ไม่เคยดำรงตำแหน่งอธิบดีผู้พิพากษาศาลใดมาก่อน ดังนั้นไม่มีคุณสมบัติตามกฎหมาย ทั้งนี้ ข้อร้องเรียนดังกล่าวเป็นจดหมายสนเท่ห์ ลงชื่อ ผู้ช่วยผู้พิพากษารุ่นที่ 29 รุ่นเดียวกับนายสถาพร

นายประพันธ์ุ กล่าวว่า หนังสือร้องเรียนระบุด้วยว่าการถืออัตราเงินเดือนเท่ากันเป็นเกณฑ์เทียบไม่มีกฎหมายใดให้ทำได้ จะทำให้ผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์เป็นตำแหน่งเทียบเท่าอธิบดีผู้พิพากษาศาลชั้นต้น และมีคำกล่าวอ้างเป็นหนังสือของศาลยุติธรรม ศย.003/113 เมื่อ 23 พ.ย. 65 กรรมการตุลาการศาลยุติธรรม (ก.ต.)​ ที่มีหน้าที่รับผิดชอบในการแต่งตั้งโยกย้ายและลงโทษทางวินัยมีมติยืนยัน เมื่อ 21 มี.ค. 65 ตำแหน่งผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลอุทธรณ์ และผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ ไม่ใช่ตำแหน่งเทียบเท่าอธิบดีผู้พิพากษาขึ้นไป ตามประกาศของ ก.ต. ไม่ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินต่อ ป.ป.ช. หากตีความว่า 2 ตำแหน่งเทียบเท่ากับอธิบดีผู้พิพากษาแล้ว สิทธิสมัครตามรัฐธรรมนูญ จะเข้าตามมาตรา 9 (1) แต่จะมีประเด็นที่ไม่มีมาตรฐานต่อการยื่นบัญชีทรัพย์สิน

“กมธ.ส่วนใหญ่มีมติว่าการวินิจฉัยของกรรมการสรรหา ผูกพันเฉพาะผู้สมัครและกรรมการ ไม่มีผลผูกพันต่อ ส.ว. ที่จะให้ความเห็นชอบ ตามหนังสือร้องเรียนปัญหาคุณสมบัติของนายสถาพร หลายฉบับ มีความเห็นของ นายพิสิษฐ์ ลี้อาธรรม สมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ที่เสนอรายละเอียดกับคุณสมบัติของนายสถาพรมีความเห็นว่าขาดคุณสมบัติเช่นกัน” นายประพันธุ์ กล่าว

ส่วนกรณีความเห็นต่างที่เกิดขึ้นทาง กมธ. ตรวจสอบประวัติได้ทำเรื่องสอบถามไปยังคณะกรรมการสรรหาที่ประกอบด้วย ประธานศาลฏีกา ประธานสภา และผู้นำฝ่ายค้าน หรือไม่ เพราะก่อนหน้านี้เคยมีกรณีที่มีความเห็นต่างก่อนนำรายชื่อขึ้นทูลเกล้าฯ ได้ทำหนังสือเพื่อสอบถามกัน อย่างไรก็ตาม ในความเห็นของ ส.ว. ที่อภิปรายในช่วงของการพิจารณานั้นได้ตั้งประเด็นเช่นกันว่าก่อนการสรุปรายงานตรวจสอบของ กมธ. ได้สอบถามไปยังคณะกรรมการสรรหาก่อนหรือไม่ ซึ่งก่อน กมธ. จะให้คำตอบ นายพรเพชร ได้สั่งให้ที่ประชุมวุฒิสภาประชุมลับ.