จากกรณีการนำเสนอข่าว สาวจีนกลับมาถึงบ้านหลังไปฉลองวันเกิดเพื่อนที่ร้านหม้อไฟ แล้วรู้สึกไม่ค่อยสบายลำคอ แต่ไม่ได้สนใจอะไรเพราะคิดว่าหม้อไฟ ร้อนและเผ็ดมาก กระทั่งตอนเช้าเธอรู้สึกเจ็บคอ หายใจไม่ค่อยคล่อง กินยาแก้อักเสบไปทำงาน ช่วงเริ่มงานมีอาการหนาวสั่นหายใจไม่ออก จึงขอลาไปโรงพยาบาล ถึงเพียง 10 นาที ก็ล้มลงหัวใจหยุดเต้น ความเห็นแพทย์ ลิ้นปี่อักเสบเฉียบพลันอาจทำให้เกิดอาการบวมน้ำที่ฝาปิดกล่องเสียง และหากไม่ได้รับการรักษาทันเวลา ทำให้หายใจไม่ออกในเวลาอันสั้น แพทย์ยังเตือนด้วยว่าหลายคนชอบทานอาหารที่มีอุณหภูมิสูงและรสจัด ทานร้อนจัดและดื่มน้ำเย็นตาม มีส่วนให้เนื้อเยื่ออักเสบ โดยไม่ทันตั้งใจ อาการอื่นๆ แพทย์ยกตัวอย่าง ชายหนุ่มอายุ 21 ปีคนหนึ่ง นอนดึก เล่นวิดีโอเกม ระบบภูมิคุ้มกันของเขาอ่อนแอลง ต่อมาเขาก็ป่วยเป็นโรคฝาปิดกล่องเสียงอักเสบเฉียบพลัน

หม้อไฟสยอง! สาวฉลองวันเกิดเพื่อนซดเผ็ดร้อนตบน้ำเย็นตาม ทำเจ็บคอหายใจขัดดับสลด

ตามข้อมูลที่ได้นำเสนอไปแล้วนั้น เชื่อว่าหลายคนคงอยากรู้จักกับโรค “ฝาปิดกล่องเสียงอักเสบ” กันมากขึ้น เดลินิวส์ ออนไลน์ จึงพามารู้จักกับโรคนี้ให้มากขึ้น โดยอ้างอิงจากข้อมูลจาก คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล โดย รศ.นพ.ปารยะ อาศนะเสน ภาควิชาโสต นาสิก ลาริงซ์วิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล เคยให้ข้อมูลไว้ในเว็บไซต์ เมื่อวันที่ 21 ส.ค. 2560 ระบุว่า “ฝาปิดกล่องเสียงอักเสบเฉียบพลัน เป็นโรคที่มีความรุนแรง และอาจอันตรายถึงชีวิตได้ เนื่องจากสามารถก่อให้เกิดภาวะอุดกั้นของทางเดินหายใจส่วนต้นอย่างเฉียบพลันได้ภายในระยะเวลาอันสั้น เพียงไม่กี่ชั่วโมง และสามารถเกิดขึ้นได้ในผู้ที่มีสุขภาพแข็งแรงดีมาตลอด โดยทั่วไปแล้ว โรคนี้มักเกิดในเด็กเล็กอายุ 2-6 ปี อย่างไรก็ตาม สามารถพบโรคนี้ได้ในทุกอายุ ผู้ป่วยจะมีการอักเสบและบวมของฝาปิดกล่องเสียงและ อวัยวะโดยรอบ

สาเหตุ:
ฝาปิดกล่องเสียงอักเสบเฉียบพลัน เกิดจากการอักเสบติดเชื้อ โดยเชื้อก่อโรคที่สำคัญ และพบบ่อยที่สุดโดยเฉพาะในกลุ่มผู้ป่วยเด็กคือ Hemophilus influenzae type B (HIB) เชื้อ HIB นี้มักมีความรุนแรง ก่อให้เกิดปัญหาการอุดกั้นทางเดินหายใจได้บ่อย และมีระยะเวลาการดำเนินโรคที่สั้น เมื่อเปรียบเทียบกับเชื้อชนิดอื่นๆ นอกจากนี้ HIB ยังสามารถกระจายไปตามกระแสเลือด ก่อให้เกิดโรคอื่นๆ ตามมาได้ เช่น เยื่อหุ้มสมองอักเสบ, ปอดบวม, ข้ออักเสบ เป็นต้น เชื้อก่อโรคชนิดอื่นๆ ที่พบว่าเป็นสาเหตุของโรคนี้ รองลงมาได้แก่ group-A และ non group-A beta-hemolytic Streptococcus, Streptococcus pneumoniae, alpha hemolytic Streptococcus, Staphylococcus aureus, Pseudomonas species, Candida albicans, non-typable Hemophilus influenzae, Hemophilus parainfluenzae, Escherichia coli, Enterobacter cloacae, Pasteurella multocida, Varicella zoster เป็นต้น นอกจากนี้อันตรายจากไอความร้อน ก็สามารถทำให้เกิดการบวม และอักเสบของฝาปิดกล่องเสียงได้เช่นกัน สำหรับผู้ป่วยผู้ใหญ่ พบว่า HIB ยังคงเป็นเชื้อก่อโรคที่สำคัญ แต่พบว่ามีเชื้อก่อโรคชนิดอื่นๆ ในสัดส่วนที่เพิ่มมากขึ้น

อุบัติการณ์:
อุบัติการณ์ของโรคนี้พบได้ค่อนข้างน้อย โดยเฉพาะหลังจากที่มีการเริ่มใช้ HIB vaccine อย่างแพร่หลายในช่วงปี ค.ศ. 1985-1990 หลายๆ ประเทศทางตะวันตกมีอุบัติการณ์ของโรคนี้ในผู้ป่วยเด็กลดลงอย่างชัดเจน ในทางตรงกันข้าม ผู้ป่วยผู้ใหญ่มีอุบัติการณ์ของโรคนี้ในสัดส่วนที่มากขึ้น อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่าอุบัติการณ์ของโรคนี้โดยรวมจะไม่มาก แต่สิ่งสำคัญคือควรให้การวินิจฉัยโรคนี้ได้ตั้งแต่เนิ่นๆ และให้การรักษาที่ถูกต้อง เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดภาวะแทรกซ้อนต่อระบบทางเดินหายใจที่รุนแรงถึงแก่ชีวิต ผู้ชายจะมีโอกาสเป็นโรคนี้ได้สูงกว่าผู้หญิง และสามารถพบโรคนี้ได้ในทุกช่วงเวลาของปี โดยมีอัตราความชุกของโรคไม่แตกต่างกันมากนักในแต่ละฤดูกาล

ลักษณะทางคลินิก:
เมื่อเกิดการอักเสบ ฝาปิดกล่องเสียงจะบวมมากขึ้นเรื่อย ๆ บางครั้งอาจพบตุ่มหนองเล็กๆ เกิดขึ้น ทำให้ฝาปิดกล่องเสียงถูกเบียด และม้วนตัวไปทางด้านหลังและลงล่าง ทางเดินหายใจส่วนช่องทางเข้าของกล่องเสียงจะถูกปิดกั้นไปทีละน้อย เสมหะและน้ำลายบริเวณนี้จะมีปริมาณมากขึ้น เนื่องจากอาการกลืนเจ็บและกลืนลำบากของผู้ป่วย ซึ่งมีส่วนซ้ำเติม ทำให้ทางเดินใจส่วนบนถูกอุดกั้นได้มากขึ้น

ผู้ป่วยจะมีอาการ ไข้, หายใจลำบาก, เจ็บคอ และกลืนลำบาก อาจมีอาการปวดหูได้ การตรวจร่างกายพบว่า ผู้ป่วยมักหายใจเร็ว, หายใจเข้า ออกช่วงสั้นๆ ผู้ป่วยจะพยายามจำกัดกิจกรรมของตัวเอง โดยการนั่งนิ่งๆ โน้มตัวไปด้านหน้า ใช้มือทั้งสองข้างค้ำยันไว้ เชิดคอและยื่นคางไปด้านหน้า เพื่อทำให้ทางเดินหายใจโล่งมากที่สุด พบลักษณะของการอุดกั้นทางเดินหายใจส่วนต้นได้ในระดับความรุนแรงต่างๆ ตั้งแต่น้อย ไปจนถึงมากได้แก่ หายใจเร็ว, หายใจลำบาก, หายใจมีเสียงดัง ผู้ป่วยมีน้ำลายไหลย้อยออกทางมุมปาก กลืนเจ็บ และกลืนลำบาก เสียงพูดจะเปลี่ยนไป มีลักษณะเหมือนอมอะไรอยู่ในลำคอ การตรวจร่างกายบริเวณช่องคอนั้นควรทำด้วยความนุ่นนวล และไม่แนะนำให้ฝืนตรวจ ด้วยความรุนแรงหรือใช้ไม้กดลิ้นโดยเฉพาะในกลุ่มผู้ป่วยเด็ก และผู้ป่วยที่มีการอุดกั้นทางเดินหายใจส่วนต้น เนื่องจากอาจทำให้มีการอุดกั้นทางเดินหายใจมากขึ้น

ผู้ป่วยในแต่ละราย อาจมีระดับความรุนแรง อาการ และอาการแสดงที่แตกต่างกันออกไป ข้อสำคัญคือในกลุ่มผู้ป่วยเด็กที่เป็นโรคนี้ มักมีอาการรุนแรงกว่า และมักมีการอุดกั้นของทางเดินหายใจส่วนต้นได้ง่ายกว่า เมื่อเปรียบเทียบกับผู้ใหญ่ ผู้ป่วยเด็กที่เป็นโรคนี้จึงมีโอกาสเกิด การอุดกั้นทางเดินหายใจ หรือแม้กระทั่งหยุดหายใจได้ตลอดเวลา ในขณะที่ผู้ป่วยที่มีอาการเจ็บคอ และกลืนลำบากเป็นหลัก มักมีการดำเนินของโรคที่ไม่รุนแรง และมีโอกาสเกิดการอุดกั้นทางเดินหายใจส่วนต้นได้น้อยกว่า

การสืบค้นเพิ่มเติม:
การส่งภาพเอกซเรย์ด้านข้างของคอ เพื่อดูเงาของฝาปิดกล่องเสียง มีส่วนช่วยในการวินิจฉัยโรคนี้ แต่ยังเป็นที่ถกเถียงถึงความจำเป็นและความปลอดภัยในการส่งตรวจ เนื่องจากผู้ป่วยมีแนวโน้มที่จะเกิดการอุดกั้นของทางเดินหายใจส่วนต้นได้ตลอดเวลา โดยเฉพาะเมื่อได้รับการกระตุ้นไม่ว่าจะเป็นการตรวจ, การเจาะเลือด, การร้องไห้ของผู้ป่วย รวมทั้งการจัดท่าผู้ป่วยในขณะถ่ายภาพเอกซเรย์ นอกจากนี้ในห้องถ่ายภาพเอกซเรย์ มักไม่มีความพร้อมในการดูแลผู้ป่วย เมื่อเกิดภาวะฉุกเฉินขึ้น การตัดสินใจส่งตรวจภาพเอกซเรย์ด้านข้างของคอ จึงควรพิจารณาเป็นรายๆ ไป โดยแนะนำให้ส่งตรวจ ในกรณีที่การวินิจฉัยโรคยังไม่ชัดเจนและผู้ป่วยยังไม่มีปัญหาทางเดินหายใจอุดกั้น แพทย์ควรเฝ้าดูแลผู้ป่วยอย่างใกล้ชิด ขณะผู้ป่วยถูกส่งไปตรวจ และแพทย์ควรเป็นผู้จัดท่าผู้ป่วยเองด้วยความนุ่มนวล ในขณะที่ส่งผู้ป่วยไปตรวจ แพทย์ควรมีเครื่องมือและอุปกรณ์เตรียมพร้อมในการดูแลทางเดินหายใจ เมื่อเกิดการอุดกั้นทางเดินหายใจขึ้น

การตรวจภาพเอกซเรย์ด้านข้างของคอในผู้ป่วยฝาปิดกล่องเสียงอักเสบเฉียบพลันจะพบเงาของเนื้อเยื่อบริเวณฝาปิดกล่องเสียงที่บวมหนาขึ้น (รูปที่ 2) อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยบางรายอาจมีผลถ่ายภาพเอกซเรย์ ปกติได้

การเจาะเลือดเพื่อเพาะเชื้อ หรือดูความผิดปกติต่างๆ ควรทำหลังจากที่สามารถควบคุมทางเดินหายใจของผู้ป่วยได้อย่างปลอดภัยแล้ว เชื้อส่วนใหญ่จะเป็น HIB หลังจากมีการใช้ HIB vaccine อย่างแพร่หลาย พบว่ามีรายงานของเชื้อตัวนี้ลดลง โดยมีอุบัติการณ์ของเชื้อในกลุ่ม Streptococcus เพิ่มมากขึ้น

การรักษา:
ความร่วมมือกันระหว่าง กุมารแพทย์, โสต ศอ นาสิกแพทย์ และวิสัญญีแพทย์ เป็นสิ่งสำคัญในการดูแลผู้ป่วยฝาปิดกล่องเสียงอักเสบเฉียบพลัน เพื่อให้ได้การวินิจฉัยโรคที่รวดเร็ว และป้องกันไม่ให้เกิดภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงถึงชีวิต ในกลุ่มผู้ป่วยเด็ก ควรหลีกเลี่ยงการรบกวนผู้ป่วยโดยไม่จำเป็น เช่นการเจาะเลือด, การให้น้ำเกลือ, การพันธนาการเด็ก เพื่อการตรวจคอและเอกซเรย์ ควรอนุญาตให้พ่อ แม่หรือผู้ดูแลอยู่ใกล้ชิดผู้ป่วยเพื่อลดความวิตกกังวลของเด็ก ซึ่งอาจทำให้ปัญหาการอุดกั้นทางเดินหายใจแย่ลงได้

1. การควบคุมทางเดินหายใจให้อยู่ในภาวะที่ปลอดภัย เป็นสิ่งสำคัญที่สุดในการดูแลผู้ป่วยโรคนี้ ในอดีตการเจาะหลอดลมคอ (tracheostomy) เคยเป็นวิธีหนึ่งในการควบคุมทางเดินหายใจในผู้ป่วยกลุ่มนี้ จนกระทั่งในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา เทคนิคในการใส่ท่อช่วยหายใจ (endotracheal intubation) มีการพัฒนาและมีความปลอดภัยสูงมากขึ้น ปัจจุบันการใส่ท่อช่วยหายใจ ถือได้ว่าเป็นวิธีมาตรฐานในการดูแลทางเดินหายใจของผู้ป่วยโรคนี้ อย่างไรก็ดี การตัดสินใจใส่ท่อช่วยหายใจก็ยังเป็นที่ถกเถียงกันพอสมควร และแนะนำให้พิจารณาอย่างรอบคอบดังนี้

1.1) ในกรณีที่ผู้ป่วยมาพบแพทย์ด้วยปัญหาการอุดกั้นของทางเดินหายใจอย่างรุนแรง และจำเป็นต้องได้รับการควบคุมทางเดินหายใจอย่างเร่งด่วนทันที เพื่อรักษาชีวิตผู้ป่วยไว้ แพทย์จะพยายามใส่ท่อช่วยหายใจ เป็นลำดับแรกก่อน ในกรณีนี้อาจทำได้ด้วยความยากลำบาก เนื่องจากผู้ป่วยมักมีฝาปิดกล่องเสียงที่บวม เสมหะและน้ำลายปริมาณมากจะทำให้ไม่สามารถเห็นโครงสร้างที่ปกติได้ แพทย์อาจจำเป็นต้องใส่ท่อช่วยหายใจแบบสุ่มไปยังบริเวณที่คาดว่าจะเป็นช่องทางเข้าของกล่องเสียง โดยสังเกตจากฟองอากาศ หากไม่สามารถใส่ท่อช่วยหายใจได้ภายในระยะเวลาอันสั้น และผู้ป่วยมีอาการแย่ลง แพทย์จะทำการเจาะคอทันที

1.2) ในกรณีที่ผู้ป่วยมาพบแพทย์ด้วยอาการที่ไม่รุนแรงเช่น มีอาการกลืนลำบาก หรือเจ็บคอเพียงเล็กน้อย โดยไม่มีปัญหาของการอุดกั้นทางเดินหายใจ แพทย์อาจแนะนำให้ตรวจยืนยันการวินิจฉัยด้วยการส่องกระจกตรวจกล่องเสียง (ถ้าทำได้) หรือส่องกล้องตรวจ ในสถานที่ที่มีอุปกรณ์ และเครื่องมือพร้อมในการควบคุมทางเดินหายใจ เช่นที่ห้องผ่าตัด หรือ ICU และอาจส่งตรวจภาพเอกซเรย์ด้านข้างของคอร่วมด้วย หลังได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นฝาปิดกล่องเสียงอักเสบเฉียบพลันแล้ว หากพบว่าระดับความบวมของฝาปิดกล่องเสียงไม่มาก สามารถใช้วิธีเฝ้าระวัง สังเกตอาการ ร่วมกับการให้ยาต้านจุลชีพที่เหมาะสมได้ ผู้ป่วยในกลุ่มนี้ส่วนใหญ่มักหายจากโรค โดยไม่มีการอุดกั้นของทางเดินหายใจ หรือส่วนน้อย เมื่อเกิดปัญหาขึ้น มักจะมีการดำเนินโรคที่เร็ว และเกิดการอุดกั้นทางเดินหายใจ จนจำเป็นต้องใส่ท่อช่วยหายใจภายใน 12 ชั่วโมงหลังรับไว้สังเกตอาการ

1.3) ในกรณีผู้ป่วยมีอาการก้ำกึ่งอยู่ระหว่างข้อ 1.1) และ 1.2) กล่าวคือมีอาการหายใจลำบาก ตรวจพบ ว่าผู้ป่วยหายใจเร็ว, นั่งนิ่งๆ โน้มตัวไปด้านหน้า, หายใจลำบาก, หายใจมีเสียงดัง, มีน้ำลายไหลย้อยออกทางมุมปาก และอาจมีการดำเนินโรคที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วภายในระยะเวลาสั้นๆ ผู้ป่วยกลุ่มนี้มีแนวโน้มที่จะเกิดการอุดกั้นทางเดินหายใจที่รุนแรงขึ้นได้ตลอดเวลา ถึงแม้ว่าแพทย์จะสามารถใช้วิธีเฝ้าระวัง สังเกตอาการได้ แต่มีอัตราเสี่ยงสูงที่จะเกิดปัญหา และยากที่จะควบคุมทางเดินหายใจได้อย่างปลอดภัยในภายหลัง ดังนั้นการควบคุมทางเดินหายใจด้วยการใส่ท่อช่วยหายใจตั้งแต่แรก จึงเหมาะสมและปลอดภัยกว่า โดยในช่วงแรกแพทย์จะให้ออกซิเจนแก่ผู้ป่วย และรีบนำตัวผู้ป่วยไปยังห้องผ่าตัดโดยเร็ว การส่งผู้ป่วยเพื่อถ่ายภาพเอกซเรย์ในกรณีนี้ไม่สมควรอย่างยิ่ง นอกจากจะไม่เกิดประโยชน์แล้ว อาจทำให้ผู้ป่วยมีอัตราเสี่ยงที่จะเกิดการอุดกั้นทางเดินหายใจมากขึ้น เมื่อถึงห้องผ่าตัดแล้ว วิสัญญีแพทย์จะให้ผู้ป่วยดมแก๊สให้หลับ จากนั้นเมื่อผู้ป่วยหลับลึกขึ้น จึงทำการเปิดเส้นเลือดดำ เพื่อให้น้ำเกลือและยาที่จำเป็นก่อนใส่ท่อช่วยหายใจอย่างปลอดภัย โสต ศอ นาสิกแพทย์มีหน้าที่ต้องเครื่องมือต่างๆ ให้พร้อม เช่น เครื่องมือเจาะคอ เผื่อในกรณีฉุกเฉินซึ่งวิสัญญีแพทย์ไม่สามารถควบคุมทางเดินหายใจได้

  1. การให้ยาต้านจุลชีพที่เหมาะสม โดยให้ยาตามอุบัติการณ์ของเชื้อก่อโรค ยาต้านจุลชีพควรครอบคลุมเชื้อ Hemophilus influenzae และกลุ่ม Streptococcus Ampicillin และ choramphenicol เคยใช้ได้ผลดี แต่เนื่องจากอุบัติการณ์ของเชื้อ Hemophilus influenzae ที่ดื้อยา มีมากขึ้น และ choramphenicol มีผลแทรกซ้อนต่อการทำงานของไขกระดูก ปัจจุบันจึงไม่แนะนำให้ยาต้านจุลชีพทั้งสองชนิดนี้ ปัจจุบันมียาต้านจุลชีพในกลุ่มที่ครอบคลุมเชื้อก่อโรคได้ดีได้แก่ cefuroxime, ceftriaxone, cefotaxime, ampicillin/salbactam โดยในช่วงแรกควรให้ยาต้านจุลชีพทางเส้นเลือดดำก่อน จนกระทั่งผู้ป่วยสามารถถอดท่อช่วยหายใจออกได้ ซึ่งส่วนใหญ่ใช้เวลาประมาณ 48-72 ชั่วโมง จากนั้นจึงเปลี่ยนเป็นยาต้านจุลชีพชนิดรับประทาน และให้ต่อจนครบ 7-10 วัน การให้ยาสเตียรอยด์ ยังเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ และไม่มีหลักฐานหรือการศึกษาใดที่สนับสนุนประโยชน์ของการใช้ยาสเตียรอยด์นี้

ภาวะแทรกซ้อน:
ภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้น ได้แก่ การแพร่กระจายของเชื้อไปตามกระแสเลือดทำให้เกิด เยื่อหุ้มสมองอักเสบ, ปอดบวม, ข้ออักเสบ, หูชั้นกลางอักเสบ เป็นต้น การอุดกั้นทางเดินหายใจที่รุนแรง อาจทำให้ผู้ป่วยหยุดหายใจ เกิดอันตรายต่อระบบประสาทส่วนกลางได้ จากภาวะการขาดออกซิเจน และอาจเกิดภาวะน้ำท่วมปอด หลังจากควบคุมทางเดินหายใจได้ เนื่องจากผู้ป่วยได้รับการแก้ไขการอุดกั้นของทางเดินหายใจอย่างรวดเร็ว นอกจากนี้ยังมีรายงานการเกิด หัวใจวาย, เส้นเลือดดำอุดตัน, ฝีที่หลังช่องคอด้วย

อัตราตายมีรายงานไว้ตั้งแต่ร้อยละ 1.2-2.9 ส่วนใหญ่เกิดจากปัญหาการอุดกั้นของทางเดินหายใจ ซึ่งสามารถป้องกัน และลดอัตราตาย ด้วยการควบคุมทางเดินหายใจอย่างปลอดภัยและถูกต้อง ดังกล่าวมาแล้วข้างต้น

ขอบคุณข้อมูล – ภาพ เว็บไซต์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล